เต้นสไตล์ไหนที่เผาผลาญแคลอรี่ได้มากกว่า?
การเต้นคือหนทางที่ดีในการออกกำลังกาย, เผาผลาญแคลอรี่ และลดน้ำหนัก
นอกจากการลดน้ำหนักแล้วการเต้นยังช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและความอึดของคุณ พัฒนาความยืดหยุ่น ความสมดุล การไหลเวียนเลือด และการนอนหลับ และยังช่วยลดความเครียด ภาวะซึมเศร้า และความเสี่ยงของภาวะเจ็บป่วยเรื้อรัง เช่น เบาหวานหรือโรคหัวใจ ได้อีกด้วย[1]
แคลอรี่จำนวนเท่าไหร่ที่หายไปเมื่อเราเต้น?
การเต้นก็คล้ายกับการออกกำลังกายชนิดอื่น ๆ ที่หากว่าคุณเคลื่อนไหวเร็วเท่าไหร่ก็จะยิ่งเผาผลาญแคลอรี่มากเท่านั้น รวมถึงน้ำหนักที่จะลดลงในลักษณะนี้ด้วยเช่นกัน
อัตราการเผาผลาญแคลอรี่ใน 30 นาที
• บัลเล่ต์ 179 แคลอรี่
• บอลรูม 118 แคลอรี่
• ฮิปฮอป 207 แคลอรี่
• ซัลซ่า 143 แคลอรี่
• สวิง 207 แคลอรี่
• การเต้นแบบคันทรี่เวิสเทิร์นไลน์ 172 แคลอรี่
• แท็ป 164 แคลอรี่
* หมายเหตุ: จำนวนแคลอรี่ที่เผาผลาญคำนวณจากคนที่น้ำหนัก 68 กิโลกรัม ผู้ที่มีน้ำหนักน้อยกว่ามีแนวโน้มที่จะเผาผลาญแคลอรี่น้อยกว่าและคนที่น้ำหนักมากกว่าอาจเผาผลาญได้มากกว่าอัตราด้านบน
ตัวเลือกสำหรับการเต้นและลดน้ำหนัก
คลาสเต้น 30 นาทีสามารถเผาผลาญได้ถึง 130-250 แคลอรี่ เกือบเท่ากับการจ๊อกกิ้ง
ยิมส่วนมากมีคลาสเต้นบริการ นอกจากนั้นยังมีวีดิโอสอนเต้นทางออนไลน์จำนวนมากที่คุณสามารถติดตามเพื่อพิจารณาว่าการเต้นประเภทไหนคือแนวที่ใช่สำหรับคุณ ด้านล่างนี้คือตัวเลือกยอดฮิตบางส่วน พร้อมด้วยประโยชน์และข้อจำกัดเพื่อการพิจารณา:
1. ซุมบ้า
ซุมบ้าคือการเต้นที่เป็นโปรแกรมฟิตเนส โดยทั่วไปแล้วมักเต้นไปกับเพลงละตินหรือเพลงนานาชาติอื่น ๆ ด้วยความที่ซุมบ้านั้นประกอบด้วยจังหวะช้าและเร็วสลับกัน การลงแรงแบบสั้น ๆ แต่หนักหน่วงจะช่วยให้คุณเผาผลาญแคลอรี่ได้มากกว่าการเต้นแบบที่คุณต้องเคลื่อนไหวในจังหวะที่เท่ากันไปตลอดทั้งเพลง ซึ่งจะช่วยให้กล้ามเนื้อของคุณเป็นรูปเป็นร่างและแข็งแรงขึ้น[1]
ข้อดี
• มีโอกาสลดน้ำหนักได้มากกว่า (เผาผลาญ 9.5 แคลอรี่ต่อนาที)
• ลดความรู้สึกเจ็บปวด
• ประโยชน์ทางด้านสังคมจากการออกกำลังกายเป็นกลุ่ม
2. ฮิปฮอป
ฮิปฮอปคือการออกกำลังกายแบบ high-intensity และ high-impact ที่สามารถมีทุกอย่างตั้งแต่เบรกแดนซ์ไปจนถึงท่าเต้นแนวโมเดิร์นแดนซ์เลยก็ได้[1]
ข้อดี
• เผาผลาญแคลอรี่ได้มาก
• กล้ามเนื้อแข็งแรง (โดยเฉพาะขาและกล้ามเนื้อส่วนกลางลำตัว)
• เพิ่มความคล่องตัวและการประสานกันของร่างกาย
ข้อจำกัด
• มีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บสูงจากการเคลื่อนไหวที่ต้องลงแรงกระทบมากซ้ำไปซ้ำมา อย่าลืมหาเวลาพักระหว่างการเต้นด้วยล่ะ!
3. บัลเล่ต์และบาร์
บัลเล่ต์อาจดูเชื่องช้า แต่นี่คือการเต้นแบบคลาสสิคที่ดีที่สุดซึ่งโฟกัสที่การเคลื่อนไหวและเทคนิค บาร์ก็มีลักษณะคล้ายกันแต่ยังผสมรวมโยคะและพิลาทีสเข้ามาในการออกกำลังด้วย[1]
ข้อดี
• เพิ่มความแข็งแรงและทำให้กล้ามเนื้อมีรูปร่างสวยงามมากขึ้น (โดยเฉพาะขาและกล้ามเนื้อส่วนกลางลำตัว)
• ทำให้บุคลิกภาพดีขึ้น
• พัฒนาความยืดหยุ่น ความคล่องตัว และการประสานกันของร่างกาย
4. โพลแดนซ์
โพลแดนซ์ที่คุณต้องยกตัวเองขึ้นกับเสา หมุน และใช้ร่างกายของคุณสร้างรูปร่างที่สวยงาม คือตัวเลือกที่ดีสำหรับการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ[1]
ข้อดี
• เพิ่มความยืดหยุ่น (โดยเฉพาะหลังและขา)
• เพิ่มความแข็งแรงของร่างกายส่วนบน
• เผาผลาญไขมันได้มากกว่าเนื่องจากการเคลื่อนไหวที่เน้นความแข็งแรง
ข้อจำกัด
• ไม่เหมาะกับผู้มีอาการบาดเจ็บที่มือ ข้อมือ ไหล่ เข่า หรือหลัง เนื่องจากการจับและหมุนเป็นพื้นฐานของการเต้นชนิดนี้
• ต้องฝึกกับผู้ฝึกสอนเพื่อป้องกันการบาดเจ็บ
5. การเต้นลีลาศ
การเต้นแบบจับคู่ เช่น วอลซ์ ฟ็อกทร็อต แทงโก้ และซัลซ่าอาจเป็นการเต้นแบบ low-impact แต่ก็เป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิคที่ดีเช่นกัน โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่อาจมีปัญหาเรื่องข้อต่อ[1]
ข้อดี
• เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (โดยเฉพาะส่วนกลางลำตัว, ขา และหลัง)
• ช่วยเรื่องความยืดหยุ่นและการทรงตัว
• ประโยชน์ในด้านคิดวิเคราะห์ เช่น การพัฒนาความจำ เพราะคุณต้องพยายามจำสเต็ปต่างๆ
นอกจากความสนุกสนานแล้ว การเต้นยังช่วยลดน้ำหนักได้อีกด้วย แต่ต้องอย่าลืมเรื่องความปลอดภัย โดยเฉพาะถ้าคุณกำลังเรียนรู้การเต้นแบบใหม่ โปรดอย่าลืม[1]:
• อบอุ่นร่างกายและยืดเส้นก่อนเริ่มเต้น
• ดื่มน้ำและรักษาระดับน้ำในร่างกายระหว่างเต้นและหลังเต้นเสร็จ
• ทำให้มั่นใจว่าการเต้นที่คุณเลือกนั้นเหมาะสมกับลิมิตความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บที่คุณรับได้
• หาวันพักจากการเต้น
• คูลดาวน์หลังออกกำลังกาย
หากเริ่มรู้สึกเจ็บไม่ว่าในส่วนใด หยุด! ทันที! การเต้นอาจดูท้าทายแต่ยังไงก็ไม่ควรทำให้คุณเจ็บตัว
เต้นให้สุดเหวี่ยงไปเลย!
อ้างอิง:
1. Hersh, E., 2020. Can You Lose Weight with Dancing?. [online] Healthline.
Available at: https://www.healthline.com/health/dancing-to-lose-weight [Accessed 1 March 2021].
2. Helmer, J., 2020. Dancing as a Workout. [online] Jumpstart by WebMD.
Available at: https://www.webmd.com/fitness-exercise/a-z/dance-for-exercise [Accessed 1 March 2021].