เลือกภาษา
close
รู้จักกับออทิสติกเทียม

รู้จักกับ “ออทิสติกเทียม” ลูกคุณกำลังเผชิญอยู่หรือเปล่า?

ในยุคที่ทุกอย่างเร่งรีบ โลกที่เจริญก้าวหน้าแบบก้าวกระโดด ทำให้คุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่หันมาใช้เทคโนโลยีในการเลี้ยงดูลูก ไม่ว่าจะปล่อยให้ลูกดูโทรทัศน์ เล่นสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต แม้จะช่วยทุ่นแรงคุณพ่อคุณแม่ อีกทั้งลูก ๆ ยังดูนิ่ง ควบคุมง่าย ไม่งอแง แต่พฤติกรรมแบบนี้หากยิ่งปล่อยไว้นานเกินไป ลูกรักของคุณอาจเสี่ยงเป็น “ออทิสติกเทียม” ได้ จากข้อมูลของโรงพยาบาลเปาโลพบว่าเด็กไทยมีภาวะ “ออทิสติกเทียม” มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งภาวะนี้ไม่ได้เกิดจากพันธุกรรมหรือความผิดปกติของสมอง แต่เกิดจากการเลี้ยงดูไม่เหมาะสม เป็นภาวะที่เด็กขาดการกระตุ้นในการสื่อสาร 2 ทาง (Two-way Communication) ส่งผลให้มีปัญหาด้านการสื่อสาร ปัญหาด้านอารมณ์ สมาธิสั้น และพัฒนาการช้าไม่สมวัย ซึ่งสาเหตุเกิดจากพ่อแม่ปล่อยให้ลูกอยู่กับหน้าจอโทรทัศน์ จดจ่อกับจอสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ตมากเกินไป เด็กรับสารจากสื่อเพียงด้านเดียว ไม่มีคนพูดโต้ตอบกลับในสถานการณ์จริงกับเด็ก เลยทำให้เด็กมีพัฒนาการด้านภาษาล่าช้า พูดช้า หรือมักพูดคนเดียวนั่นเอง

 

เลี้ยงลูกด้วยจอเสี่ยงสมาธิสั้น

ทุกวันนี้การใช้เวลาอยู่กับหน้าจอของเด็ก ๆ กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์จากโรงพยาบาลเมดพาร์คพบว่า การใช้เวลากับหน้าจอมากเกินไป โดยเฉพาะการดูเนื้อหาหรือวิดีโอที่มีภาพเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว สลับไปมา อาจส่งผลกระทบต่อสมาธิและความสามารถในการโฟกัสของเด็กลดลง ซึ่งทำให้ยากต่อการทำกิจกรรมที่ต้องใช้สมาธิและความอดทน เช่น การอ่านหนังสือ หรือการเรียนรู้ในห้องเรียน การศึกษายังพบอีกว่า การที่เด็กใช้เวลาเล่นเกมหรือจดจ่อบนหน้าจอมากเกินไป อาจมีผลกระทบต่อสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ การควบคุมตัวเอง การรับรู้ทางสายตา อาจจะทำให้เด็กพลาดโอกาสในการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่จะช่วยพัฒนาทักษะทางสังคมและการเรียนรู้แก้ไขปัญหา นอกจากนี้แสงสีฟ้าจากหน้าจอยังมีผลต่อการผลิตเมลาโทนินในร่างกาย ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยในการนอนหลับ ทำให้เกิดปัญหาการนอนหลับไม่เพียงพอ ส่งผลกระทบต่อสมาธิและพฤติกรรมของเด็กในระยะยาวด้วย

 

 

ลูกเราเข้าข่ายออทิสติกเทียมหรือไม่ ?

สถาบันออทิสติกแห่งชาติในอังกฤษได้ระบุพฤติกรรมของเด็กที่มีอาการออทิสติกเทียม ซึ่งสังเกตเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นในช่วงอายุ 2 ปี คุณพ่อคุณแม่สามารถเฝ้าดู หรือสังเกตอาการ ว่าลูกมีลักษณะหรือเข้าข่ายออทิสติกเทียมหรือไม่? จาก 6 สัญญาณเหล่านี้

  1. เด็กมีความสนใจกับเด็กวัยเดียวกันน้อย เล่นกับผู้อื่นไม่เป็น

  2. เด็กไม่สบตาเวลาพูด ไม่สนใจเวลาคนมาพูดด้วยตรงๆ ไม่มีความสนใจร่วมกับผู้อื่น

  3. ไม่พูด หรือพูดช้ากว่าเด็กวัยเดียวกัน พูดตามโดยไม่เข้าใจความหมาย

  4. ติดอุปกรณ์สื่อสาร เช่น แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน ติดจอ โดยไม่สนใจกิจกรรมอื่นๆ

  5. ไม่สามารถบอกความต้องการของตัวเองได้ มักแสดงออกด้วยการโวยวายและอาละวาดแทน

  6. ร้องไห้งอแงโดยไม่มีเหตุผล หรือมีพฤติกรรมรุนแรงเวลาไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการ

 

 

ช่วยให้เด็กห่างไกลจากจอ ฝึกสมาธิ และความอดทน

คุณพ่อคุณแม่ต้องหากิจกรรมที่ช่วยดึงความสนใจลูก ๆ ออกจากหน้าจอช่วยพัฒนาสมาธิ ความอดทน และเสริมทักษะต่าง ๆ ทั้งยังอาจจะช่วยต่อยอดความสนใจนั้น ไปสู่อาชีพในฝันของเด็ก ๆ ได้อีกด้วย

  1. การต่อจิ๊กซอว์ หรือการต่อเลโก้: เป็นกิจกรรมที่ต้องใช้สมาธิในการค้นหาและจัดเรียงชิ้นส่วนให้ตรงกับภาพที่กำหนด ช่วยพัฒนาทักษะการมองเห็นและการจับคู่รูปทรงต่างๆ ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ทั้งยังช่วยฝึกให้กล้ามเนื้อมัดเล็กได้ใช้งาน ช่วยฝึกทักษะความแม่นยำ ทักษะการควบคุมมือได้ดี

  2. การอ่านหนังสือ: เป็นกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาสมาธิและจินตนาการ คุณพ่อคุณแม่ปลูกฝังการรักการอ่าน ด้วยการหาหนังสือที่ลูกชื่นชอบ มีส่วนร่วมในการอ่านพร้อมลูก ทำตารางประจำวันให้มีชั่วโมงสำหรับการอ่านโดยเฉพาะ ให้ลูก ๆ สามารถเลือกหนังสือที่เขาอยากอ่านเองได้ จะทำให้ลูกรู้สึกว่าการอ่านเป็นเรื่องสนุกและน่าสนใจ

  3. การวาดรูปและระบายสี: ช่วยพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และทักษะการใช้มือใช้นิ้ว ลูกต้องใช้สมาธิในการวาดและระบายสี ใช้สมาธิในการจดจ่อและความอดทน และยังสร้างความภูมิใจในผลงานของตัวเองได้อีกด้วย

  4. การเล่นเกมกระดาน: หมากฮอส หมากรุก ช่วยฝึกการคิดที่เป็นขั้นเป็นตอน หรือบอร์ดเกมต่าง ๆ ที่ช่วยพัฒนาทักษะการวางแผน และการแก้ไขปัญหา

  5. การทำงานฝีมือ: ชวนลูก ๆ มาทำงานศิลปะจากวัสดุรีไซเคิล เช่น แกนทิชชู่ ไม้ไอศกรีม หรือการทำโมเดลกล่องกระดาษ ประดิษฐ์ของเล่นด้วยของเหลือใช้ ช่วยพัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์ และความอดทน เด็กจะได้เรียนรู้การทำงานอย่างละเอียดและประณีต และสร้างความภูมิใจในผลงานของตัวเอง

  6. การปลูกต้นไม้หรือพาลูก ๆ สำรวจต้นไม้ ดอกไม้ สิ่งแวดล้อมรอบตัว: การปลูกต้นไม้ช่วยฝึกสมาธิ เพราะจะจดจ่อในกระบวนการปลูก และได้เรียนรู้การดูแลรักษา อดทนในการเห็นผลลัพธ์

  7. การเล่นกลางแจ้ง: ไม่ว่าจะเป็นการเล่นในสนาม การปั่นจักรยาน หรือการเล่นที่ต้องใช้การเคลื่อนไหว กิจกรรมประเภทนี้ช่วยพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหว ความอดทน และการมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ได้เรียนรู้กติกาการเล่นกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น ทั้งยังสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวด้วย

 

สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีความกังวลใจหรือสงสัยว่าลูกจะเข้าข่ายออทิสติกเทียมหรือไม่ สามารถเฝ้าดูสังเกตอาการ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวินิจฉัย และสามารถพาลูกเข้ารับการตรวจพัฒนาการกับแพทย์เฉพาะทางเพื่อการรักษาได้ทันท่วงที

 

ข้อมูลอ้างอิง

  1. ออทิสติกเทียม...คืออะไร แท้เทียมอย่างไร? พ่อแม่ควรรู้

  2. ออทิสติก (ASD)