เลือกภาษา
close
เด็กงอแงอยากได้ของเล่น ไม่ต้องดุ แค่สื่อสารให้เป็น
เคล็ด (ไม่) ลับ น่ารู้ - พรูเด็นเชียล ประกันชีวิต

เด็กงอแงอยากได้ของเล่น
ไม่ต้องดุ แค่สื่อสารให้เป็น

เวลาที่เด็กงอแงอยากได้ของเล่น หรืออะไรก็ตาม ไม่ต้องดุ ไม่จำเป็นต้องตามใจทุกครั้ง แต่ผู้ดูแลต้องสอนให้เป็น เพราะการดุหรือการตีนั้นจะส่งผลเสียต่อพัฒนาการของเด็กระยะยาวได้

ก่อนอื่น พ่อแม่หรือผู้ดูแล จะต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การร้องไห้งอแงเป็นเรื่องปกติของเด็ก ที่สื่อสารออกมาเพื่อสื่อให้ผู้ใหญ่รู้ว่า เขาต้องการอะไร หรือเกิดจากประสบการณ์ที่ได้รับมาก่อนหน้านี้ที่เรียนรู้ว่าหากร้องไห้ งอแงแล้วจะได้ในสิ่งที่ต้องการ เด็กยังไม่รู้วิธีควบคุมอารมณ์และสื่อสารความรู้สึกจึงแสดงออกในรูปแบบนั้น ทางที่ดีควรทำข้อตกลงกับลูกก่อนออกจากบ้านว่า หากพาออกไปข้างนอกหรือไปห้าง แล้วลูกงอแงอยากได้ของเล่น ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ เราจะกลับบ้านทันที แล้วจะงดพาออกไปอีกครั้งระยะหนึ่ง  สิ่งที่เขาจะได้เรียนรู้จาก การทำแบบนี้ก็คือ เขาจะได้เรียนรู้ว่า ถ้าเขาเลือกจะไม่ควบคุมตัวเอง แปลว่า เขายังไม่พร้อมที่จะออกไปข้างนอก

 

พ่อแม่จะป้องกันเหตุการณ์นี้อย่างไร

กำหนดเหตุผลและโอกาสของการให้ของเล่น  โดยตกลงกติการ่วมกันว่าเมื่อไรที่จะได้ของรางวัล เช่น ใช้ Star chart เพื่อเสริมแรงทางบวก ให้ดาวเมื่อลูกทำดี และเมื่อสะสมดาวได้ครบก็ไปเลือกซื้อของเล่นกัน หรือ แม่อาจจะจดไว้ใน wish list สำหรับโอกาสพิเศษ (วันเกิด ปีใหม่) หรือเมื่อลูกสะสมดาวได้ครบถึงให้ของเล่นกับลูก

 

วิธีรับมือกับลูกเมื่อร้องไห้ งอแง อยากได้ของเล่น

  1. กรณีที่พิจารณาแล้วว่าไม่สามารถซื้อให้ได้ พ่อแม่หรือผู้ดูแลสามารถยืนยันชัดเจนได้ว่า “ไม่ได้นะจ๊ะ“ แต่จะต้องให้เหตุผลกับเขาว่าเพราะอะไร เช่น ราคาแพงเกินไป ที่บ้านมีแบบนี้แล้ว หรือลูกไม่ควรทำเพราะอะไร นอกจากนี้ พ่อแม่ควรสังเกตว่ามีสาเหตุอื่นที่ทำให้ลูกงอแงด้วยไหม เช่น ออกมานอกบ้านนานจนลูกเหนื่อย หิว หรือง่วง ซึ่งยิ่งทำให้เด็กงอแงได้ง่ายด้วย

  2. ให้เหตุผลแล้วลูกก็ไม่ฟัง ลงไปร้องไห้ อาละวาดกับพื้น หากเป็นที่สาธารณะ มีบุคคลอื่นๆ อยู่ด้วย ควรพาลูกออกไปหามุมสงบ เพื่อให้เขาอยู่กับเรา และไม่ทำให้เขาเป็นจุดสนใจ เพราะการอยู่ในพื้นที่ที่มีคนเยอะมีแนวโน้มที่เด็กจะอาละวาดกว่าเดิม

  3. เมื่ออยู่ในมุมสงบแล้ว ถ้าเป็นเด็กเล็กที่ยอมให้กอด เด็กเล็กที่ยังไม่สามารถพูดสื่อสารได้ (ต่ำว่า 2 ปี) สามารถกอดเขาได้ แต่ถ้าเด็กโตและดิ้นให้นั่งลงข้าง ๆ ดูแลความปลอดภัย แล้วรอเขาสงบ ถ้ายังไม่สงบหรือไม่พร้อม ควรพาเด็กกลับบ้าน

  4. เมื่อเด็กเริ่มสงบ ให้ชวนเขานับ 1-5 หรือ 1-10 พร้อมกันช้าๆ จากนั้นจึงเริ่มคุยกับเขาถึงเหตุผลของการไม่ควรเอาแต่ใจ ร้องไห้ งอแงในที่สาธารณะ หรืออธิบายว่าเขาไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการเพราะอะไร

การดูแลและอบรมเด็ก ๆ เป็นหน้าที่สำคัญของพ่อแม่หรือผู้ดูแล นอกจากจะต้องดูแลการเจริญเติบโตให้สมบูรณ์แล้ว การดูแลจิตใจก็เป็นปัจจัยสำคัญของการดูแลเด็ก ๆ เช่นกัน

มาเลี้ยงลูกให้ถูก ให้ลูกดีไปด้วยกัน เพื่อให้ทุกวันแฮปปี้กว่า