เลือกภาษา
close
แสงแดดช่วยรักษาโรคผิวหนังอักเสบได้ไหม?
บทความและข้อมูลด้านสุขภาพโดย Pulse

แสงแดดช่วยรักษาโรคผิวหนังอักเสบได้ไหม?

 

 

ดูเหมือนว่าแสงแดดที่ส่องโดนผิวหนังของเราในทุก ๆ วัน มีอะไรซับซ้อนมากกว่าที่คิด โดยเฉพาะรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ตัวการหลักที่ทำให้ผิวหนังของเราเสื่อมสภาพ แถมยังเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งผิวหนังอีกต่างหาก แต่หากมองกลับกันแสงแดดก็มีประโยชน์ไม่น้อย เพราะมอบวิตามินดีให้กับร่างกายของเรา และมีส่วนช่วยในการรักษาโรคผิวหนังเรื้อรังอย่างโรคผิวหนังอักเสบได้ด้วย

 

จริงไหมที่แสงแดดช่วยรักษาโรคผิวหนังอักเสบได้?

ไม่มีอะไรยืนยันได้ว่าแสงแดดจะช่วยรักษาโรคผิวหนังอักเสบได้ 100% แต่ความจริงที่ว่าร่างกายของเราผลิตวิตามินดีได้จากการกระตุ้นของรังสียูวีในแสงแดดนั้นเป็นเรื่องจริง เพราะนั่นคือปัจจัยสำคัญที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง

 

วิตามินดีและผิวหนังสัมพันธ์กันยังไง?

ทันทีที่ผิวหนังของคุณได้รับรังสี UVB จากแสงแดด ก็จะก่อให้เกิดกระบวนการสร้างวิตามินดีจากโคเรสเตอรอลที่อยู่ในเซลล์ผิวหนังของคุณ ในขณะเดียวกัน วิตามินดียังช่วยเพิ่มจำนวนของสารที่เรียกว่า ‘แคธีลิซิดิน’ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ที่เป็นโรคผิวหนังอักเสบจะมีแคธีลิซิดินอยู่ในผิวหนังน้อยกว่าปกติ และมีแนวโน้มว่าอาจทำให้อาการของโรคผิวหนังอักเสบทวีความรุนแรงมากขึ้น

 

ประโยชน์ของแสงแดดที่มีผลต่อผิวหนัง

หลายคนคงเคยได้ยินคุณครูสมัยประถมสอนว่า “เด็ก ๆ คนไหนที่ไม่ค่อยได้โดดแดดจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานแย่ลง” แน่นอนว่าสิ่งที่ครูของพวกเราทุกคนได้พูดมานั้นคือเรื่องจริง เพราะมีงานวิจัยหนึ่งเผยว่า เด็กทารกที่ได้รับแสงยูวีมากขึ้นในช่วงที่มีอายุ 6 เดือนนั้นจะมีอาการของโรคผิวหนังอักเสบลดลงอย่างเห็นได้ชัด

บรรดานักวิทยาศาสตร์ต่างเชื่อกันว่า แสงยูวียังส่งผลต่อผิวหนังในอีกหลาย ๆ เรื่อง โดยเมื่อผิวหนังของเราถูกกระตุ้นด้วยแสงยูวี ก็จะมีสารชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ‘ไนตริกออกไซด์’ ถูกปล่อยเข้าสู่กระแสเลือด ทันทีที่สารชนิดนี้เข้าสู่กระแสเลือด มันก็จะช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ให้ลดอาการบวมและความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นในร่างกาย

เอาล่ะ ฟังดูดีใช่ไหม แต่ว่าเรื่องนี้ก็ยังอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบอยู่ดี แต่นั่นก็เป็นเหตุผลที่พอจะเข้าใจได้ว่า ทำไมแพทย์ผิวหนังบางคนถึงได้แนะนำทางเลือกให้กับผู้ป่วยอย่างวิธีการใช้แสงยูวีรักษาโรคผิวหนังอักเสบ

 

ว่าแต่...ฉันควรโดดแสงแดดนานแค่ไหนนะ?

ความจริงแล้ว คงไม่มีใครบอกได้ ว่าควรออกมารับแสงแดดตอนไหนและใช้ระยะเวลานานเท่าไรถึงจะดีและไม่เพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคมะเร็งผิวหนัง เพราะว่าแสงแดดในแต่ละช่วงของปีมักจะมีความเข้มข้นของรังสียูวีไม่เท่ากัน ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดคือการประเมินจากลักษณะผิวหนังของคุณเอง ถ้าคุณเป็นคนผิวสีเข้มมาตั้งแต่เกิดก็ต้องใช้เวลานานหน่อยกว่าที่จะได้รับวิตามินดีจากแสงแดด และคุณอาจต้องหากิจกรรมที่พบเจอแสงแดดในเวลาที่นานขึ้นนั่นเอง

ต่อจากนี้ คือวิธีที่จะช่วยให้คุณได้วิตามินดีเพียงพอ และยังปลอดภัยจากการสัมผัสกับแดดไปพร้อม ๆ กัน:

เวลา 12.00 น. เป็นช่วงเวลาที่แสงแดดอุดมไปด้วยรังสี UVB มากที่สุด แต่คุณก็ไม่ควรอยู่กลางแจ้งนานเกินไป (แม้ว่าร่างกายของเราจะสร้างวิตามินดีได้มีประสิทธิภาพที่สุดในช่วงนี้ ก็ควรอยู่ในระยะเวลาสั้น ๆ จะดีที่สุด)

ปัจจุบันยังไม่มีระยะเวลากำหนดที่แน่ชัดในการตากแดดเพื่อรับวิตามินดีให้ได้ตามที่ร่างกายต้องการ โดยมีงานวิจัยหลายชิ้นที่พูดไปในทางเดียวกันว่า ควรตากแดดราว ๆ 13-30 นาที เป็นเวลา 3-7 ครั้งต่อสัปดาห์ ซึ่งมีผลการศึกษาหนึ่งได้ระบุว่า คนผิวขาวใช้เวลาเพียง 3-8 นาที ในการรับแสงแดดเพื่อให้กระตุ้นผิวหนังสร้างวิตามินจำนวน 400 IU แต่หากเป็นคนผิวสีเข้มก็อาจใช้ระยะเวลาในการรับแสงแดดที่นานกว่า

ขอให้จำไว้ว่า ทุกครั้งที่คุณอยากได้วิตามินดีจากแสงแดด ห้ามทาครีมกันแดดหรือสวมเสื้อผ้าที่ปกปิดผิวหนังบริเวณหน้า แขน มือ และขา เป็นระยะเวลาสักพักหนึ่ง

หมายเหตุ: คุณไม่จำเป็นต้องตากแดดนานเกินไป เพราะเพียงแค่คุณเดินกลางแดดในตอนเที่ยงสัก 10 นาที นั่นทำให้คุณได้รับวิตามินดีมากกว่า 15 เท่า ตามปริมาณที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันแล้ว

 

ถ้าเกิดผิวหนังดันอักเสบมากขึ้นหลังตากแดดล่ะ?

ข่าวดีคือมีคนจำนวนน้อยกว่า 5% เท่านั้นที่จะแสดงอาการของโรคผิวหนังอักเสบเมื่อถูกแสงแดด ซึ่งเหงื่ออาจเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดอาการระคายเคืองได้ ดังนั้น เมื่อคุณรู้สึกว่าผิวหนังเริ่มแสบและมีอาการระคายเคือง (แม้จะโดนแสงแดดแค่นิดเดียวก็ตาม) แนะนำให้คุณรีบวิ่งเข้าที่ร่มและหาเสื้อผ้าที่มิดชิดมาคลุม พร้อมปิดท้ายด้วยการทาครีมกันแดดตามให้เร็วที่สุด

 

สรุป

หากคุณป่วยเป็นโรคผิวหนังอักเสบหรือโรคทางผิวหนังอื่น ๆ อย่างเช่น โรคสะเก็ดเงิน บางทีการออกไปเดินรับแสงแดดท่ามกลามธรรมชาติ ก็อาจช่วยบรรเทาความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นกับคุณได้ แต่ก็ต้องจำเอาไว้ว่าผิวหนังของแต่ละคน ย่อมมีการตอบสนองที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งคุณควรจะจดโน้ตเอาไว้ทุกครั้งที่ผิวหนังแสดงอาการ หรือลองจดตัวการต่าง ๆ ที่อาจเป็นปัจจัยเสี่ยง เพื่อที่คุณจะได้หาสิ่งที่ใช้สำหรับป้องกันตัวเองไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ

หากคุณมีคำถามมากมายที่คาใจ การเข้าไปปรึกษาแพทย์ก็จะช่วยให้คุณมั่นใจได้มากขึ้น ว่าอะไรคือตัวเลือกที่ดีที่สุดในการรักษาโรคผิวหนังอักเสบให้ทุเลาลง

 

References:

1. Yu, C., Fitzpatrick, A., Cong, D., Yao, C., Yoo, J., Turnbull, A., Schwarze, J., Norval, M., Howie, S., Weller, R. B., & Astier, A. L. (2017). Nitric oxide induces human CLA+CD25+Foxp3+ regulatory T cells with skin-homing potential. The Journal of allergy and clinical immunology, 140(5), 1441–1444.e6. https://doi.org/10.1016/j.jaci.2017.05.023
2. Thyssen, J. P., Zirwas, M. J., & Elias, P. M. (2015). Potential role of reduced environmental UV exposure as a driver of the current epidemic of atopic dermatitis. The Journal of allergy and clinical immunology, 136(5), 1163–1169. https://doi.org/10.1016/j.jaci.2015.06.042
3. Rueter, K., Jones, A. P., Siafarikas, A., Lim, E. M., Bear, N., Noakes, P. S., Prescott, S. L., & Palmer, D. J. (2019). Direct infant UV light exposure is associated with eczema and immune development. The Journal of allergy and clinical immunology, 143(3), 1012–1020.e2. https://doi.org/10.1016/j.jaci.2018.08.037
4. Thyssen, J. P., Zirwas, M. J., & Elias, P. M. (2015). Potential role of reduced environmental UV exposure as a driver of the current epidemic of atopic
5. dermatitis. The Journal of allergy and clinical immunology, 136(5), 1163–1169. https://doi.org/10.1016/j.jaci.2015.06.042
6. Health Canada. (2019). Vitamin D and Calcium: Updated Dietary Reference Intakes. Retrieved from https://www.canada.ca/en/health-canada/services/food-nutrition/healthy-eating/vitamins-minerals/vitamin-calcium-updated-dietary-reference-intakes-nutrition.html
7. Gill, P., & Kalia, S. (2015). Assessment of the feasibility of using sunlight exposure to obtain the recommended level of vitamin D in Canada. CMAJ open, 3(3), E258–E263. doi:10.9778/cmajo.20140037
8. Terushkin, Vitaly et al. (2010) Estimated equivalency of vitamin D production from natural sun exposure versus oral vitamin D supplementation across seasons at two US latitude. Journal of the American Academy of Dermatology, 62(6), 929.e1 – 929.e9
9. Choosing Wisely Canada. Retrieved From https://choosingwiselycanada.org/vitamin-d-tests/