เลือกภาษา
close
ภาพเนื้องอกบนผิวหนัง
เคล็ด (ไม่) ลับ น่ารู้ - พรูเด็นเชียล ประกันชีวิต

ก้อนมะเร็ง vs เนื้องอก ต่างกันยังไง?

ก้อนเนื้อ เป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากตรวจพบในร่างกาย เพราะถือเป็นความผิดปกติที่อาจนำไปสู่การเกิดโรคร้ายอย่างมะเร็งได้ แต่ก้อนเนื้อที่พบก็อาจไม่ใช่เนื้อร้ายเสมอไป แต่อาจเป็นเนื้องอกธรรมดาที่สามารถรักษาให้หายได้ ในบทความนี้เราจะพาคุณมาหาคำตอบกันว่า ก้อนเนื้อแบบไหนอันตราย พร้อมทั้งเรียนรู้ถึงความแตกต่างของมะเร็งกับเนื้องอก รวมถึงไปรู้จักกับสาเหตุ อาการ วิธีการวินิจฉัย และแนวทางการรักษาโรคมะเร็งและเนื้องอกให้มากขึ้น

 

รู้จักเนื้องอก

เนื้องอก คือ ก้อนเนื้อส่วนเกินที่พบเจอได้ตามร่างกาย สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกส่วนของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นอวัยวะภายใน หรือภายนอก

เนื้องอกเกิดจากอะไร?

เนื้องอกเกิดจากการเจริญเติบโตของเซลล์ที่ผิดปกติ ทำให้เนื้อบริเวณนั้น ๆ มีการขยายตัวที่ผิดแปลกออกไป ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจาก กรรมพันธุ์ การอักเสบ หรือการติดเชื้อ ความเครียด อาหารการกิน หรือการสัมผัสกับสิ่งกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมก็ได้

อาการเนื้องอกเป็นอย่างไร?

อาการของเนื้องอกจะขึ้นอยู่กับชนิด ตำแหน่ง และขนาดของเนื้องอก อาจมีอาการบวมปูดของก้อนเนื้อที่สามารถสังเกตได้ ที่อาจมีอาการปวดร่วมด้วย นอกจากนี้ ยังอาจทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร ซึ่งขึ้นอยู่กับตำแหน่งของเนื้องอกที่ไปกดทับหรือไปขัดขวางการทำงานของร่างกาย จนทำให้เกิดอาการเหนื่อย อ่อนเพลีย และน้ำหนักลดลง

ประเภทของเนื้องอก

เนื้องอกสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ด้วยกันคือ

  1. เนื้องอกธรรมดา (Benign Tumor)

    เนื้องอกธรรมดาที่ไม่ใช่เนื้อร้าย เนื้องอกประเภทนี้เซลล์จะไม่ลุกลามไปยังเนื้อเยื่ออื่น ๆ มักมีการเจริญเติบโตช้า และไม่ส่งผลต่อร่างกายมากนัก ตัวอย่างเนื้องอกธรรมดา เช่น เนื้องอกไขมัน เนื้องอกต่อมน้ำเหลือง

  2. เนื้องอกที่เป็นเนื้อร้าย (Cancerous Tumor)

    เนื้องอกที่เป็นเนื้อร้ายนี้ เป็นเนื้องอกอันตราย โดยเซลล์ของเนื้องอกชนิดนี้จะสามารถลุกลาม หรือแพร่กระจายไปยังเนื้อเยื่อใกล้เคียงและอวัยวะอื่น ๆ ได้ หรืออาจพัฒนาไปเป็นมะเร็งในที่สุด

การวินิจฉัยเนื้องอก

การวินิจฉัยเนื้องอก ทำได้หลายวิธีด้วยกัน เช่น การตรวจร่างกาย หรือการวินิจฉัยด้วยภาพจากเครื่องมืออย่าง อัลตราซาวนด์ ซีทีสแกน หรือเอ็มอาร์ไอ ซึ่งแพทย์มักใช้วิธีการตรวจหลากหลายวิธีควบคู่กันไป และหากตรวจพบเนื้องอกแล้ว อาจมีการเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อนั้น ๆ เพื่อนำไปตรวจในห้องปฏิบัติการว่าเป็นเนื้อร้ายหรือไม่ ทั้งยังช่วยให้แพทย์สามารถเลือกใช้วิธีการรักษาได้อย่างเหมาะสมที่สุดด้วย

การรักษาเนื้องอก

การรักษาเนื้องอกนั้นขึ้นอยู่กับตำแหน่งและลักษณะของเนื้องอก โดยหากเนื้องอกนั้น ๆ ไม่ใช่เนื้องอกที่เป็นเนื้อร้าย และไม่ได้ส่งผลต่อร่างกาย ก็อาจไม่จำเป็นต้องรักษาแต่อย่างใด แต่หากตรวจพบว่าเป็นเนื้อร้ายที่จะส่งผลกระทบต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกาย แพทย์อาจใช้วิธีการผ่าตัด การรักษาด้วยรังสี หรือการรักษาด้วยเคมีบำบัดเข้ามาช่วย

 

รู้จักมะเร็ง

มะเร็งคือเนื้อร้าย ที่เกิดจากเซลล์ในร่างกายเจริญเติบโตผิดปกติและแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว จนลุกลามไปยังเนื้อเยื่อ รวมถึงอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกาย หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้เสียชีวิตได้

มะเร็งเกิดจากอะไร? 

ในปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุของโรคมะเร็งได้อย่างแน่ชัด แต่ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งนั้นมีอยู่หลายประการด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นพันธุกรรม พฤติกรรมการสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ พฤติกรรมการกินและการดูแลสุขภาพที่ไม่เหมาะสม รวมถึงการสัมผัสกับสารก่อมะเร็ง เช่น สารเคมีต่าง ๆ ไวรัส และรังสีบางชนิดเป็นระยะเวลานาน

อาการของมะเร็ง

อาการของโรคมะเร็ง จะแตกต่างกันไปตามตำแหน่งที่เกิด รวมถึงระยะของโรค แต่โดยส่วนใหญ่จะพบก้อนมะเร็งในร่างกาย และอาจมีอาการปวดบริเวณที่มีก้อนเนื้อ อีกทั้งยังอาจมีอาการอื่น ๆ ที่พบได้คือ น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว หรือมีอาการเลือดออกอย่างผิดปกติ

ระยะของโรคมะเร็ง

ความรุนแรงของโรคมะเร็งสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ ดังนี้

  • ระยะที่ 1: มะเร็งอยู่เฉพาะที่ ยังไม่ลุกลาม ในระยะนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้

  • ระยะที่ 2: มะเร็งลุกลามไปยังเนื้อเยื่อใกล้เคียง สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการตัดก้อนมะเร็งและการรักษาด้วยเคมีบำบัด

  • ระยะที่ 3: มะเร็งลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลือง ในระยะนี้อาจรักษาหายได้ยากกว่าระยะที่ 1 และ 2

  • ระยะที่ 4: มะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ ในระยะนี้จะรักษาให้หายได้ยากมาก และมีเป้าหมายในการรักษาเพื่อบรรเทาอาการ และยืดอายุของคนไข้เท่านั้น

การวินิจฉัยโรคมะเร็ง

 

การตรวจหาเนื้องอก หรือมะเร็งสมองด้วย MRI

 

การวินิจฉัยโรคมะเร็งนั้น จะใช้วิธีการเช่นเดียวกันกับการวินิจฉัยเนื้องอก โดยแพทย์จะทำการตรวจร่างกายเบื้องต้น แล้วจึงใช้เครื่องมืออย่างอัลตราซาวนด์ ซีทีสแกน และเอ็มอาร์ไอเพื่อช่วยระบุตำแหน่งของเนื้องอกให้ชัดเจนยิ่งขึ้น จากนั้นเก็บตัวอย่างของชิ้นเนื้อไปตรวจเพื่อวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสม

การรักษามะเร็ง

การรักษาโรงมะเร็งจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งและระยะของโรค ด้วยวิธีการรักษาเหล่านี้

  • การผ่าตัด

  • การรักษาด้วยรังสี

  • การรักษาด้วยเคมีบำบัด

  • การรักษาแบบมุ่งเป้า

  • ภูมิคุ้มกันบำบัด

 

วิธีสังเกต ก้อนเนื้อแบบไหนอันตราย?

หากคลำเจอก้อนเนื้อ สามารถสังเกตเบื้องต้นด้วยตัวเองว่าก้อนเนื้อนั้นอันตรายหรือไม่ได้โดยสังเกต 5 ปัจจัยนี้

  1. ขนาด : หากก้อนเนื้อมีการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ก้อนเนื้อนั้นมีความเสี่ยงที่จะเป็นก้อนมะเร็งได้

  2. ความแข็ง : อีกหนึ่งสัญญาณที่บ่งบอกถึงก้อนเนื้ออันตรายก็คือก้อนเนื้อที่มีลักษณะแข็งมาก

  3. ความเจ็บ : หากบีบ หรือคลำที่บริเวณก้อนเนื้อแล้วรู้สึกเจ็บ ควรรีบพบแพทย์ทันทีเพราะนั่นเป็นลักษณะก้อนเนื้อมะเร็งอย่างหนึ่ง

  4. การยึดติดกับผิวหนัง หรือบริเวณข้างเคียง : ก้อนเนื้อที่อันตรายมักจะยึดติดกับผิวหนัง หรือเนื้อเยื่อข้างเคียง

  5. อาการร่วมอื่น ๆ : หากพบก้อนเนื้อในร่างกาย และมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น น้ำหนักลด อ่อนเพลีย และเบื่ออาหาร อาจเป็นสัญญาณของก้อนเนื้ออันตรายได้

อย่าลังเลที่จะไปพบแพทย์ หากพบเนื้องอกอาการเหล่านี้ เพราะยิ่งแพทย์สามารถวินิจฉัยได้เร็วเท่าไหร่ ก็จะยิ่งรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น

 

เมื่อได้รู้แล้วว่าเนื้องอกและมะเร็งต่างกันอย่างไร ก็อย่าลืมดูแลสุขภาพและหมั่นคอยสังเกตร่างกายตัวเองกันด้วย พร้อมเสริมความมั่นใจในการใช้ชีวิตด้วยการเลือกซื้อประกันสุขภาพและประกันชีวิตเอาไว้ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระเมื่อเกิดเรื่องไม่คาดฝัน เพราะการรักษาเนื้องอกและโรคมะเร็ง มักมีค่ารักษาที่สูง หากสนใจซื้อประกันสุขภาพที่ครอบคลุมโรคมะเร็ง หรือโรคร้ายอื่น ๆ สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของ พรูเด็นเชียล ประกันชีวิต หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เบอร์ 1621  

 

ข้อมูลอ้างอิง:

  1. เซลล์มะเร็งต่างจากเซลล์ปกติอย่างไร. สืบค้นเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 จาก https://www.medparkhospital.com/disease-and-treatment/differences-between-cancer-cells-and-normal-cells

  2. ก้อนเนื้อในเต้านม พบได้ใกล้ตัวแต่ไม่น่ากลัวเพราะรักษาได้ด้วยความเย็นติดลบ. สืบค้นเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 จาก https://www.bumrungrad.com/th/health-blog/november-2021/treat-breast-tumors-by-cryoablation