
รู้ทันสาเหตุ ! บรรเทาอาการปวดไมเกรนที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิต
“ไมเกรน” โรคยอดฮิตของวัยทำงาน แม้ว่าส่วนใหญ่จะไม่สามารถบอกสาเหตุที่แน่ชัดได้ แต่ก็มีปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการไมเกรนอยู่รอบตัวเรา ทั้งจากพฤติกรรมการกิน หรือการใช้ชีวิต เช่น การดื่มกาแฟ หรือนอนดึก ที่ทำให้ปวดไมเกรนได้อย่างไม่คาดคิด จนส่งผลต่อการใช้ชีวิต การหาวิธีช่วยบรรเทาอาการ จึงเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาและควรทำความเข้าใจอย่างยิ่ง เพื่อช่วยลดความเสี่ยง ทั้งยังเป็นการช่วยป้องกันภาวะปวดไมเกรนในชีวิตประจำวันอีกด้วย
สำรวจอาการ ! ปวดไมเกรนเป็นแบบไหน ?
หลายคนอาจจะคิดว่าอาการปวดหัวข้างเดียวเป็นอาการปวดไมเกรน แต่ความจริงแล้วไมเกรนมีอาการที่จำเพาะและซับซ้อนกว่านั้น ที่ต้องให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้วินิจฉัย โดยอาการปวดไมเกรนที่พบบ่อยมีดังต่อไปนี้
-
ปวดหัวตุ้บ ๆ ที่ศีรษะข้างใดข้างหนึ่ง หรือบริเวณท้ายทอย
เป็นอาการแรกเริ่มของภาวะปวดไมเกรน ที่ทำให้เกิดความเจ็บปวดในลักษณะรุนแรง บางครั้งอาจรู้สึกเหมือนมีการเต้นตามจังหวะชีพจร โดยอาการปวดอาจคงอยู่เป็นเวลาหลายชั่วโมง หรือแม้กระทั่งหลายวัน ทำให้รู้สึกทรมานและส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
-
คลื่นไส้ อาเจียน
นอกจากอาการปวดหัวแล้ว ไมเกรนมักก่อให้เกิดอาการคลื่นไส้ร่วมด้วย ซึ่งบางรายอาจถึงขั้นอาเจียน ทำให้รู้สึกไม่สบายตัว เสี่ยงต่อการเกิดภาวะขาดน้ำ เนื่องจากอาจทำให้ทานอาหาร หรือดื่มน้ำได้ลำบาก หากมีภาวะรุนแรง
-
ไวต่อแสง เสียง หรือกลิ่นบางชนิด หรือทนต่อแสงจ้าไม่ได้
ผู้ที่เป็นไมเกรนมักมีความไวต่อสิ่งเร้าภายนอกมากกว่าปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับแสงสว่างจ้า เสียงดัง หรือกลิ่นบางอย่าง ที่อาจไปกระตุ้นให้อาการปวดรุนแรงขึ้น จนทำให้รู้สึกทรมานเมื่อต้องอยู่ในที่ที่มีแสงจ้า หรือในสภาพแวดล้อมที่มีเสียงดังรบกวน บางรายอาจถึงขั้นต้องหลบอยู่ในที่มืดและเงียบสงบเพื่อบรรเทาอาการ
สิ่งที่กระตุ้นอาการไมเกรน
หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดอาการไมเกรน คือสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ รอบตัว ซึ่งแต่ละคนอาจมีปัจจัยกระตุ้นที่แตกต่างกันไป มาไขข้อข้องใจกันว่า ไมเกรน เกิดจากอะไร และมีสิ่งใดที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการไมเกรนบ้าง
-
แสงจ้า โดยเฉพาะแสงจากหลอดฟลูออเรสเซนต์ หรือแสงจากหน้าจอคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ
-
อากาศร้อน หรือการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิอย่างฉับพลัน ก็สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการไมเกรนได้ ผู้ที่เป็นไมเกรนจึงควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดจัดเป็นเวลานาน
-
ชาและกาแฟ ที่หลายคนดื่มกันอยู่ทุกวัน ก็อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไมเกรนกำเริบได้เช่นกัน เนื่องจากคาเฟอีนที่อยู่ในชากาแฟจะส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง กระตุ้นให้เกิดการปวดหัวขึ้นได้ทำให้ผู้ที่มีอาการไมเกรนอยู่แล้วอาจรับรู้ถึงสารตัวนี้ได้ไวเป็นพิเศษ
-
แอลกอฮอล์ ผงชูรส แอลกอฮอล์ โดยเฉพาะไวน์แดง สามารถก่อให้เกิดอาการปวดหัวไมเกรนได้ ส่วนผงชูรสซึ่งมักพบในอาหารแปรรูปและอาหารจานด่วน ก็เป็นสารที่อาจกระตุ้นอาการเช่นกัน
-
ความเครียด ไม่ว่าจะเป็นความเครียดเฉียบพลัน หรือความเครียดสะสมระยะยาว ล้วนสามารถกระตุ้นให้เกิดอาการได้
-
พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือนอนน้อย รวมถึงการนอนมากเกินไป ก็สามารถส่งผลกระตุ้นให้เกิดอาการไมเกรนได้
-
อาการออฟฟิศซินโดรม ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อและข้อต่อ โดยเฉพาะบริเวณคอและไหล่ โดยความตึงเครียดของกล้ามเนื้อเหล่านี้ สามารถนำไปสู่อาการปวดหัวและก่อให้เกิดอาการไมเกรนได้
-
ประจำเดือน หรืออาการหลังคลอดบุตร การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย โดยเฉพาะฮอร์โมนเอสโตรเจนในช่วงก่อนหรือระหว่างมีประจำเดือน สามารถส่งผลต่อการเกิดไมเกรนในผู้หญิง นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนอย่างรวดเร็วในช่วงหลังคลอดบุตร ก็อาจกระตุ้นให้เกิดอาการไมเกรนได้เช่นกัน
ปวดไมเกรนบ่อย ๆ อันตรายไหม ?
แม้ว่าไมเกรนจะไม่ส่งผลอันตรายถึงชีวิตโดยตรง แต่การเกิดอาการบ่อยครั้ง หรือมีความรุนแรงมาก อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ได้ ซึ่งความอันตรายของไมเกรนขึ้นอยู่กับความรุนแรงและความถี่ของอาการที่เกิดขึ้น โดยควรพบแพทย์หากว่ามีอาการดังต่อไปนี้
มีอาการรุนแรงอย่างคลื่นไส้ อาเจียน หรือปวดหัวจนทนไม่ไหว
อาการไมเกรนที่รุนแรงสามารถส่งผลกระทบอย่างมากต่อชีวิตประจำวัน อีกทั้งยังอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนได้ ดังนี้
-
คลื่นไส้และอาเจียนรุนแรง โดยนอกจากจะทำให้รู้สึกไม่สบายแล้ว ยังอาจนำไปสู่ภาวะขาดน้ำ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย
-
ปวดหัวรุนแรงจนทนไม่ไหว โดยอาจเป็นอาการบ่งชี้ถึงปัญหาทางระบบประสาทอื่น ๆ ที่ร้ายแรงกว่าไมเกรน เช่น เส้นเลือดในสมองแตก หรือเนื้องอกในสมอง ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างเร่งด่วน
เกิดขึ้นถี่ หรือกินระยะเวลายาวนาน
ความถี่และระยะเวลาของอาการไมเกรนเป็นปัจจัยสำคัญที่บ่งชี้ถึงความรุนแรงของโรค ดังนี้
-
ความถี่สูง โดยหากมีอาการไมเกรนบ่อยกว่า 15 วันต่อเดือน อาจเข้าข่ายเป็นไมเกรนเรื้อรัง ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อคุณภาพชีวิต รวมถึงอาจนำไปสู่การใช้ยาแก้ปวดมากเกินไป
-
ระยะเวลาที่ปวดยาวนาน อาการไมเกรนที่คงอยู่เป็นเวลานานหลายชั่วโมง หรือหลายวัน อาจส่งผลเสียต่อร่างกายและจิตใจ ทำให้เกิดความเครียดสะสม นอนไม่หลับ
แนวทางการดูแลตนเองเบื้องต้น เมื่อปวดไมเกรน
การดูแลตนเองเบื้องต้นเมื่อปวดไมเกรน สามารถช่วยบรรเทาและป้องกันไม่ให้อาการแย่ลงได้ โดยแนวทางการดูแลตนเองจะแตกต่างกันไปตามความรุนแรงของอาการ ดังนี้
กรณีอาการปวดไม่รุนแรง
เมื่อมีอาการปวดไมเกรนที่ไม่รุนแรงมาก สามารถดูแลตนเองเบื้องต้นได้ดังนี้
-
ยาแก้ปวดทั่วไป โดยสามารถทานยาแก้ปวดทั่วไปอย่างพาราเซตามอล แต่ควรอ่านฉลากและปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากอย่างเคร่งครัด
-
ประคบเย็น หรือร้อน ซึ่งการประคบเย็นบริเวณขมับ หรือท้ายทอย อาจช่วยบรรเทาอาการปวดและลดการอักเสบได้ โดยเฉพาะในช่วงแรกที่มีอาการ แต่บางคนอาจรู้สึกดีกว่าเมื่อได้ประคบร้อนบริเวณที่ปวด เนื่องจากการประคบร้อนจะช่วยคลายกล้ามเนื้อที่ตึงเครียด โดยเฉพาะบริเวณคอและไหล่ จึงต้องลองสังเกตดูว่าวิธีไหนที่เหมาะสมและได้ผลดีกว่าสำหรับแต่ละคน
กรณีอาการปวดรุนแรง
ควรรีบไปพบแพทย์ โดยไม่ควรซื้อยาแก้ปวดกลุ่มที่ออกฤทธิ์รุนแรงมาใช้เอง เพราะอาจมีผลข้างเคียง ซึ่งการพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัย จะทำให้สามารถทราบถึงสาเหตุของการปวดหัว เพื่อหาแนวทางในการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
การดูแลป้องกันไม่ให้ปวดไมเกรน
ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะยังไม่มีวิธีรักษาไมเกรนให้หายขาด แต่การป้องกัน โดยการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น สามารถช่วยลดความถี่และความรุนแรงของอาการได้ ดังนี้
หลีกเลี่ยงอาหารบางชนิด
สำหรับผู้ที่เป็นโรคไมเกรน การทานอาหารบางชนิดอาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัวได้ ซึ่งอาจแตกต่างกันในแต่ละบุคคล แต่มีอาหารบางประเภทที่มักพบว่าเป็นสาเหตุของการเกิดปวดไมเกรนบ่อยครั้ง เช่น
-
อาหารที่มีสารไทรามีนสูง เช่น ชีสที่บ่มนาน เนื้อหมักดอง ปลาหมักเกลือ หรือปลารมควัน ถั่วหมัก ไวน์แดง หรือเบียร์บางชนิด เนื่องจากการบริโภคสารไทรามีนในปริมาณมากอาจกระตุ้นให้เกิดอาการไมเกรนได้
-
อาหารที่มีสารไนเตรต-ไนไตรต์ ซึ่งมักพบในเนื้อสัตว์แปรรูป เช่น เบคอน ไส้กรอก และเนื้อรมควัน หากได้รับในปริมาณที่มากเกินไป อาจทำให้หลอดเลือดหดตัวและกระตุ้นให้เกิดไมเกรนได้
-
อาหารที่มีคาเฟอีน ดังที่กล่าวไปว่าคาเฟอีนในกาแฟ ชา โคลา รวมถึงเครื่องดื่มชูกำลัง สามารถส่งผลต่อระบบประสาท อีกทั้งยังอาจทำให้หลอดเลือดหดตัว ซึ่งจะไปกระตุ้นให้เกิดอาการปวดไมเกรน
อาหารที่กระตุ้นอาการไมเกรนอาจแตกต่างกันในแต่ละบุคคล ดังนั้น การสังเกตและบันทึกอาการของตนเองเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะสามารถช่วยระบุอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงได้
ออกกำลังกายเป็นประจำ
การออกกำลังกายเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ ช่วยลดความเครียดและความตึงเครียดในกล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดไมเกรน อีกทั้งการออกกำลังกาย เช่น การเดินเร็ว การว่ายน้ำ หรือโยคะ ยังจะช่วยให้ร่างกายหลั่งสารเอ็นดอร์ฟิน ซึ่งมีฤทธิ์บรรเทาอาการปวด ช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวล อันเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดอาการไมเกรน
นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ
การพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือนอนดึก เป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดไมเกรน การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 7-8 ชั่วโมงต่อคืน จะช่วยให้ร่างกายได้พักผ่อนและซ่อมแซมตัวเอง ทำให้ระบบประสาททำงานได้ดีขึ้น ลดความเสี่ยงในการเกิดไมเกรนลงได้
ทำงานหนัก พักผ่อนไม่เพียงพอ อย่าลืมลดความเสี่ยงด้วยประกันสุขภาพ จากพรูเด็นเชียล ประกันชีวิต ไม่ต้องสำรองจ่าย เมื่อเข้ารักษาในโรงพยาบาลและคลินิกในเครือข่ายกว่า 600 แห่งทั่วประเทศ โดยมีโรงพยาบาลชั้นนำที่สามารถเลือกใช้บริการอย่างครบครัน ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลปิยมหาราชการุณย์ หรือสามารถตรวจสอบรายชื่อโรงพยาบาลในเครือข่าย แล้วมาเลือกแผนประกันที่ตรงกับความเสี่ยงได้เลย !
ข้อมูลอ้างอิง