ความรู้เกี่ยวกับตัวเรา: โรคซึมเศร้าส่งผลกระทบกับร่างกายของเราได้ยังไงบ้าง?
เป็นที่รู้กันอย่างแพร่หลายว่าโรคซึมเศร้า เป็นอาการป่วยที่เกี่ยวกับจิตใจของคน ผู้ป่วยจะมีอาการที่ส่งผลต่ออารมณ์และจิตใจหลาย ๆ อย่าง เช่น เศร้าเสียใจ หงุดหงิด หรือสิ้นหวัง แต่รู้หรือไม่ว่า จริง ๆ แล้ว 75% ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีอาการทางร่างกายควบคู่ไปด้วย
ร่างกายอ่อนเพลียและไม่มีแรง
World Health Organization (WHO) ชี้ว่ามากกว่าครึ่งของผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าจะได้รับผลกระทบกับร่างกายของพวกเขาด้วย เช่น อาการอ่อนเพลีย และไม่มีแรง
ความเจ็บปวด
ความเจ็บปวดไม่ว่าจะที่ไหน ๆ ในร่างกายสามารถมีต้นเหตุมาจากโรคซึมเศร้าได้ เช่น อาการปวดหัว ท้อง คอ และหลัง รวมถึงการปวดเมื่อยทั่วไปตามตัว ซึ่งบ่อยครั้ง อาการเจ็บปวดแบบรุนแรงก็เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้า ที่ก่อเป็นภาวะวังวนระหว่างตัวโรค และอาการเจ็บปวดได้
ปัญหาระบบทางเดินอาหาร (กระเพาะอาหาร & ลำไส้)
ผู้ที่มีอาการซึมเศร้ามักจะเกิดอาการคลื่นไส้ ท้องอืดท้องผูก และท้องเสีย
นอนหลับไม่เต็มอิ่ม
โรคซึมเศร้าก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการนอนได้ด้วย เช่น นอนไม่หลับ นอนเยอะเกินไป หรือ รู้สึกอ่อนเพลียแม้ได้รับการนอนที่เพียงพอแล้ว
ความดันสูงและโรคเกี่ยวกับหัวใจ
โรคซึมเศร้าทำให้เกิดความเครียดเรื้อรังซึ่งนำไปสู่ความเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูงได้ ภาระความดันโลหิตสูงจะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะหัวใจขาดเลือด และโรคหลอดเลือดสมองได้
การเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัว
อาการป่วยซึมเศร้าอาจส่งผลต่อการกิน โดยส่วนมากจะมี พฤติกรรมการกินที่มากขึ้นหรือน้อยกว่าเดิม การกินตามอารมณ์ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น หรืออาจสูญเสียความอยากอาหาร เป็นการทำให้น้ำหนักลง
เราต้องตระหนักเอาไว้ว่าแม้โรคซึมเศร้าจะเป็นโรคเกี่ยวกับจิตใจ แต่มันก็ส่งผลกระทบกับร่างกายภายนอกของเราไปด้วย ทั้งยังมีอาการของโรคแตกต่างกันไปในแต่ละคน หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังเผชิญกับอาการต่างๆของโรคซึมเศร้า เช่นรู้สึกเศร้ารู้สึกผิด สิ้นหวัง หรือหงุดหงิด รวมดึงอาการทางร่างกายอื่นๆ ควรเข้าปรึกษาพูดคุยกับแพทย์ถึงสิ่งที่เกิดขึ้น