เลือกภาษา
close
พ่อแม่รับมือยังไงเมื่อถูกถามซ้ำ ๆ
เคล็ด (ไม่) ลับ น่ารู้ - พรูเด็นเชียล ประกันชีวิต

เมื่อลูกเล็กเริ่มพูดเจื้อยแจ้ว พ่อแม่รับมือยังไงเมื่อถูกถามซ้ำๆ

 

เชื่อว่าร้อยทั้งร้อยพ่อแม่ที่มีลูกวัยอนุบาลต้องผ่านจุดนี้ โมเม้นต์ช่วงปีที่ลูกช่างพูดเจื้อยแจ้ว ถามคำถามมากมายเป็นเจ้าหนูจำไม! นั่นอะไร ทำไมยังไม่ถึง ทำไมต้องกินผัก เพราะไรถึงต้องไปโรงเรียน ทำไมลูกยังถามซ้ำ ๆ แม้ว่าเราจะตอบไปแล้ว เราควรทำยังไงดีเมื่อลูกไม่เหนื่อยถาม มาเรียนรู้วิธีรับมือ เมื่อลูกเล็กอยู่ในช่วงชอบทำอะไรซ้ำ ๆ ถามคำถามเดิม ๆ กัน

ที่ลูกชอบถามคำถามซ้ำ ๆ เกิดจากอะไร?

ก่อนอื่นเลยพ่อแม่ต้องเข้าใจก่อนว่าพฤติกรรมการพูดซ้ำ ๆ ถามคำถามซ้ำ ๆ ของเด็กวัยนี้ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะนี่คือสัญญาณที่ถูกต้องว่าลูกมีพัฒนาการตามวัย เมื่อเด็กอายุ 2 – 3 ขวบ จะเริ่มพูดประโยคที่ยาวและชัดเจนขึ้น และเมื่อเข้าสู่วัย 3 – 4 ขวบ เด็กจะเข้าสู่วัยอยากรู้อยากเห็นเต็มที่ จึงไม่แปลกที่ลูกจะถามนู่นถามนี่ตลอดเวลา และอาจถึงขั้นถามทุกอย่างที่เขาเห็นผ่านสายตาเลยด้วยซ้ำ มีการศึกษาหนึ่งบอกไว้ว่า วัน ๆ นึงอาจมีคำถามเกิดขึ้นในสมองของเด็กวัยนี้เป็นล้านคำถาม แต่พวกเขาจะถามออกมาเพียง 73 คำถามต่อวันโดยเฉลี่ย

เพราะสมองของเด็กทำงานเร็วกว่าคำพูด

เราหลายคนอาจจะเคยพูด ๆ อยู่แล้วก็ลืมว่า “เอ๊ะ ตะกี๊จะพูดอะไรต่อนะ” สถานการณ์นี้แหละที่เกิดกับพวกเขาเช่นกัน เด็กอาจจะถามคำถามหนึ่งออกมาแล้วพูดซ้ำอีกหลายครั้ง ระหว่างที่สมองกำลังประมวลความคิดอื่น ๆ ต่อไป

 

 

Don’t พ่อแม่ห้ามทำแบบนี้ เมื่อเจอลูกถามซ้ำ ๆ 

ห้ามตอบส่ง ๆ ตอบสุ่มสี่สุ่มห้า หรือตอบแบบปัดรำคาญให้จบ ๆ ไป:

จำไว้เลยว่าทุกครั้งที่ลูกถาม นั่นคือโอกาสที่เขาจะได้เรียนรู้เรื่องราวบนโลกเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งอย่าง เกิดการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ในทุกคำถาม การที่เราตอบแบบส่ง ๆ ให้จบ ๆ ไป คือการหยุดความคิดและพัฒนาการด้านสมองของลูกในทันที เช่น “แม่ ทำไมนกมันบิน” ห้ามตอบว่า นกก็ต้องบินสิ หรือก็มันเป็นนกไง มันก็แบบนี้แหละ การตอบแบบตัดรำคาญของผู้ใหญ่จะทำให้ลูกไม่ได้เรียนรู้อะไรเลยแม้แต่นิดเดียว

ไม่ดุลูกด้วยคำพูดแนวว่า ถามอยู่นั่นแหละ น่ารำคาญจัง :

เข้าใจว่าผู้ใหญ่หลายคนอาจเริ่มหมดความอดทน เมื่อเจอลูกเซ้าซี้ ทั้ง ๆ ที่เราก็ยุ่งกับงานบางอย่างอยู่ แต่การตอบโต้ลูกด้วยความหงุดหงิดหรือไล่ให้ไปถามคนอื่น เช่น ไปถามยายไป แม่ยุ่งอยู่ จะทำให้เด็กเกิดความรู้สึกว่าการถามกลายเป็นเรื่องที่ผิดในทันที การสงสัยและถามออกมา กลายเป็นเรื่องไม่ดีที่เขาถูกห้ามทำ ทำแบบนี้แล้วแม่โมโห เกิดเป็นทัศนคติด้านลบต่อการเรียนรู้และตั้งคำถาม

 

 

Do’s เมื่อเจอคำถาม เราควรตอบแบบไหน

ตอบคำถามให้ลูกเกิดการเรียนรู้ คิดวิเคราะห์ให้เป็น:

เช่น “แม่ ทำไมนกมันบิน” เราอาจจะตอบโดยใช้เหตุผลที่เด็กเข้าใจได้ง่าย เช่น “เวลาหนูอยากไปตรงโน้น หนูก็เดินไป แต่นกมีปีกเลยบินไปเร็วกว่า” และชวนคิดต่อว่า “แล้วหนูคิดว่านกบินไปไหนบ้าง” เพื่อฝึกให้ลูกคิดวิเคราะห์ หรือถามต่อว่า “มีสัตว์อะไรที่บินได้เหมือนนกอีกไหมคะ ไหนลองบอกหน่อย”  นอกจากนี้ ยังสามารถใช้โอกาสนี้สอนลูกเรื่องสัตว์ปีก สัตว์น้ำ สัตว์บก ฝึกให้ลูกแยกแยะสัตว์แต่ละประเภทให้เป็น “แล้วหนูว่าปลาเป็นสัตว์อะไรคะ” “มีอะไรที่อยู่ในน้ำเหมือนปลาอีกคะ ไหนลองคิดซิ” การถามและกระตุ้นให้ลูกคิดต่อยอดไปเรื่อย ๆ นอกจากจะทำให้พัฒนาการด้านสมองและการคิดวิเคราะห์ของเด็กเกิดได้รวดเร็ว ยังทำให้พ่อแม่ใช้เวลาร่วมกับลูกแบบมีคุณค่าจริง ๆ อีกด้วย

ลองพูดกับเด็กเหมือนว่าเขาคือผู้ใหญ่คนหนึ่ง:

หลายคนคิดว่าคุยกับเด็ก เราต้องพูดแบบเด็ก ๆ ทำเสียงเล็กเสียงน้อยเหมือนเล่านิทาน แต่ความจริงแล้ว การใช้คำพูดที่เหมือนเราพูดกับผู้ใหญ่ จะช่วยให้เด็กเรียนรู้ได้เร็วขึ้น เราอาจใช้คำศัพท์ที่ยากผสมกับคำง่าย ๆ เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้และเข้าใจคำศัพท์ใหม่ ๆ มากขึ้น โดยการซึมซับและเรียนรู้ไปโดยอัตโนมัติ

ไม่ใช่แค่ลูกพูดซ้ำ เราเองก็ควรพูดซ้ำ ๆ ด้วยเช่นกัน:

เพราะหนึ่งในกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาการคือการจดจำเรื่องราวต่าง ๆ การได้ยินอะไรซ้ำ ๆ ในเรื่องที่เป็นความรู้ที่เป็นประโยชน์ เป็นเรื่องที่อยากให้ลูกซึมซับไปเป็นพื้นฐานที่ดีในชีวิต จึงเป็นสิ่งที่พ่อแม่ก็ควรพูดซ้ำ ๆ กับลูกเช่นกัน เช่น การโกหกเป็นสิ่งไม่ดี หรือถ้าอยากปลูกฝังทักษะทางภาษา ถ้าพ่อแม่พูดซ้ำ ๆ กับลูกบ่อย ๆ จะทำให้ลูกมีทักษะทางภาษาที่ดีขึ้นได้มากอย่างรวดเร็ว 

ไม่ต้องรอลูกถาม แต่เราตั้งคำถามลูกอย่างสม่ำเสมอ:

ลองเปลี่ยนจากการเป็นฝ่ายตั้งรับเมื่อลูกถาม เป็นการตั้งคำถามลูกก่อน เด็กจะได้ฝึกคิดหาคำตอบโดยทันที แทนที่จะพูดอะไรไปเรื่อยในทุกสิ่งที่เห็น เมื่อลูกได้ฝึกคิดเป็นมากขึ้น เขาจะสามารถคิดต่อยอดเชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ และเข้าใจโลกได้ง่ายขึ้น ช่วยลดโอกาสที่ลูกเอาแต่พูดถามเจื้อยแจ้วในเรื่องที่ไม่จำเป็นในอนาคตได้อีกด้วย