เลือกภาษา
close
โดนโกงออนไลน์ต้องทำอย่างไรให้ทันท่วงที
เคล็ด (ไม่) ลับ น่ารู้ - พรูเด็นเชียล ประกันชีวิต

เปิดขั้นตอนที่ต้องทำเมื่อโดนมิจฉาชีพหลอกโอนเงิน!

ในยุคดิจิทัล โลกออนไลน์ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่หลายคนใช้ในการติดต่อสื่อสาร ช้อปปิ้ง รวมไปถึงใช้ทำธุรกรรมทางการเงินต่าง ๆ แต่ถึงแม้จะมีประโยชน์มากมาย แต่โลกออนไลน์ก็มี "ภัยร้าย" ที่เราต้องคอยระวังตัวอยู่ด้วยเช่นกัน ซึ่งหากใครได้เคยติดตามข่าวสารกันมาบ้าง คงจะรู้ว่ามีเหล่ามิจฉาชีพคอยจ้องที่จะหาผลประโยชน์จากการหลอกลวงด้วยวิธีต่าง ๆ โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุที่อาจตามไม่ทัน บทความนี้จึงจะช่วยให้คุณรู้เท่าทันภัยจากการโดนโกงออนไลน์ เพื่อป้องกันและแก้ไข พร้อมเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดได้อย่างมีสติ

 

จดไว้เลย! 3 ขั้นตอนที่ต้องทำเมื่อโดนหลอกโอนเงินออนไลน์

1. ติดต่อธนาคารเพื่อระงับการทำธุรกรรม

ขั้นตอนแรกที่สำคัญที่สุดเพื่อป้องกันไม่ให้เงินรั่วไหลออกจากบัญชี คือการติดต่อธนาคารให้เร็วที่สุดเพื่อทำการระงับ หรืออายัดบัญชี โดยตามพ.ร.ก.ป้องกันอาชญากรรมไซเบอร์ที่เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2566 ระบุว่า ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกมิจฉาชีพหลอกลวง สามารถติดต่อแจ้งเหตุภัยทางการเงินจากมิจฉาชีพเพื่อระงับบัญชีได้ทันทีตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งธนาคารจะทำการระงับการทำธุรกรรมชั่วคราวทันที โดยมีระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน

2. รวบรวมหลักฐานให้มากที่สุด

หลังจากทำการระงับธุรกรรมเป็นการชั่วคราวแล้ว  จำเป็นจะต้องรวบรวมหลักฐานให้มากที่สุด เพื่อนำไปดำเนินคดีในขั้นตอนต่อไป โดยแคปเจอร์หน้าจอที่มีข้อมูลทั้งหมดเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็น

  • หน้าเว็บไซต์ที่ขายของ หรือรูปโปรไฟล์ของร้านค้า

  • หลักฐานการพูดคุยที่เห็นชื่อ Account ตั้งแต่การสอบถาม ขั้นตอนการชำระเงิน ไปจนถึงการแจ้งโอนเงิน

  • ชื่อบัญชีที่ทางร้านค้าแจ้งให้โอนเงิน

  • สลิปหลักฐานการโอนเงิน

  • สมุดบัญชีธนาคารที่ใช้โอนเงิน

  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน

  • หลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการแจ้งความในขั้นตอนถัดไป

3. ดำเนินการแจ้งความ

สามารถพิมพ์หลักฐานทั้งหมดใส่กระดาษแล้วนำไปแจ้งความกับตำรวจภายใน 72 ชั่วโมง ที่สถานีตำรวจในพื้นที่ หรือศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยต้องระบุว่าต้องการดำเนินคดีจนถึงที่สุดพร้อมขอให้ตำรวจออกคำสั่งอายัดบัญชีให้ด้วย ไม่ใช่เพียงรอลงบันทึกประจำวัน แต่สำหรับคนที่ไม่มีเวลาก็สามารถทำการแจ้งความออนไลน์เมื่อโดนหลอกโอนเงินได้ทันทีที่รู้ตัว โดยมีขั้นตอนการแจ้งความออนไลน์ ดังนี้

  • เข้าเว็บไซต์ https://thaipoliceonline.go.th/

  • ลงทะเบียนและยืนยันตัวตนด้วยหมายเลขโทรศัพท์หรืออีเมล

  • เลือกประเภทคดี โดยให้เลือก "คดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี"

  • กรอกข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ถูกหลอก เช่น วันที่ เวลา ช่องทางที่ถูกหลอก ข้อมูลของผู้หลอก เงินที่สูญเสีย

  • แนบหลักฐานที่รวบรวมไว้ เช่น สลิปโอนเงิน บทสนทนา ข้อความ รูปภาพ

  • ตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องก่อนกดยืนยัน

  • รอรับเลขรับแจ้งความ Case ID ไว้ติดตามผล

หลังจากทำการแจ้งความแล้วกระบวนการทั้งหมดจะตกไปอยู่ที่การดำเนินการของตำรวจ ซึ่งควรเข้าไปติดตามผลอยู่เสมอ เพราะหากครบ 7 วัน จากวันที่แจ้งระงับบัญชีแล้วยังไม่มีหมายอายัดจากพนักงานสอบสวน ทางธนาคารจะยกเลิกการอายัดธุรกรรมของบัญชี สำหรับเงินที่จะได้คืนนั้นจะขึ้นอยู่กับการดำเนินการของตำรวจ ซึ่งต้องผ่านการตรวจสอบยอดเงินที่โอนไปแล้วว่าถูกถอนไปหรือยัง ซึ่งหากมีการตรวจสอบพบว่า เป็นอาชญากรรมก็จะเข้าสู่กระบวนการต่อไป โดยมิจฉาชีพที่ทำการหลอกโอนเงินจะมีความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 การทุจริตหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริง มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งผู้เสียหายสามารถแจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับคนร้ายได้ โดยคดีจะมีอายุความ 3 เดือน ดังนั้นจึงควรรีบทำการแจ้งความทันทีเมื่อรู้ตัวว่าตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพจากการโดนโกงออนไลน์

 

โดนโกงออนไลน์ต้องทำอย่างไรให้ทันท่วงที

 

วิธีป้องกันกลโกงจากการโดนหลอกโอนเงิน

ตรวจสอบบัญชีปลายทาง

ก่อนจะทำธุรการใด ๆ จำเป็นต้องเปรียบเทียบชื่อบัญชีกับชื่อผู้รับก่อนเสมอ ว่าตรงกันในทุกตัวอักษร โดยระวังบัญชีที่มีชื่อคล้ายคลึงกัน เช่น การเปลี่ยนตัวอักษร การเพิ่มหรือลดวรรณยุกต์ อีกทั้งยังควรนำชื่อไปค้นหาดูก่อนว่ามีประวัติการโกง หรือมีความสุ่มเสี่ยงที่จะเป็นมิจฉาชีพหรือไม่ หากพบความผิดปกติควรระวังตัวและอย่าเพิ่งโอนเงิน

ไม่กดลิงก์มั่ว

ในปัจจุบันมีกลโกงมากมาย ซึ่งอาจมาในรูปแบบคนรู้จัก หรือแม้แต่การอ้างชื่อหน่วยงานรัฐเพื่อให้ดูน่าเชื่อถือ โดยมีข้อความ หรือการกดลิงก์ที่ควรระวังในปัจจุบัน เช่น

  • ข้อความ หรืออีเมลจากบุคคลที่ไม่รู้จัก

  • ลิงก์ในโซเชียลมีเดียที่มาจากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ

  • ลิงก์ที่อ้างว่ามาจากธนาคาร หรือหน่วยงานราชการ

  • ตรวจสอบ URL ของเว็บไซต์ก่อนกรอกข้อมูล

ห้ามเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัว

การป้องกันตัวเองที่ดีที่สุด คือการไม่ปล่อยข้อมูลส่วนตัวให้ใครได้รู้ เช่น รหัสผ่าน OTP ข้อมูลบัตรเครดิต รวมถึงไม่ควรโพสต์ข้อมูลส่วนตัวลงบนโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็น ชื่อ ที่อยู่ หรือเบอร์โทรศัพท์ และควรตั้งรหัสผ่านที่คาดเดายากที่ไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนตัว เพื่อป้องกันการคาดเดา หากทำได้ควรเปลี่ยนรหัสผ่านบ่อย ๆ และไม่ควรใช้รหัสเดียวกันกับทุกแพลตฟอร์ม

เว็บไซต์และแอปพลิเคชันตรวจสอบ

ในปัจจุบันมีการรวบรวมและร้องเรียนเกี่ยวกับมิจฉาชีพมากมาย ทำให้มีแหล่งที่สามารถนำข้อมูลไปตรวจสอบความเสี่ยง ป้องกันการโดนโกงออนไลน์ได้ ดังนี้

  • Blacklistseller เว็บไซต์รวบรวมข้อมูลผู้ขายออนไลน์ที่โกงหรือมีประวัติไม่ดี โดยสามารถค้นหาชื่อผู้ขาย เบอร์โทรศัพท์ เลขบัญชี หรือชื่อสินค้า

  • Chaladohn เว็บไซต์รวบรวมข้อมูลเบอร์โทรศัพท์มิจฉาชีพ ซึ่งสามารถค้นหาเบอร์โทรศัพท์ได้ โดยเว็บไซต์จะแสดงข้อมูลว่าเบอร์โทรศัพท์นั้นเคยถูกแจ้งว่าเป็นมิจฉาชีพหรือไม่

  • Whocalls แอปพลิเคชันที่แสดงข้อมูลเบอร์โทรศัพท์ที่ไม่รู้จักทันทีบนหน้าจอ ทำให้สามารถเลือกรับสายได้ง่ายและสบายใจขึ้น

 

รู้เท่าทันกลโกงในปัจจุบัน วิธีต่างๆที่มิจฉาชีพอาจใช้ในการหลอกให้โอนเงิน

ยิ่งโซเชียลมีเดียมีการใช้งานอย่างกว้างขวางมากเท่าไร ข้อมูลส่วนตัวของเราก็อาจหลุดออกไปได้ง่ายมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งในปัจจุบันเหล่ามิจฉาชีพก็ได้มีการอัปเกรดการหลอกโอนเงินให้ดูน่าเชื่อถือด้วยหลากหลายวิธี เช่น 

หลอกลงทุน

โดยเสนอผลตอบแทนที่สูงเกินจริงผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งอาจมีการแอบอ้างชื่อบุคคล หรือบริษัท ทำให้ดูน่าเชื่อถือ เมื่อเจอเหตุการณ์นี้ควรสอบถามไปยังบริษัทที่ถูกแอบอ้างโดยตรง ว่ามีบุคคลชื่อนี้อยู่ไหม หรือทางบริษัทมีนโยบายลงทุนดังที่ได้รับข้อมูลมาหรือไม่ จากนั้นทำการตรวจสอบข้อมูลบัญชีกับบริษัทให้ละเอียด

แอบอ้างว่ามีคดี

กลลวงในรูปแบบนี้ มักมีการโทรมาแจ้งว่ามีค่าบริการค้างชำระ หรือมีคำสั่งหมายศาล โดยอ้างว่าเป็นตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่รัฐ และทำการข่มขู่ให้โอนเงินเพื่อเคลียร์คดี หากเจอสถานการณ์นี้ให้แจ้งไปว่าจะไปติดต่อกับสำนักงาน หรือที่สถานีตำรวจโดยตรง ไม่ควรรอให้เกิดการโอนสายไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจออนไลน์ เพราะในปัจจุบันมีการทำคลิป AI เสมือนจริง หรือการแต่งตัวให้ดูน่าเชื่อถือคล้ายเป็นตำรวจอยู่ด้วย

ส่งจดหมายเป็นหน่วยงานราชการ

กลโกงล่าสุด คือการส่งจดหมายมาถึงบ้าน โดยแอบอ้างว่าเป็นหน่วยงานรัฐ หรือราชการที่ต้องการสำรวจความพึงพอใจแล้วมี QR Code ให้สแกนข้อมูล โดยมีข้อมูลเหมือนจริงทุกประการ หากเกิดเหตุการณ์นี้ให้โทรศัพท์ หรือส่งข้อความไปสอบถามหน่วยงานดังกล่าวโดยตรง ว่าได้ส่งเอกสารมาให้หรือไม่

 

ถึงแม้ว่าบนโลกออนไลน์ในยุคปัจจุบัน เราจะสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างมากมาย ทั้งการซื้อสินค้าออนไลน์ การทำธุรกรรมทางการเงิน รวมถึงยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการหาลู่ทาง เพื่อสร้างผลตอบแทนในอนาคตก็ยังได้ แต่ทั้งนี้เราก็ต้องใช้สติในการใช้งานอย่างรอบคอบด้วยเช่นกัน สำหรับผู้ที่อยากวางแผนเพื่อความมั่งคงในชีวิต ขอแนะนำการลงทุนกับพรูเด็นเชียลที่มุ่งมั่นปกป้องความมั่งคั่งของคุณ ด้วยกลุ่ม Partner ที่แข็งแกร่งและมีประวัติศาสตร์การบริหารงานมาอันยาวนาน จึงมั่นใจได้ถึงความคุ้มครองที่จะได้รับ ป้องกันความขัดสนที่อาจทำให้ชีวิตสับสนจนโดนกลโกงได้

 

ข้อมูลอ้างอิง

  1. แจ้งความออนไลน์. สืบค้นเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 จาก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ