รู้เท่าทันป้องกันได้ !
โรคตับเกิดจากอะไร มีวิธีดูแลอย่างไร ?
ร่างกายของเรามีอวัยวะสำคัญมากมายที่ทำหน้าที่หลากหลาย หนึ่งในนั้นคือ “ตับ” ที่เปรียบเสมือนโรงงานขนาดย่อมที่คอยกรองสารพิษ ผลิตโปรตีน และควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด รวมถึงมีหน้าที่สำคัญอีกมากมาย ทำให้เมื่อตับทำงานผิดปกติ สัญญาณเตือนบางอย่างอาจปรากฏขึ้นโดยที่เราอาจไม่ทันสังเกตเห็น !
ไขคำตอบ โรคตับคืออะไร เกิดจากอะไร ?
โรคตับ คือภาวะที่ตับทำงานผิดปกติ จนส่งผลให้การทำงานของร่างกายรวนไปด้วย เช่น การกำจัดสารพิษ การผลิตโปรตีน การสร้างน้ำดี การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ตับทำงานผิดปกติสามารถเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น
การดื่มแอลกอฮอล์
แอลกอฮอล์เป็นสาเหตุหลักของโรคตับเรื้อรัง โดยเฉพาะโรคตับแข็ง เนื่องจากการดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ จะทำให้ตับต้องทำงานหนักมากกว่าเดิม จนท้ายที่สุดอาจทำให้ตับเสื่อมสภาพและเกิดภาวะอักเสบได้
การติดเชื้อไวรัส
เช่น ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซีและไวรัสตับอักเสบดี ซึ่งสามารถติดต่อสู่ตับ ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังและส่งผลต่อการทำงานของตับได้
ภาวะอ้วน
โดยเฉพาะโรคอ้วนลงพุงซึ่งส่งผลต่อการสะสมของไขมันในตับ นำไปสู่ภาวะไขมันพอกตับ ซึ่งอาจพัฒนาเป็นโรคตับแข็งได้
พฤติกรรมการกิน
โดยเฉพาะการกินอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว น้ำตาล โซเดียมสูง รวมถึงอาหารแปรรูปและอาหารสำเร็จรูป ซึ่งล้วนส่งผลเสียต่อสุขภาพตับโดยตรง
สำรวจอาการโรคตับ ในระยะเริ่มแรกที่ควรเฝ้าระวัง
ในระยะเริ่มต้น โรคตับมักไม่มีอาการที่ชัดเจน แต่หากสังเกตถึงความเปลี่ยนแปลงของร่างกายแล้วพบอาการเหล่านี้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยเพื่อทำการรักษาตั้งแต่แรกเริ่มก็จะดีที่สุด
-
อ่อนเพลีย รู้สึกเหนื่อยล้าแม้จะนอนหลับพักผ่อนเพียงพอ ร่างกายไม่มีแรง ทำกิจวัตรประจำวันได้ลำบาก
-
คลื่นไส้ อาเจียน โดยเฉพาะตอนเช้า หรือหลังกินอาหาร โดยไม่ทราบสาเหตุ รวมถึงอาจมีอาการเบื่ออาหาร ไม่อยากกินอะไร
-
ท้องอืด รู้สึกอึดอัดแน่นท้องหลังกินอาหาร มักเกิดท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย รู้สึกจุกแน่น
-
ภาวะดีซ่าน ซึ่งอาจทำให้มีตาเหลือง ตัวเหลือง ผิวหนังเป็นสีเหลือง
-
ปัสสาวะสีเข้มกว่าปกติ โดยมีสีคล้ายน้ำชา รวมถึงอาจปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะตอนกลางคืน
เลี่ยงได้เลี่ยง ! ค่าตับสูงห้ามกินอะไร
ค่าตับสูง เป็นหนึ่งในสัญญาณเตือนว่าตับกำลังทำงานผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ แต่หนึ่งในสาเหตุหลัก คือพฤติกรรมการกิน เพราะฉะนั้น การเลี่ยงอาหารบางชนิดจึงเป็นการช่วยลดภาระงานของตับได้ อีกทั้งยังจะเป็นการป้องกันเชื้อโรคที่อาจปนเปื้อนมากับอาหาร เช่น แบคทีเรีย เชื้อไวรัสตับอักเสบเอ และเชื้อไวรัสตับอักเสบบีอีกด้วย สำหรับใครที่กังวลว่าหากค่าตับสูงห้ามกินอะไร มีสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง ดังนี้
อาหารที่มีไขมันสูง
ควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภทเนื้อสัตว์ติดมัน หนังสัตว์ อาหารทอด อาหารแปรรูป เนื่องจากเป็นอาหารที่ล้วนมีไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์ในปริมาณมาก ซึ่งเป็นไขมันที่ย่อยสลายได้ยาก ทำให้เกิดการสะสมในตับ นำไปสู่ภาวะไขมันพอกตับ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคตับแข็งในที่สุด
อาหารที่มีโซเดียมสูง
เช่น อาหารแปรรูป อาหารสำเร็จรูป อาหารหมักดอง ซึ่งโซเดียมจะกระตุ้นให้ร่างกายเก็บกักน้ำ ทำให้ไตต้องทำงานหนัก ซึ่งส่งผลต่อการทำงานของตับด้วยเช่นกัน
อาหารทะเลสุก ๆ ดิบ ๆ
เนื่องจากอาหารทะเลบางชนิด โดยเฉพาะหอย ปู กุ้ง อาจมีสารปนเปื้อน เช่น แคดเมียม ปรอท ซึ่งเป็นอันตรายต่อตับ การกินอาหารทะเลที่ไม่สุกดีจึงเสี่ยงต่อการได้รับสารปนเปื้อน ส่งผลให้ค่าตับสูงขึ้นได้
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
แอลกอฮอล์เป็นพิษต่อตับ อีกทั้งยังเป็นสาเหตุหลักของโรคตับเรื้อรัง การดื่มแอลกอฮอล์ แม้ในปริมาณน้อย ก็ส่งผลเสียต่อตับได้เช่นกัน
วิธีดูแลตับ
ดังที่กล่าวไปตั้งแต่ต้นว่า ตับเป็นอวัยวะสำคัญทำหน้าที่กรองสารพิษ ผลิตโปรตีน ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด สร้างน้ำดี ย่อยไขมัน และอีกมากมาย ที่เปรียบเสมือนโรงงานกรองของร่างกาย ดังนั้น การดูแลสุขภาพตับให้แข็งแรง จะช่วยให้ร่างกายสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บ โดยมีวิธีดูแลตับ ดังนี้
ปรับพฤติกรรมการกิน
นอกจากอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงแล้ว การปรับพฤติกรรมการกิน โดยเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้เรื่องอื่น ๆ โดยเฉพาะอาหารที่มีเส้นใยอาหารสูง ประเภทผักใบเขียว ผลไม้ ธัญพืช หรือถั่วหลากชนิด จะช่วยเพิ่มกากใยในระบบทางเดินอาหาร ทำให้สามารถดูดซับสารพิษในลำไส้ ลดภาระงานของตับได้ อีกทั้งยังช่วยให้การขับถ่ายดีขึ้นด้วย
ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
การออกกำลังกายเป็นกิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ให้ร่างกายเผาผลาญไขมันได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งนอกจากจะดีต่อสุขภาพโดยรวมแล้ว ยังจะช่วยให้ไขมันส่วนเกินในตับลดลง ทำให้ตับทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราจึงควรออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที 3-5 วันต่อสัปดาห์ โดยเลือกกิจกรรมที่เหมาะสมกับสภาพร่างกาย เช่น เดินเร็ว ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน เล่นโยคะ เป็นต้น
หลีกเลี่ยงยาและอาหารเสริมบางชนิด
ยาและอาหารเสริมบางชนิดอาจส่งผลต่อตับ เนื่องจากตับเป็นอวัยวะหลักที่ทำหน้าที่เผาผลาญ จึงทำให้ยาที่ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย ถูกส่งไปยังตับเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ซึ่งยาและอาหารเสริมบางชนิด อาจมีสารพิษที่ส่งผลต่อเซลล์ตับ ทำให้เกิดการอักเสบ หรือถูกทำลายได้ในกระบวนการเผาผลาญ จึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนกินยาและอาหารเสริมทุกครั้ง เพื่อป้องกันการเกิดผลข้างเคียง
ตรวจสุขภาพเป็นประจำ
การตรวจสุขภาพเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยให้รู้ว่า เรามีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคตับหรือไม่ ซึ่งหากตรวจพบก็จะสามารถเข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที โดยในการตรวจหาโรคตับนั้นสามารถทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการตรวจเลือดเพื่อหาความเสี่ยง ตรวจอัลตราซาวด์ดูขนาด รูปร่าง และโครงสร้างของตับ เพื่อหาความผิดปกติ โดยควรตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หรือตามคำแนะนำของแพทย์
ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง พร้อมต่อสู้กับโรคภัย เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคร้าย ด้วยการสังเกตอาการและดูแลตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อรักษาอาการให้หายได้อย่างรวดเร็ว สำหรับใครที่ต้องการหลักประกันด้านสุขภาพ ขอแนะนำประกันสุขภาพที่ให้การคุ้มครองครอบคลุมจากพรูเด็นเชียล ประกันชีวิต ที่พร้อมร่วมต่อสู้โรคภัยไปพร้อมกับคุณ ทั้งยังจะมาช่วยแบ่งเบาภาระค่ารักษาพยาบาล โดยไม่ต้องสำรองจ่าย* สามารถเปรียบเทียบแผนประกันสุขภาพที่เหมาะสมได้เลย หรือกรอกข้อมูลในช่องสนทนาเพื่อให้ตัวแทนของเราติดต่อกลับไป
*ประกันสุขภาพ ไม่ต้องสำรองจ่าย ตามเงื่อนไขที่กำหนดกับโรงพยาบาลคู่สัญญา
ข้อมูลอ้างอิง