เลือกภาษา
close
ผู้หญิงมีอาการปวดหัวจี๊ด ๆ ที่ขมับทั้งสองข้าง
เคล็ด (ไม่) ลับ น่ารู้ - พรูเด็นเชียล ประกันชีวิต

ปวดหัวจี๊ด ๆ เป็นพัก ๆ คืออะไร ? สัญญาณเตือนโรคร้ายที่ควรรู้

รู้หรือไม่ ? อาการปวดหัวจี๊ด ๆ ที่หลายคนมักเผชิญอยู่บ่อย ๆ ไม่ได้บ่งบอกถึงการเป็นไมเกรนเท่านั้น แต่อาจเป็นสัญญาณของโรคหรืออาการผิดปกติของร่างกายบางประการ ดังนั้น เพื่อให้รู้เท่าทัน เราจะพาไปเจาะลึกกันว่าจริง ๆ แล้วอาการปวดหัวจี๊ด ๆ แบบไหนที่อันตราย และควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว

 

ปวดหัวจี๊ด ๆ เกิดจากอะไร ? ปวดแบบไหน เสี่ยงโรคอะไรบ้าง

  • ปวดหัวจี๊ด ๆ ขมับซ้าย หรือขมับขวา ด้านใดด้านหนึ่ง

อาการปวดที่ขมับข้างซ้ายหรือข้างขวา ข้างใดข้างหนึ่ง อาจเป็นสัญญาณของการ ‘ปวดหัวไมเกรน’ ซึ่งนอกจากอาการปวดที่ขมับแล้ว โรคนี้ยังมาพร้อมกับอาการอื่น ๆ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน และอาจปวดร้าวไปถึงท้ายทอย โดยอาการนี้อาจเกิดขึ้นได้ยาวนานถึง 72 ชั่วโมง และจะยิ่งรุนแรงขึ้นเมื่ออยู่ในที่ที่มีเสียงดังหรือแสงจ้า แต่หากได้นอนพัก อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น

  • ปวดหัวจี๊ด ๆ เหมือนโดนบีบขมับทั้ง 2 ข้าง

อาการปวดเหมือนโดนบีบขมับทั้งสองข้าง และรู้สึกปวดร้าวไปจนถึงเบ้าตา คืออาการปวดหัวที่เกิดจากความเครียด จนทำให้กล้ามเนื้อตึงตัว หากมีอาการนี้เกิดขึ้นเมื่อไหร่ อาจบอกได้ว่าคุณกำลังเครียดอย่างหนัก หรือโหมงานหนักเกินไป

  • ปวดหัวจี๊ด ๆ จุดเดียว ร่วมกับปวดกระบอกตา

อาการปวดหัวข้างเดียว ร่วมกับปวดกระบอกตา จนทำให้ตาแดง น้ำตาไหล คือสัญญาณเตือนของการ ‘ปวดหัวคลัสเตอร์’ ซึ่งเป็นอาการที่รุนแรงกว่าไมเกรน โดยอาการนี้มักเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ แต่ละครั้งอาจกินเวลานานตั้งแต่ 15 นาทีจนถึง 3 ชั่วโมง จนส่งผลกระทบกับการทำกิจกรรมต่าง ๆ

  • ปวดหัวจี๊ด ๆ ช่วงหน้าผาก ร่วมกับอาการคัดจมูก

อาการปวดหัวจี๊ด ๆ ที่เกิดขึ้นช่วงหน้าผาก ไล่ยาวลงมาจนถึงโหนกแก้มและโพรงจมูก ร่วมกับอาการคัดจมูก หายใจติดขัด หรือรับกลิ่นผิดปกติ คืออาการของ ‘โรคไซนัส’ ซึ่งเกิดจากไข้หวัด ภูมิแพ้ หรือการสัมผัสกับสิ่งที่ทำให้โพรงจมูกระคายเคือง

  • ปวดหัวจี๊ด ๆ เหมือนเข็มทิ่ม ปวดเรื้อรังและรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ

อาการปวดหัวเรื้อรัง ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้คลื่นไส้ อาเจียน เห็นภาพเบลอ ไปจนถึงชักเกร็ง ปากเบี้ยว และแขนขาอ่อนแรง คือสัญญาณเตือนของ ‘โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)’ ที่อันตราย ซึ่งต้องรีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

 

ปวดหัวจี๊ด ๆ แบบไหนที่ต้องรีบไปพบแพทย์ ?

  • อาการปวดหัวเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง

  • ปวดหัวเรื้อรัง หรือเป็น ๆ หาย ๆ เป็นระยะเวลานาน

  • ปวดหัวทุกครั้งเมื่อไอ จาม

  • ปวดหัวหลังเกิดอุบัติเหตุ

  • มีอาการผิดปกติเกิดขึ้นในระหว่างที่ปวดหัว เช่น ผื่นขึ้น ตาแดง

  • ตาพร่ามัว เห็นภาพซ้อน เริ่มจำอะไรไม่ได้ และพูดไม่ชัด

 

พนักงานออฟฟิศรู้สึกปวดหัวจี๊ด ๆ ระหว่างทำงาน

 

วิธีบรรเทาอาการปวดหัวเบื้องต้น

สำหรับใครที่เผชิญกับอาการปวดหัวจี๊ด ๆ กวนใจ ที่ถึงแม้จะไม่ใช่การปวดอย่างรุนแรง และไม่ได้มาพร้อมกับอาการแทรกซ้อน แต่เป็นการปวดหัวที่เกิดขึ้นบ่อย จนส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิต ขอแนะนำวิธีง่าย ๆ ในการบรรเทาอาการปวดหัวเบื้องต้น ที่สามารถทำได้ทันที เพื่อช่วยให้อาการดีขึ้น

  • รับประทานยาแก้ปวด

หนึ่งในวิธีแก้อาการปวดหัวเบื้องต้นที่ทำได้ในทันที คือการรับประทานยาแก้ปวดชนิดที่ไม่ใช่สเตอรอยด์ เช่น Naproxen หรือ Ibuprofen เมื่อรับประทานแล้วควรนั่งพักหรือนอนพักในที่เงียบ ๆ ที่ปราศจากแสงจ้า จนกว่าอาการจะดีขึ้น

  • พักสายตาจากหน้าจอ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า อาการปวดหัวคืออาการที่เกิดขึ้นกับคนวัยทำงานบ่อยที่สุด ซึ่งอาจเกิดได้จากความเครียด หรือการเพ่งสายตาไปที่หน้าจอมากเกินไป จนทำให้กล้ามเนื้อเกร็งตัว ดังนั้น หากเริ่มรู้สึกปวดหัวขึ้นมาเมื่อไหร่ ควรพักสายตาจากหน้าจอสักระยะ เพื่อให้อาการปวดหัวจี๊ด ๆ ค่อย ๆ เบาลง

  • ประคบร้อน ประคบเย็น

การประคบร้อน ประคบเย็น คือวิธีที่สามารถรับมือกับอาการปวดไมเกรนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อไหร่ก็ตามที่เริ่มมีอาการปวด ให้ทำการประคบเย็นที่หน้าผาก และประคบร้อนที่ท้ายทอยพร้อม ๆ กัน ครั้งละ 15-20 นาที และทำต่อเนื่องจนกว่าอาการปวดจะทุเลาลง

  • หมั่นออกกำลังกาย

การออกกำลังกาย ไม่ได้เป็นกิจกรรมที่ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ และทำให้ร่างกายแข็งแรงเท่านั้น แต่ยังเป็นวิธีแก้ปวดหัวที่ได้ผลดีอีกด้วย โดยเฉพาะการออกกำลังกายแบบ Aerobic Exercise ซึ่งเป็นการออกกำลังกายที่ร่างกายต้องใช้ออกซิเจนจำนวนมาก เช่น การเดินเร็ว เต้นแอโรบิก หรือว่ายน้ำ เพียงออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน และทำต่อเนื่องอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ อาการปวดหัวที่รบกวนชีวิตประจำวัน จะค่อย ๆ ดีขึ้นจนรู้สึกได้

  • นวดผ่อนคลาย ยืดเส้นสาย

การนวด เป็นอีกหนึ่งวิธีแก้ปวดหัวที่ทำได้ง่าย และช่วยบรรเทาอาการได้เป็นอย่างดี โดยการนวดตั้งแต่ขมับ ต้นคอ และไปจนถึงช่วงไหล่ เพื่อให้กล้ามเนื้อค่อย ๆ คลายตัว จากนั้นร่างกายจะเริ่มผ่อนคลาย และอาการปวดหัวจี๊ด ๆ ก็จะค่อย ๆ ลดลง

  • พักผ่อนให้เพียงพอ

การพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เพียงแต่เป็นวิธีที่ช่วยบรรเทาอาการปวดหัว แต่ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการมีสุขภาพที่ดี เพราะเมื่อเราได้นอนหลับอย่างเต็มที่ ร่างกายของเราจะได้รับการฟื้นฟู ระบบต่าง ๆ ก็จะทำงานได้ตามปกติ ทำให้เราตื่นขึ้นมาอย่างสดชื่น แจ่มใส และสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ โดยไร้ซึ่งอาการปวดหัวมากวนใจ

  • ผ่อนคลายจากความเครียด

ความเครียด ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดอาการปวดหัวจี๊ด ๆ เพราะเมื่อเราเครียด กล้ามเนื้อบริเวณศีรษะและใบหน้าจะเกิดการเกร็งตัว และยังทำให้ระดับออกซิเจนในร่างกายของเราลดลงอีกด้วย ดังนั้น การหาวิธีผ่อนคลายจากความเครียด เช่น การฟังเพลง หรือ การออกไปเดินเล่นในระหว่างวัน จึงเป็นวิธีที่จะช่วยบรรเทาอาการปวดหัวได้เป็นอย่างดี

เพราะอาการปวดหัวจี๊ด ๆ ที่หลายคนมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา แท้จริงแล้วอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคที่แฝงอยู่ การสังเกตสัญญาณเตือน และรีบไปพบแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติ จะช่วยให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที นอกจากนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม ให้เราสามารถรับมือกับความเจ็บป่วยที่ไม่คาดคิด และค่ารักษาพยาบาลที่อาจเกิดขึ้นได้ การเลือกแผนประกันสุขภาพที่เหมาะกับความต้องการจากพรูเด็นเชียล ประกันชีวิต ก็เป็นสิ่งที่จะช่วยให้เราอุ่นใจ ถึงเจ็บป่วยขึ้นมาเมื่อไหร่ ก็ไร้กังวล

ศึกษารายละเอียด เงื่อนไข พร้อมเปรียบเทียบแผนประกันที่ใช่ทางเว็บไซต์ของเราได้เลย

 

ข้อมูลอ้างอิง

  1.  ปวดหัวจี๊ด ๆ อาจไม่ใช่แค่เรื่องเล็ก

  2. ปวดหัวจี๊ดๆ ปวดหัวข้างเดียวแบบนี้บอกโรคอะไรได้บ้าง

  3. ‘ ปวดหัว ’ แบบไหนต้องรีบพบแพทย์