‘อาบป่า’ ท่ามกลางธรรมชาติ ช่วยเยียวยาจิตใจให้ดีขึ้น !
หากยังไม่มีแพลนทำอะไรในวันว่างๆ ลองหากิจกรรมง่ายๆ อย่างการ ‘อาบป่า’ (Forest Bathing) ท่ามกลางธรรมชาติก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจไม่น้อย เพราะนอกจากคุณจะได้ดื่มด่ำความสวยงามของธรรมชาติแล้ว ความเงียบสงบในผืนป่ายังช่วยผ่อนคลายความเครียดลงได้อย่างน่าทึ่ง
แล้วการอาบป่า (Forest Bathing) คืออะไรกัน? ก่อนอื่นมารู้จักคำว่า Shinrin-yoku ในภาษาญี่ปุ่นแปลตรงตัวว่า “ป่า” และ “อาบ” ซึ่งการอาบป่าได้รับการยอมรับให้เป็นหนึ่งในการรักษาของวิทยาศาสตร์การแพทย์แบบใหม่ เรียกว่า เวชศาสตร์การบำบัดจิตใจด้วยป่า (Forest Medicine)
ซึ่งการบำบัดจิตใจในศาสตร์ Shinrin-yoku คือ การใช้เวลาทำกิจกรรมอยู่ในป่าเงียบๆ ไม่ว่าจะเป็นการเดินนับก้าว นั่งเล่นใต้ต้นไม้ใหญ่ หรือแม้กระทั่งการฟังเสียงต่างๆ จากธรรมชาติรอบตัวคุณด้วยความตั้งใจ กล้วนเป็นกิจกรรมที่ทำได้ง่ายและได้ประโยชน์ต่อการฝึกสมาธิอีกด้วย
นอกจากต้นไม้และผืนป่าสามารถช่วยฟอกอากาศบนโลกนี้ให้บริสุทธิ์มากขึ้นแล้ว ก็ยังเป็นประโยชน์ต่อการเสริมภูมิคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรงขึ้นด้วย เพราะต้นไม้และพืชพันธ์ุต่างๆ สามารถช่วยขจัดสารเคมีที่เป็นพิษต่อรางกายให้ลดน้อยลง เรียกว่า ไฟโตไซด์ (Phytoncides)
เมื่อปี พ.ศ. 2547 มีงานวิจัยสุขภาพเกี่ยวกับผลกระทบของการบำบัดด้วย Forest Medcine ในประเทศญี่ปุ่น รวมถึงอีกหลายประเทศก็ให้การยอมรับการบำบัดด้วยวิธีนี้ ซึ่งเป็นศาสตร์จากธรรมชาติที่สามารถทำให้สุขภาพจิตใจและร่างกายดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
การวิจัยจากกลุ่มทดลองในญี่ปุ่นจำนวน 150 คน พบว่าการมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นหลังจากใช้เวลาอยู่ในป่าเพียงแค่ 2 ชั่วโมง ดังนี้:
-
ความดันเลือดลดต่ำลง
-
การตอบสนองของการต่อสู้หรือความตื่นตัวทางร่างกายลดลง (ระบบประสาทซิมพาเทติก)
-
กระตุ้นการตอบสนองของร่างกายให้ผ่อนคลายลง และช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น (ระบบประสาทพาราซิมพาเทติก)
-
ช่วยบำบัดโรคซึมเศร้าให้มีแนวโน้มดีขึ้น
-
ลดระดับฮอร์โมนเครียดตัวหลักของร่างกาย (Cortisol) ลงได้
-
เซลล์นักฆ่าตามธรรมชาติ (Natural Killer Cell) ในร่างกายเพิ่มขึ้น (เซลล์สำคัญที่ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันของร่างกายและป้องกันมะเร็ง)
แม้ว่า Forest Medicine ยังไม่เป็นที่รู้จักในประเทศไทยมากนัก แต่หากคุณลองเปิดใจและลองไปสัมผัสประสบการณ์ใหม่นี้ด้วยตนเองสัก 2-3 ครั้งในหนึ่งสัปดาห์ ก็อาจพบความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ตั้งแต่ 2-3 ชั่วโมงแรกได้เลยทันที
อย่างไรก็ตาม การอาบป่าดูจะเป็นเรื่องยากสำหรับคนเมือง คุณอาจลองหาพื้นที่สีเขียวอย่างสวนสาธารณะแทนการเข้าป่าได้เช่นกัน รู้แบบนี้แล้วคงถึงเวลาที่คุณจะต้องพักสายตาจากหน้าจอมือถือและกล้องถ่ายรูป แล้วออกไปสัมผัสกับธรรมชาติข้างนอกบ้าง นี่จะทำให้คุณมีร่างกายและจิตใจที่ดีขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อเลยล่ะ
นอกจากนี้ เราขอแนะนำให้คุณลองฝึกการรับรู้ทั้ง 5 ที่จะช่วยให้จิตใจเบิกบานระหว่างการอาบป่า และยังช่วยให้คุณได้ใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น:
เริ่มจากสูดหายใจเข้าลึกๆ 2-3 ครั้ง และถามตัวเองในใจด้วยคำถามเหล่านี้:
-
สิ่งที่คุณเห็นตอนนี้คืออะไร? (เช่น สีและลักษณะของต้นไม้ ท้องฟ้า และกิ่งก้าน)
-
เสียงที่คุณได้ยินตอนนี้คือเสียงอะไร? (เช่น เสียงเล็กๆ ของนก หรือเสียงใบไม้แห้งเสียดสีกัน)
-
สิ่งที่คุณสัมผัสตอนนี้คืออะไร? (เช่น ความรู้สึกตอนสัมผัสอากาศ)
-
คุณรู้สึกอย่างไรกับสิ่งที่กำลังสัมผัสอยู่? (เช่น การสัมผัสใบไม้ ดอกไม้ หรือลำต้นของต้นไม้)
*คุณไม่จำเป็นต้องมีคำตอบให้ทุกคำถามเสมอไป แต่ยังคงถามตนเองต่อไปทีละคำถาม
การอาบป่าหรือพูดง่ายๆ ก็คือ การบำบัดสุขภาพให้ดีขึ้นด้วยการเชื่อมระหว่างร่างกาย จิตใจ และธรรมชาติให้เป็นหนึ่งเดียวกัน อีกทั้งยังทำให้คุณได้ตระหนักถึงความสำคัญของการได้เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง ลองใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ด้วยการสงบจิตใจและร่างกายของคุณในป่าตามคำแนะนำเหล่านี้ดูสิ แล้วคุณจะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในไม่ช้า
อ้างอิง:
1. Furuyashiki, A., Tabuchi, K., Norikoshi, K., Kobayashi, T., & Oriyama, S. (2019). A comparative study of the physiological and psychological effects of forest bathing (Shinrin-yoku) on working age people with and without depressive tendencies. Environmental health and preventive medicine, 24(1), 46. https://doi.org/10.1186/s12199-019-0800-1
2. Li Q. (2019). Effets des forêts et des bains de forêt (shinrin-yoku) sur la santé humaine : une revue de la littérature [Effect of forest bathing (shinrin-yoku) on human health: A review of the literature]. Sante publique (Vandoeuvre-les-Nancy, France), S1(HS), 135–143. https://doi.org/10.3917/spub.190.0135
References:
1. Furuyashiki, A., Tabuchi, K., Norikoshi, K., Kobayashi, T., & Oriyama, S. (2019). A comparative study of the physiological and psychological effects of forest bathing (Shinrin-yoku) on working age people with and without depressive tendencies. Environmental health and preventive medicine, 24(1), 46. https://doi.org/10.1186/s12199-019-0800-1
2. Li Q. (2019). Effets des forêts et des bains de forêt (shinrin-yoku) sur la santé humaine : une revue de la littérature [Effect of forest bathing (shinrin-yoku) on human health: A review of the literature]. Sante publique (Vandoeuvre-les-Nancy, France), S1(HS), 135–143. https://doi.org/10.3917/spub.190.0135