บรรษัทภิบาล
บรรษัทภิบาล
บริษัทฯ ได้พัฒนากรอบการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยการสร้างนโยบาย มาตรฐานและแนวทางปฏิบัติเพื่อสนับสนุน กรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน และผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ ในการปฏิบัติหน้าที่และความรับผิดชอบในระยะยาวอย่างมีความน่าเชื่อถือและยั่งยืน
กรอบการกำกับดูแลกิจการที่ดีนี้ ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการบริษัทฯ เพื่อช่วยให้คณะกรรมการฯ มั่นใจได้ว่าหลักการของการกำกับดูแลกิจการที่ดีนั้นได้รับการนำไปปฏิบัติ และมีโครงสร้างการกำกับดูแลกิจการที่เหมาะสม มีกระบวนการและกลไกการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพในการควบคุม กำกับดูแล ตรวจสอบ และติดตามการดำเนินงานของบริษัทฯ อย่างต่อเนื่อง
บริษัทฯ ตระหนักถึงความสำคัญในการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี และเชื่อมั่นว่ากระบวนการกำกับดูแลกิจการที่ดี ถือเป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินธุรกิจ ผนวกกับพันธกิจของกลุ่มบริษัทพรูเด็นเชียลก็คือ เพื่อทุกชีวิต เราคือเพื่อนที่อยู่เคียงข้าง เพื่อทุกอนาคต เราคือผู้ปกป้องดูแล ด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์ และบริการทั้งด้านสุขภาพและการเงิน ที่เข้าใจง่าย และเข้าถึงได้ กลุ่มบริษัทพรูเด็นเชียลจึงได้มีการกำหนดระเบียบข้อบังคับในการดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัทพรูเด็นเชียลขึ้น ที่กำหนดคุณค่าและมาตรฐานในการดำเนินการกำกับดูแลการดำเนินงาน ระบุไว้ใน "คู่มือหลักการบรรษัทภิบาลของกลุ่มบริษัทพรูเด็นเชียล" (Group Governance Manual) ระเบียบข้อบังคับในการดำเนินธุรกิจนี้ เพื่อเป็นรากฐานความมั่นคงของบริษัทฯ ในการที่จะดูแลรักษาผลประโยชน์ต่อลูกค้า ผู้ถือหุ้น พันธมิตรทางธุรกิจ คู่แข่งทางธุรกิจ หน่วยงานกำกับดูแล ตลอดจนพนักงานของพรูเด็นเชียลทุกคน ผู้บริหารและพนักงานของบริษัทฯ ถือปฏิบัติตามหลักการที่ระบุไว้ในระเบียบข้อบังคับในการดำเนินธุรกิจดังกล่าว
นโยบายการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชัน
สรุปนโยบายการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชันของกลุ่มพรูเด็นเชียลโดยสังเขปซึ่งครอบคลุมถึงการให้และการรับสินบน
บทนำ
พรูเด็นเชียลให้ความสำคัญกับชื่อเสียงด้านการปฏิบัติที่มีจริยธรรม ความน่าเชื่อถือทางการเงินและความไว้วางใจ บริษัทฯ ตระหนักดีว่านอกเหนือจากการกระทำผิดทางอาญาใดๆ แล้ว การมีส่วนร่วมในการติดสินบนนั้นจะส่งผลกระทบเชิงลบกับภาพลักษณ์และชื่อเสียงของบริษัทฯ ด้วยเช่นกัน ฉะนั้น บริษัทฯ จึงมีเจตนารมณ์ที่จะจำกัดความเกี่ยวข้องในการติดสินบนโดย
-
กำหนดนโยบายการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชันที่ชัดเจน
-
ฝึกอบรมพนักงานเพื่อให้ตระหนักและหลีกเลี่ยงการติดสินบนทั้งโดยตนเองและกับผู้อื่น
-
กระตุ้นพนักงานให้มีความระแวดระวังและรายงานเหตุอันควรสงสัยเกี่ยวกับการติดสินบน จัดให้มีช่องทางในการสื่อสารที่เหมาะสมให้แก่พนักงาน และรับรองว่าจะจัดการข้อมูลอ่อนไหวเหล่านั้นอย่างเหมาะสม
พรูเด็นเชียลห้ามมิให้มีการทุจริตและการจ่ายหรือรับสินบนไม่ว่าด้วยวัตถุประสงค์ใดๆ
นโยบาย
การติดสินบน หมายถึง การเสนอ การสัญญา การให้ การเชิญชวน หรือการรับ หรือข้อตกลงที่จะรับผลประโยชน์ทางการเงินหรือผลประโยชน์อื่นใด หรือการจูงใจจากบุคคลหรือบริษัทห้างร้าน (ไม่ว่าจะตั้งอยู่ที่ใด และไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ หน่วยงานราชการ บุคคลธรรมดา หรือบริษัทเอกชนก็ตาม) โดยพนักงาน ตัวแทน หรือบุคคลหรือหน่วยงานใดๆ ที่กระทำการแทน
การทุจริต หมายถึง การใช้อำนาจในทางที่ผิดเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว
กลุ่มบริษัทพรูเด็นเชียลห้ามการกระทำดังนี้
การติดสินบนของหรือโดยบุคคลหรือบริษัทฯ ในเขตอำนาจศาลใดๆ ไม่ว่าจะตั้งอยู่ที่ใด และไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ หน่วยงานราชการ บุคคลธรรมดา หรือบริษัทเอกชน หรือโดยพนักงาน ตัวแทน หรือบุคคลหรือหน่วยงานใดๆ ที่กระทำการแทนกลุ่มบริษัทพรูเด็นเชียล เพื่อผลประโยชน์ดังต่อไปนี้
-
รับไว้ซึ่งผลประโยชน์ทางการค้า สัญญา หรือระเบียบข้อบังคับใดๆ เพื่อกลุ่มบริษัทพรูเด็นเชียล ผ่านการกระทำที่ผิดจรรยาบรรณ
-
รับไว้ซึ่งประโยชน์ส่วนบุคคล ประโยชน์ทางการเงิน หรือผลประโยชน์อื่นใด สำหรับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลนั้น
-
ชักจูงให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของหน่วยงานใดๆ อันเป็นไปในลักษณะสาธารณะ หรือเกี่ยวข้องกับธุรกิจ โดยองค์กร หรือโดยบุคคลที่อยู่ในระหว่างการจ้างงาน
ในขณะที่ปฏิบัติงานในนามกลุ่มบริษัทพรูเด็นเชียล บริษัทฯ ไม่อนุญาตให้กระทำการสนับสนุนและช่วยเหลือทางการเมือง และบริษัทฯ อนุญาตให้ทำกิจกรรมเพื่อการกุศลได้เฉพาะที่เป็นไปตามแนวทางที่องค์กรกำหนดเท่านั้น
การจ่ายเงินเพื่ออำนวยความสะดวก คือการจ่ายเงินใดๆ (ยกเว้นกรณีที่เป็นไปตามกฎหมายและอัตราที่ประกาศไว้เป็นการทั่วไป) เป็นอามิสสินจ้างเพื่อให้มั่นใจว่าจะเกิดการดำเนินการ หรือเพื่อเร่งรัดการดำเนินการใดๆ ที่ดำเนินไปเป็นกิจวัตร หรือการกระทำที่จำเป็นซึ่งผู้จ่ายเงินค่าอำนวยความสะดวกมีสิทธิได้รับตามกฎหมาย กลุ่มบริษัทพรูเด็นเชียลไม่อนุญาตหรือยินยอมให้กระทำการในลักษณะนี้
คำอธิบายเพิ่มเติม
กลุ่มบริษัทพรูเด็นเชียลตระหนักดีว่าแนวปฏิบัติทางการตลาดมีความแตกต่างกันไปในแต่ละเขตการทำงาน และสิ่งที่เป็นเรื่องปกติและยอมรับได้ในพื้นที่หนึ่งอาจไม่เป็นที่ยอมรับในพื้นที่อื่นก็ได้
นโยบายฉบับนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะห้ามการปฏิบัติที่เป็นการกระทำตามจารีตประเพณีในตลาดหนึ่งๆ ซึ่งมีการปฏิบัติอย่างเหมาะสม หรือบันทึกไว้อย่างถูกต้อง ได้แก่
-
การเลี้ยงรับรองที่เป็นไปตามปกติและเหมาะสม
-
การให้ของขวัญในช่วงเทศกาล หรือวาระพิเศษอื่น
-
การใช้กระบวนการติดตามเร่งด่วนที่ทุกคนกระทำได้โดยชำระค่าใช้บริการ
การป้องกัน การตรวจพบ และการรายงานการให้สินบน หรือคอร์รัปชัน เป็นความรับผิดชอบของทุกคนที่อยู่ภายในหรือเกี่ยวข้องกับกลุ่มพรูเด็นเชียล การรายงานสามารถกระทำได้ในทางลับผ่านช่องทางโทรศัพท์สายด่วนของกลุ่มพรูเด็นเชียล (+44 (0)20 7548 2999) หรือส่งเป็นลายลักษณ์อักษรมาตามที่อยู่ดังต่อไปนี้
Director of Group Resilience
Prudential plc
12 Arthur Street
London EC4R 9AQ
United Kingdom
สำหรับประเทศไทย
เว็บไซต์: www.prudentialspeakout.ethicspoint.com
โทรฟรีระหว่างประเทศ: 1800-014-522
อีเมล: pcahelpline@prudential.com.hk
หลักการบริการความเสี่ยง
การบริหารความเสี่ยงขององค์กร (Enterprise Risk Management: ERM)
การบริหารความเสี่ยงนับเป็นกระบวนการบริหารที่สำคัญของบริษัทฯ ในการป้องกัน รักษา และสนับสนุนบริษัทฯ เพื่อสร้างผลตอบแทนอันตอบสนองต่อความเสี่ยงอย่างสูงสุด และทำให้อัตราผลตอบแทนที่ได้เปรียบนี้ มีส่วนช่วยสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจ ในขณะที่ยังคงรักษาความแข็งแกร่งทางการเงิน ทำให้ฝ่ายบริหารสามารถจัดการกับความไม่แน่นอนต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งช่วยลดผลกระทบและความไม่แน่นอนต่อทิศทาง กลยุทธ์ กระบวนการตัดสินใจเชิงธุรกิจ และการดำเนินงานของบริษัทฯ
บริษัทฯ นำนโยบายความเสี่ยงมาใช้ เพื่อส่งเสริมให้บริษัทฯ มีการบริหารจัดการความเสี่ยงระดับองค์กรที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล การจัดสรรทรัพยากรเพื่อใช้ในการบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสมและสามารถรับผิดชอบต่อการชำระคืนแก่ผู้ถือกรมธรรม์ตามสัญญาได้อย่างสมบูรณ์ อีกทั้งเพื่อส่งเสริมการกำกับดูแลกิจการที่ดีและเพื่อเสริมสร้างความน่าเชื่อถือของบริษัทฯ และอุตสาหกรรมโดยรวม
กระบวนการบริหารความเสี่ยงของบริษัทฯ ประกอบไปด้วยกระบวนการระบุความเสี่ยง การวัดผลและการประเมินความเสี่ยง การบริหารและการควบคุมความเสี่ยง และการติดตามดูแลและการรายงานความเสี่ยง
การบริหารสินทรัพย์และหนี้สิน (Asset Liability Management: ALM)
การบริหารสินทรัพย์และหนี้สินเป็นหน้าที่หลักประการหนึ่งของคณะกรรมการบริหารสินทรัพย์และหนี้สิน ซึ่งมีหน้าที่ในการติดตาม ตรวจสอบ และวิเคราะห์ความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อความเพียงพอของเงินกองทุนบริษัทฯ โดยพิจารณาจากความเสี่ยงที่รับได้ แนวโน้มทางเศรษฐกิจ ผลตอบแทนของผลิตภัณฑ์ที่ไม่แน่นอน ความคาดหวังและผลกำไรที่สมเหตุสมผลที่ผู้ถือกรมธรรม์มีต่อบริษัทฯ
บริษัทฯ มีนโยบายในการจับคู่อายุเฉลี่ยของตราสารหนี้ (duration matching) โดยกำหนดเป้าหมายอายุเฉลี่ยของสินทรัพย์ให้ใกล้เคียงกับอายุเฉลี่ยของหนี้สิน เพื่อลดความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยในตลาดในอนาคต และบริหารจัดการกระแสเงินสดจากการลงทุน เพื่อรับรองว่าจะเป็นไปตามข้อกำหนดตามสัญญาของผู้ถือกรมธรรม์
ความเสี่ยงจากการรับประกันภัย
บริษัทฯ รับประกันภัยความเสี่ยงโดยพิจารณาจากปัจจัยด้านสุขภาพและด้านการเงินของลูกค้า ทั้งนี้ อาจมีปัจจัยอื่นๆ ที่ต้องพิจารณาในฐานะส่วนหนึ่งของกระบวนการพิจารณารับประกัน โดยอ้างอิงจากอาชีพและรูปแบบการใช้ชีวิตของความเสี่ยงที่กำลังพิจารณา นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังใช้หลักของการพิจารณาความเสี่ยงในองค์รวมตามความเหมาะสม และกระบวนการพิจารณารับประกันข้างต้นยังต้องสอดคล้องกับการบริหารจัดการประกันภัยต่อของบริษัทฯ ด้วย
การบริหารจัดการประกันภัยต่อ
การบริหารจัดการประกันภัยต่อ หมายถึงกระบวนการรับความเสี่ยงหรือส่งผ่านความเสี่ยงไปยังผู้รับประกันภัยต่อ บริษัทฯ บริหารจัดการประกันภัยต่อโดยพิจารณาจากระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เพื่อสร้างความมั่นใจว่ามีการจัดการเงินทุนที่เพียงพอ ความเสี่ยงที่นำมาพิจารณานั้น ได้แก่ ความเสี่ยงขนาดใหญ่ (ทั้งระดับบุคคล หรือความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน) การกระจุกตัวของความเสี่ยง และความเสี่ยงด้านสุขภาพที่กำลังเกิดขึ้น บริษัทฯ มีการทบทวนรายชื่อผู้รับประกันภัยต่อของบริษัทฯ อย่างสม่ำเสมอ เช่นเดียวกับการสนองตอบความต้องการใหม่ๆ ของลูกค้า
การสรรหาและการแต่งตั้งกรรมการ กรรมการอิสระ และผู้บริหาร
การสรรหาและแต่งตั้งกรรมการ
บริษัทฯ พิจารณาสรรหาคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิโดยพิจารณาคุณสมบัติต่างๆ ตามข้อกฎหมายและข้อกำหนด ทักษะ ประสบการณ์ และความชำนาญที่จำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อทดแทนกรรมการในกรณีครบวาระ ลาออก หรือพ้นสภาพการเป็นกรรมการ พร้อมทั้งเสนอเพื่อการอนุมัติต่อสำนักงานบริษัทพรูเด็นเชียลภูมิภาคเอเชีย คณะกรรมการบริษัทฯ และ/หรือขออนุมัติต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้น ตามข้อกำหนดของบริษัทฯ
การสรรหาและแต่งตั้งผู้บริหาร
นโยบายการสรรหาผู้บริหารระดับสูงของบริษัทฯ หรือการจ้างผู้บริหารระดับสูง คือการสรรหาและคัดเลือกบุคคลสำหรับตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร และผู้บริหารระดับสูงที่รายงานตรงต่อประธานกรรมการบริหาร กระบวนการประเมินและวัดผลในการสรรหาจะสมบูรณ์ได้ต่อเมื่อมีการสัมภาษณ์โดยผู้จัดการ 2 ท่าน อาทิ ประธานกรรมการบริหาร และผู้บริหารจากสำนักงานส่วนภูมิภาค การประเมินภาวะผู้นำโดยการสัมภาษณ์และ/หรือใช้แบบทดสอบอื่นใด จะถูกกำหนดโดยฝ่ายทรัพยากรบุคคลสำนักงานภูมิภาค และบริษัทฯ จะรับผิดชอบการตรวจสอบคุณสมบัติก่อนเข้าทำงานอย่างเป็นทางการ
ประมวลจรรยาบรรณกลุ่มบริษัทพรูเด็นเชียล
เราภาคภูมิใจในการเป็นผู้นำด้วยความซื่อตรง และดำเนินงานอย่างมีจริยธรรมโดยยึดมั่นในค่านิยมพื้นฐานของเรา ซึ่งเรียกว่า The PruWay ซึ่งกำหนดว่าเราคือใคร และเราอยู่ในสถานะใด
เราสร้างทุนทางสังคมโดยการสร้างความสัมพันธ์ที่เชื่อถือได้กับพนักงาน ลูกค้า ผู้ถือหุ้น และชุมชนของเรา และเราพยายามที่จะปกป้องความไว้วางใจนั้นผ่านแนวทางที่เข้มงวดของเราในด้านความรับผิดชอบทางดิจิทัล
ประมวลจรรยาบรรณนี้ ("จรรยาบรรณ") สนับสนุนให้เรามุ่งส่งเสริม The PruWay และรับประกันว่า เรายึดมั่นในมาตรฐานระดับสูง และดำเนินงานโดยมุ่งสร้างผลกระทบเชิงบวก นอกจากนี้ ยังช่วยแนะนำแนวทางเราในการตัดสินใจในแต่ละวัน
ข้อความทั้งห้าประการนี้สะท้อนให้เห็นถึงความหมายของการปฏิบัติตามแนวทางของ The PruWay:
#1 เรามีลูกค้าเป็นเข็มทิศนำทางสู่เป้าหมาย
เรามุ่งมั่นในการทำความเข้าใจลูกค้าของเรา เรามุ่งตอบสนองความต้องการของลูกค้า และจัดการกับปัญหาของลูกค้าด้วยความรวดเร็ว และความเห็นอกเห็นใจ
#2 เรามีจิตวิญญาณของการเป็นเจ้าของธุรกิจ
เราก้าวข้ามขอบเขต และสำรวจความเป็นไปได้ใหม่ๆ เรามีความยืดหยุ่น ฟื้นตัวจากความผิดพลาด และก้าวไปข้างหน้าด้วยความเข้าใจ และเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
#3 เราร่วมสร้างความสำเร็จไปด้วยกัน
เราประสบความสำเร็จโดยการทำงานร่วมกันเป็นทีมเดียว เราทำลายไซโลอย่างจริงจัง และประสานความร่วมมือในทุกระดับขององค์กร
#4 เราเคารพและใส่ใจซึ่งกันและกัน
เรามีความเห็นอกเห็นใจ และปฏิบัติต่อกันในแบบที่เราอยากให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อเรา เราเคารพความแตกต่าง และสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยซึ่งทุกคนสามารถเป็นตัวของตัวเองได้
#5 เราทำตามคำมั่นสัญญาของเรา
เราตัดสินใจด้วยความรับผิดชอบ และรับผิดชอบต่อการกระทำของเราต่อผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด เราตอบสนอง และดำเนินการด้วยความเป็นเลิศ และความซื่อสัตย์
The PruWay ทำหน้าที่เป็นหลักการชี้แนะของเรา ซึ่งเปรียบเสมือนแสงส่องนำทางสู่การลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง และมีจริยธรรม ค่านิยมเหล่านี้ ซึ่งผนวกรวมอยู่ในนโยบายต่างๆ ของเรา มีผลบังคับใช้อย่างเท่าเทียมกันกับสมาชิกทุกคนของกลุ่มบริษัทพรูเด็นเชียล และบริษัทในเครือ กล่าวอีกนัยหนึ่ง ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ใด หรือมีบทบาทอะไรในพรูเด็นเชียล เรามีหน้าที่ที่จะต้องธำรงรักษาไว้ซึ่งความมุ่งมั่นของเราในด้านความซื่อสัตย์ และจริยธรรม
ประมวลจรรยาบรรณของเราสะท้อนถึงหลักการทางจริยธรรมในภาพกว้าง เพื่อช่วยสมาชิกในทีมของเราในการตัดสินใจ อย่างไรก็ตาม เราเข้าใจดีว่า หลักการเหล่านี้ไม่สามารถครอบคลุมทุกสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้
เราคาดหวังให้ท่านปฏิบัติตามประมวลจรรยาบรรณของเรา ตลอดจนนโยบายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด การละเมิดใดๆ ไม่ว่าจะเป็นประมวลจรรยาบรรณ นโยบายของเรา หรือกฎหมาย อาจส่งผลให้มีการพักงานในทันที หรืออาจถึงขั้นเลิกจ้างงาน ในทำนองเดียวกัน เราคาดหวังให้ผู้เกี่ยวข้องภายนอกของเรา รวมถึงคู่สัญญา ที่ปรึกษา ตัวแทน และผู้ให้บริการในด้านต่างๆ ปฏิบัติตามหลักการที่สอดคล้องกับหลักการของเรา เราเลือกที่จะเป็นพันธมิตรกับผู้ที่สามารถปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอันเข้มงวดของเราเท่านั้น
เจตนารมณ์ และกลยุทธ์ด้าน ESG ของเรา
กรอบการทำงานด้านความยั่งยืน: ESG (สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล) ของเรามุ่งเน้นไปที่เสาหลักสามประการ:
1) การเข้าถึงความคุ้มครองด้านสุขภาพและการเงิน
2) การลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ
3) ธุรกิจที่ยั่งยืน
กลยุทธ์ ESG ของเรายังเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจในทุกๆ ด้าน ตั้งแต่การมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าไปจนถึงการจัดการความเสี่ยง เราดำเนินงานในตลาดการเงินที่มีการกำกับดูแล และจัดลำดับความสำคัญของกระบวนการธรรมาภิบาลที่เข้มแข็ง เพื่อรักษาความไว้วางใจในกลุ่มผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายของเรา คณะกรรมการ คณะผู้บริหารกลุ่มบริษัทฯ และคณะผู้บริหารของธุรกิจของเราในแต่ละประเทศ ล้วนให้ความสำคัญกับการกำกับดูแล และธรรมา- ภิบาลที่แข็งแกร่ง
เราตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการธุรกิจของเราอย่างมีความรับผิดชอบในทุกระดับขององค์กร ประมวลจรรยาบรรณนี้ นโยบาย และระบบของเราเป็นรากฐานที่เรากำหนดมาตรฐานระดับสูงในทุกส่วนงาน รวมถึงการกำหนดความคาดหวังสำหรับผู้ให้บริการ การสนับสนุนสิทธิมนุษยชน และการสนับสนุนสิทธิ และสุขภาวะที่ดีของพนักงาน ด้วยการปรับแนวปฏิบัติทางธุรกิจของเราให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของเรา และดำเนินการกำกับดูแลอย่างมีความรับผิดชอบ เรามุ่งมั่นที่จะสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมในขณะเดียวกันก็รักษาไว้ซึ่งการดำเนินงานที่มีจริยธรรม และโปร่งใส
สุดท้ายนี้ เราให้ความสำคัญกับการพูดคุยที่เปิดเผยจริงใจเป็นอย่างมาก สิ่งนี้สนับสนุนให้เราหยิบยกประเด็นใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดคำถามด้านจริยธรรม และร่วมกันหาแนวทางแก้ไขที่เป็นที่ยอมรับ
1) ลูกค้า
หัวใจหลักของการดำเนินงานของเราคือ การช่วยให้ลูกค้าบรรลุเป้าหมายด้านสุขภาพ และการเงิน
ต่อไปนี้คือหลักการที่เราลงมือปฏิบัติ
ปฏิบัติต่อลูกค้าอย่างยุติธรรม ตรงไปตรงมา และซื่อสัตย์ เรารับรองว่า ลูกค้าของเราจะได้รับการปฏิบัติอย่างยุติธรรม และโปร่งใสตลอดระยะเวลาการเป็นลูกค้าของเรา เรามีการควบคุมที่เหมาะสมเพื่อระบุ และจัดการความเสี่ยงใดๆ ที่อาจกระทบต่อหลักการนี้ นอกจากนี้ เรายังใส่ใจในการจัดการความขัดแย้งทางผลประโยชน์ และการหลีกเลี่ยงอคติ รวมถึงในการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)
จัดหา และส่งเสริมผลิตภัณฑ์และบริการที่ตรงตามความต้องการของลูกค้า มีการอธิบายอย่างชัดเจน และส่งมอบคุณค่าที่สอดคล้องกับความต้องการ แม้ว่าความต้องการทางการเงินของลูกค้าอาจตรงไปตรงมา แต่ความซับซ้อนของผลิตภัณฑ์ของเราอาจทำให้ลูกค้าเข้าใจได้ยากเกี่ยวกับต้นทุน มูลค่า และวิธีการใช้ผลิตภัณฑ์อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น เราจึงพิจารณาการออกแบบผลิตภัณฑ์ สื่อสารกับลูกค้าอย่างชัดเจน และประเมินมูลค่าที่ผลิตภัณฑ์ของเรามีต่อลูกค้า โดยการนำปัจจัยต่างๆ มาพิจารณา เช่น พฤติกรรมของลูกค้า สถานการณ์ และแนวโน้มของตลาดในระยะยาว
รักษาความลับของข้อมูลลูกค้าของเรา ลูกค้าให้ความไว้วางใจแก่เรา รวมถึงผู้ให้บริการ และตัวแทนของเราในเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลของพวกเขา จึงเป็นหน้าที่ของเราในการรวบรวม ใช้ และปกป้องข้อมูลเหล่านี้อย่างเหมาะสม ทั้งภายในระบบของเรา และเมื่อได้รับการจัดการโดยตัวแทน ผู้ให้บริการ หรือพันธมิตรทางธุรกิจของเรา
จัดหาและส่งเสริมมาตรฐานระดับสูงในการให้บริการลูกค้า การส่งมอบบริการ และการสื่อสารที่มีคุณภาพสูง และอย่างสม่ำเสมอถือเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์ของเราตรงตามความต้องการ และความคาดหวังของลูกค้า เราได้จัดทำตัวชี้วัดการบริการลูกค้าที่ครอบคลุมวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ และตลอดเส้นทางประสบการณ์การใช้บริการของลูกค้า การจัดการข้อเรียกร้องอย่างทันท่วงที ยุติธรรม และโปร่งใสถือเป็นสิ่งสำคัญ เราเปิดเผยข้อมูลผลิตภัณฑ์ สัญญา หรือการอัปเดตที่เกี่ยวข้องทันที และดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่า มีการจ่ายเงินผลประโยชน์ตามกรมธรรม์แก่ลูกค้าตรงเวลา
ดำเนินการอย่างยุติธรรม และทันท่วงทีเพื่อจัดการกับข้อร้องเรียนของลูกค้าและข้อผิดพลาดใด ๆ ที่เราพบ ข้อร้องเรียนจากลูกค้าถือเป็นการให้ฟีดแบ็กที่มีคุณค่าแก่ธุรกิจของเรา เรามีกระบวนการในการระบุ และจัดการกับข้อร้องเรียนทั้งหมดอย่างยุติธรรม เราวิเคราะห์ข้อร้องเรียนเพื่อทำความเข้าใจสาเหตุที่แท้จริง และดำเนินการเพื่อลดจำนวนข้อร้องเรียนโดยรวม ด้วยการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง เราจะระบุประเด็นปัญหาใดๆ ที่อาจสร้างความเสียหายต่อลูกค้า และดำเนินการแก้ไขข้อผิดพลาดทันที
ด้วยการยึดมั่นในหลักการเหล่านี้ เรามุ่งมั่นที่จะให้บริการที่เป็นเลิศแก่ลูกค้า รักษาความไว้วางใจ และช่วยให้ลูกค้าของเราบรรลุเป้าหมายในชีวิต
2) บุคลากร และสุขภาวะที่ดี
โอบรับความหลากหลาย ความเท่าเทียม และการเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร
เราดำเนินธุรกิจในตลาดทั่วภูมิภาคเอเชียและแอฟริกา ซึ่งเป็นตัวแทนของวัฒนธรรม และความเชื่อที่แตกต่างหลากหลาย เรามุ่งมั่นที่จะสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่มีการแบ่งแยก ซึ่งโอบรับความเหมือนที่มีร่วมกัน และให้คุณค่ากับความแตกต่างของเรา ดังนั้น เราจึงพยายามจัดให้มีสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปราศจากการเลือกปฏิบัติ และการคุกคามทุกรูปแบบ รวมถึงเชื้อชาติ เพศ ศาสนา สีผิว ชาติหรือชาติพันธุ์ สถานภาพการสมรส รสนิยมทางเพศ อายุ ความทุพพลภาพ หรือลักษณะอื่นใดที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย นอกจากนี้ ยังหมายรวมถึงว่า พรูเด็นเชียลเป็นผู้ว่าจ้างที่ให้โอกาสที่เท่าเทียมกัน
ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นของเรา เราต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าความสัมพันธ์ส่วนตัวในที่ทำงานจะไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ หรือปัญหาด้านแนวปฏิบัติอื่นใด
เราไม่ยอมรับการเลือกปฏิบัติ การล่วงละเมิดในรูปแบบใดๆ รวมถึงการล่วงละเมิดทางเพศ การกลั่นแกล้ง และการประพฤติมิชอบประเภทอื่นๆ หรือการกระทำอื่นใดที่นำไปสู่สภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่เป็นมิตร หากท่านพบเห็นพฤติกรรมในลักษณะดังกล่าว ท่านจะต้องรายงานโดยทันที โปรดดูหัวข้อ "การขอคำแนะนำ และแจ้งข้อกังวล" ด้านล่างเพื่ออ่านคำแนะนำเพิ่มเติม
สุขภาพและความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน
เนื่องจากพรูเด็นเชียลให้ความสำคัญกับงานและสุขภาวะที่ดีของท่าน เราจึงพยายามอย่างเต็มที่เพื่อส่งเสริมสถานที่ทำงานที่สะอาด ปลอดภัย และดีต่อสุขภาพ
เราคาดหวังให้ท่านทำหน้าที่ในส่วนของท่านโดยหลีกเลี่ยงการสร้าง หรือมีส่วนก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ หรือความปลอดภัยในที่ทำงาน สถานที่ของลูกค้า งานกิจกรรม หรือเมื่อเดินทางในนามของพรูเด็นเชียล
การเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับสถานการณ์ส่วนบุคคล
เราคาดหวังการปฏิบัติตนในระดับสูงสุดจากพนักงานของเรา เนื่องจากชื่อเสียงของสมาชิกในทีมของเราส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของพรูเด็นเชียล เรื่องต่างๆ เช่น การล้มละลายส่วนบุคคล และการสืบสวนคดีอาญา หรือการดำเนินคดี จะต้องได้รับการเปิดเผยทันที
3) การรักษาความลับ และข้อมูลกรรมสิทธิ์
เราเคารพความเป็นส่วนตัวของลูกค้า สมาชิกในทีมของเรา และจะปกป้องข้อมูลที่เป็นความลับ หรือเป็นกรรมสิทธิ์ รวมถึงข้อมูลทางธุรกิจที่ละเอียดอ่อน ข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า พนักงาน และบุคคลที่สามที่เราได้รับระหว่างการปฏิบัติงานของเรา
ห้ามเปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับ หรือเป็นกรรมสิทธิ์แก่บุคคล องค์กร หรือนิติบุคคลภายนอกพรูเด็นเชียล หรือใช้ข้อมูลดังกล่าวเพื่อวัตถุประสงค์อื่นใดนอกเหนือจากธุรกิจของพรูเด็นเชียล ทั้งในระหว่าง หรือหลังสัญญาการจ้างงานของท่าน
นอกจากนี้ ท่านยังจำเป็นต้องปกป้องข้อมูลที่เป็นความลับของลูกค้า พนักงาน และบุคคลที่สามของเราจากการเข้าถึง การใช้ หรือการเปิดเผยข้อมูลโดยไม่ได้รับอนุญาต
4) อาชญากรรมทางการเงิน
การต่อต้านการติดสินบน และการทุจริต
เราดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรม และโปร่งใส เราปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมถึงกฎหมายป้องกันการติดสินบนของฮ่องกง (หมวด 201) พระราชบัญญัติการติดสินบนของสหราชอาณาจักร และพระราชบัญญัติว่าด้วยการประพฤติทุจริตในต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา การละเมิดกฎหมายต่อต้านการติดสินบน และการต่อต้านการทุจริตอาจส่งผลเสียต่อชื่อเสียงของเรา และนำไปสู่การลงโทษขั้นรุนแรง
เราห้ามอย่างเคร่งครัดโดยเด็ดขาดมิให้มีการจ่ายเงิน หรือการเสนอความช่วยเหลือ หรือสิ่งอื่นใดที่มีมูลค่าแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ พรรคการเมือง ผู้สมัครรับตำแหน่งทางการเมือง หรือองค์กรสาธารณะระหว่างประเทศในการชักจูงพวกเขา หรือเพื่อให้ได้มา หรือรักษาธุรกิจไว้อย่างไม่เหมาะสม นอกจากนี้ ยังห้ามการจ่ายเงินผ่านพันธมิตรทางธุรกิจหรือตัวกลางที่อาจส่งต่อให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐเช่นกัน
การให้หรือรับของขวัญ และการเลี้ยงรับรอง
แม้ว่าการเลี้ยงรับรองที่สมเหตุสมผล เช่น การรับประทานอาหาร ความบันเทิง และของขวัญจะเป็นที่ยอมรับได้ แต่การเลี้ยงรับรองอย่างฟุ่มเฟือย หรือบ่อยครั้งต่อผู้รับคนเดียว หรือองค์กรเดียวกันอาจไม่เหมาะสม ของขวัญที่เป็นเงินสด หรือเทียบเท่าเงินสด (เช่น บัตรของขวัญ คูปอง ค่าตอบแทนที่ให้เป็นสินน้ำใจ) จะถูกจำกัด ทั้งนี้ จะต้องได้รับอนุมัติอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรก่อนที่จะให้การเลี้ยงรับรอง หรือสิ่งมีค่าใดๆ แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือสมาชิกในครอบครัวของพวกเขา
การให้หรือรับของขวัญ และการเลี้ยงรับรองจะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายท้องถิ่น ตอบสนองวัตถุประสงค์ทางธุรกิจที่ชัดเจนซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับเจตนารมณ์ของเรา มีจำนวนที่สมเหตุสมผล และจะต้องนำเสนอเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ หรือบริการของเราเท่านั้น
การบริจาคเพื่อการกุศล และการให้การสนับสนุนกิจกรรมองค์กร
เราภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์ และพิจารณาโอกาสในการบริจาค และการสนับสนุนกิจกรรมองค์กร (Sponsorship) ทั้งที่ดำเนินการผ่านพรูเด็นซ์ ฟาวน์เดชัน และหน่วยธุรกิจต่างๆ ทั่วทั้งองค์กร ก่อนที่จะดำเนินการในเรื่องนี้ ท่านต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่า ไม่ใช่การจ่ายเงินให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ที่ไม่เหมาะสม และต้องได้รับการอนุมัติเป็นลายลักษณ์อักษรจากกลุ่มบริษัทฯ เรื่องนี้มีความสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้ร้องขอการบริจาค
การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
เรามุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามกฎหมาย และข้อบังคับว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการฟอกเงิน การฟอกเงินเกี่ยวข้องกับการปกปิดที่มาของรายได้ที่ได้รับจากกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย และการสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ก่อการร้ายเกี่ยวข้องกับการปกปิดการใช้เงินทุนโดยเจตนาเพื่อวัตถุประสงค์ในการก่ออาชญากรรม
การเก็บรักษาทะเบียนเกี่ยวกับการชำระเงิน ค่าใช้จ่าย ธุรกรรม และการจำหน่ายสินทรัพย์ทั้งหมดอย่างถูกต้องและละเอียดถือเป็นสิ่งสำคัญ รายการที่เป็นเท็จ หรือทำให้เข้าใจผิดจะต้องไม่เกิดขึ้นในรายการบัญชี หรือทะเบียนของกลุ่มบริษัทฯ
การควบคุมการค้า และการคว่ำบาตร
เรามีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับการค้าโลก รวมถึงการควบคุมการส่งออก และการคว่ำบาตรทางการค้าที่กำหนดโดยรัฐบาลต่างๆ ห้ามทำธุรกรรมกับฝ่ายที่ถูกคว่ำบาตรหรือถูกจำกัด เราจะไม่เข้าร่วมการปฏิบัติทางการค้า หรือคว่ำบาตารที่ต้องห้ามตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือกฎหมายท้องถิ่น
การเปิดเผยความขัดแย้งทางผลประโยชน์
เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจริง หรือที่รับรู้ได้ ผลประโยชน์ส่วนบุคคลไม่ควรมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจที่กระทำในนามของพรูเด็นเชียล ท่านจะต้องเปิดเผยสัญญาส่วนบุคคล หรือผลประโยชน์กรรมสิทธิ์กับบุคคลที่สามที่ทำธุรกิจกับกลุ่มบริษัทฯ ท่านจะไม่ได้รับอนุญาตให้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางธุรกิจของพรู-เด็นเชียลที่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่สามเหล่านั้น เว้นแต่ท่านจะได้รับความยินยอมล่วงหน้าจากพรูเด็นเชียล ห้ามรับค่าตอบแทน หรือผลประโยชน์จากบุคคลอื่นนอกพรูเด็นเชียลสำหรับงานที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบของท่านที่มีต่อกลุ่มบริษัทฯ
ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ยังเกิดขึ้นเมื่อสมาชิกในครอบครัว หรือเพื่อนฝูงได้รับการว่าจ้างโดยคู่แข่ง ผู้ให้บริการ ผู้จัดจำหน่าย หรือลูกค้า ระบบอุปถัมภ์ ซึ่งรวมถึงการให้ความช่วยเหลือแก่เครือญาติ เพื่อน หรือ บุคคลใกล้ชิดในการว่าจ้าง หรือเลื่อนตำแหน่ง ถือเป็นความขัดแย้งทางผลประโยชน์
ท่านต้องปฏิบัติ หรือดำเนินการเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของกลุ่มบริษัทฯ และส่งเสริมผลประโยชน์ของกลุ่มบริษัทฯ เมื่อโอกาสอำนวย
5) ข้อมูล และการซื้อขายหลักทรัพย์
พนักงานทุกคนอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดการ และการเปิดเผยข้อมูลภายใน รวมถึงการซื้อขายหลักทรัพย์ ภาระผูกพันเหล่านี้เกี่ยวข้องกับหลักทรัพย์ของกลุ่มบริษัทพรูเด็นเชียล และหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนภายนอก ในฐานะพนักงานของพรูเด็นเชียล ท่านอาจมี หรือครอบครองข้อมูลภายในระหว่างการปฏิบัติงาน พึงระลึกไว้ว่า ท่านจะต้องไม่ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลภายในดังกล่าว รวมถึงการซื้อขายใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับหลักทรัพย์ของกลุ่มบริษัทพรูเด็นเชียล
การไม่ปฏิบัติตามอาจส่งผลให้เกิดการดำเนินการบังคับใช้ตามกฎระเบียบ การดำเนินคดีทางแพ่งต่อพรูเด็นเชียล เจ้าหน้าที่บริษัทฯ เป็นรายบุคคล และบุคคลที่เกี่ยวข้อง
หากท่านครอบครองข้อมูลภายใน จะถือว่าท่านทำผิดกฎหมายในกรณีที่:
-
มีส่วนร่วมในการซื้อขายใดๆ ในหลักทรัพย์ของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลภายในนั้นๆ (รวมถึงการซื้อ ขาย หรือตกลงที่จะทำเช่นนั้น) หรือแบ่งปันข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับบริษัทที่ข้อมูลภายในนั้นมีความเกี่ยวข้อง (เช่น ทราบว่าจะมีการซื้อขายล็อตใหญ่)
-
ให้คำแนะนำ ส่งเสริม หรือจัดหาผู้อื่น (เช่น สมาชิกในครอบครัว เพื่อน หรือบริษัทของครอบครัว) เพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลภายใน หรือ
-
เปิดเผยข้อมูลภายในแก่ผู้หนึ่งผู้ใดโดยตรงหรือโดยอ้อม โดยมีข้อยกเว้นอันจำกัด
ข้อจำกัดเหล่านี้ยังใช้กับอนุพันธ์ (Derivatives) เช่น สัญญาสิทธิ์ล่วงหน้า (Options) หรือใบสำคัญแสดงสิทธิ์ (Warrants) ที่เกี่ยวข้องกับหลักทรัพย์ของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลภายใน ท่านมีหน้าที่รับผิดชอบในการปฏิบัติตามนโยบายของเราเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ และผลิตภัณฑ์อนุพันธ์อื่น ๆ รวมถึงกฎหมายการซื้อขายหลักทรัพย์โดยใช้ข้อมูลภายใน การละเมิดนโยบายและ/หรือกฎหมายเหล่านี้อาจส่งผลร้ายแรง รวมถึงการดำเนินการทางแพ่ง และทางอาญา ท่านต้องทำความคุ้นเคยกับกฎเกณฑ์การซื้อขายหลักทรัพย์โดยใช้ข้อมูลภายในที่เกี่ยวข้องกับหลักทรัพย์จดทะเบียนโดยทั่วไป
6) การสื่อสาร สื่อสังคมออนไลน์ และสื่อมวลชน
ในฐานะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลากหลายกลุ่ม รวมถึงกลุ่มธุรกิจ การเมือง หน่วยงานกำกับดูแล นักลงทุน ลูกค้า และชุมชน พรูเด็นเชียลมีบทบาทหน้าที่สำคัญในชุมชนของเรา พนักงานทุกคนเป็นตัวแทนที่สำคัญของธุรกิจของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีส่วนร่วมในการสื่อสารภายนอก การส่งเสริมผลิตภัณฑ์ และบริการ และการแบ่งปันประกาศด้านกฎระเบียบ ดังนั้น ท่านจึงต้องใช้ความระมัดระวัง และความรอบคอบในการสื่อสารภายนอกองค์กร รวมถึงผ่านสื่อสังคมออนไลน์ การสื่อสารอย่างเป็นทางการทั้งหมดเกี่ยวกับพรูเด็นเชียลควรดำเนินการผ่านพนักงานที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น
7) การขอคำแนะนำ และแจ้งข้อกังวล
เสียงของท่านมีความสำคัญ
บางครั้งประเด็นด้านจริยธรรม และความประพฤติปฏิบัติอาจมีความไม่ชัดเจน สิ่งสำคัญคือต้องแจ้งข้อกังวลทันทีเมื่อประเด็นเหล่านี้เกิดขึ้น และขอคำแนะนำก่อนดำเนินการใดๆ โดยการทำเช่นนี้ ท่านจะมีส่วนช่วยในการปรับปรุงกระบวนการของพรูเด็นเชียล และการแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที เราให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมของการเปิดเผยจริงใจ ความซื่อสัตย์ และความรับผิดชอบ และสนับสนุนให้ท่านพูด และขอความช่วยเหลือเมื่อใดก็ตามที่ท่านมีข้อกังวล หรือมีคำถาม ท่านสามารถติดต่อช่องทางดังต่อไปนี้เพื่อขอความช่วยเหลือ:
-
หัวหน้างานโดยตรงของท่าน หรือหัวหน้างานอาวุโสท่านอื่น
-
ตัวแทนฝ่ายทรัพยากรบุคคลของท่าน
-
เพื่อนร่วมงานในทีมความเสี่ยง และการกำกับดูแล หรือกฎหมาย หรือ
-
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานความเสี่ยง และการกำกับดูแล กลุ่มบริษัทฯ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานทรัพยากรบุคคล หรือที่ปรึกษาทั่วไป
หากท่านไม่สะดวกใจที่จะแจ้งข้อกังวลผ่านช่องทางเหล่านี้ ท่านสามารถใช้ช่องทาง Speak Out แจ้งการรายงานที่เป็นความลับ หรือเว็บพอร์ทัลของเรา (โฮสต์ในแพลตฟอร์ม Global Ethics Point ของ NAVEX)
สายด่วน Speak Out และพอร์ทัลของเราพร้อมให้บริการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และรับประกันการรักษาความลับ หากท่านต้องการที่จะไม่เปิดเผยตัวตนท่านสามารถรายงานโดยไม่เปิดเผยตัวตนได้
เราดำเนินการอย่างเคร่งครัดมิให้มีการตอบโต้บุคคลที่รายงาน หรือแจ้งข้อกังวลเกี่ยวกับการละเมิดกฎหมาย ข้อบังคับ นโยบายของกลุ่มบริษัทฯ ประมวลจรรยาบรรณ หรือการประพฤติมิชอบอื่น ๆ โดยสุจริต ซึ่งหมายความว่ารายงานควรดำเนินการด้วยความตั้งใจที่ซื่อสัตย์ และรวมถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด การกระทำที่ไม่พึงประสงค์ใดๆ ที่กระทำเพื่อตอบโต้พนักงานที่ตั้งคำถาม หรือแจ้งข้อกังวลโดยสุจริตอาจส่งผลให้เกิดการดำเนินการทางวินัย รวมถึงการเลิกจ้าง
กระบวนการควบคุมภายในของบริษัทฯ
บริษัทฯ ได้จัดให้มีคู่มือการปฏิบัติงานสำหรับกระบวนการทำงานต่างๆ พร้อมทั้งกำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของการปฏิบัติงาน และกำหนดหน้าที่ ความรับผิดชอบ และขอบเขตอำนาจตามความจำเป็น เพื่อให้มั่นใจในประสิทธิภาพของกระบวนการทำงานต่างๆ นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้จัดให้มีการสอบทาน ติดตาม และประเมินผลความเพียงพอของระบบควบคุมภายในอย่างสม่ำเสมอ และมีหน่วยงานตรวจสอบภายในของกลุ่มบริษัทฯ ที่เป็นอิสระ ประเมินความเพียงพอของการควบคุมภายในอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง และรายงานผลต่อคณะกรรมการตรวจสอบและคณะกรรมการบริษัทฯ
คณะกรรมการบริษัท
คณะกรรมการบริษัท
คณะกรรมการบริษัท มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำหนดกรอบการกำกับดูแลกิจการที่ดี กำหนดกลยุทธ์และนโยบายที่สำคัญ ติดตามการดำเนินงานของบริษัทฯ อย่างต่อเนื่อง ดูแลให้บริษัทฯ มีกลไกในการควบคุมและกำกับดูแลที่มีประสิทธิผล เพื่อให้บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจอย่างเป็นธรรม โปร่งใส รับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียภายใต้หลักการกํากับดูแลกิจการที่ดี และสร้างคุณค่าให้บริษัทฯ อย่างเหมาะสมในระยะยาว คณะกรรมการบริษัทจะต้องจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการอย่างน้อยทุกไตรมาส แต่สามารถจัดประชุมนอกเหนือจากที่กำหนดไว้เป็นครั้งคราวได้ หากมีเรื่องอื่นๆ ที่ต้องพิจารณาเป็นกรณีรีบด่วนและมีผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัทฯ
คณะกรรมการบริษัท ประกอบด้วยกรรมการทั้งหมด 7 ท่าน ดังนี้
ชื่อ |
ตำแหน่ง |
1. นายเดนนิส เธียน อูน แทน |
ประธานคณะกรรมการ |
2. นายบัณฑิต เจียมอนุกูลกิจ |
กรรมการผู้จัดการ |
3. นายสุภัค ศิวะรักษ์ |
ประธานกรรมการตรวจสอบ และกรรมการอิสระ |
4. นายธัชพล โปษยานนท์ |
ประธานกรรมการบริหารความเสี่ยง และกรรมการอิสระ |
5. นายศุภพงษ์ อัศวินวิจิตร |
กรรมการอิสระ |
6. นายกวินธร อัตถากร |
กรรมการอิสระ |
7. นายเบนจามิน เจมส์ บุลเมอร์ |
กรรมการ |
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับคณะกรรมการบริษัท สามารถดูรายละเอียดได้ที่ https://www.prudential.co.th/corp/prudential-th/th/about-prudential-thailand/management-team/
คณะผู้บริหาร
คณะผู้บริหารมีหน้าที่ในการวางแผนกลยุทธ์ และตัดสินใจในการบริหารองค์กร ที่เกี่ยวข้องกับพันธกิจ วิสัยทัศน์ และค่านิยมองค์กรในการบริหารงาน และพิจารณาการปฏิบัติงานและสถานการณ์ทางการเงินของธุรกิจ โดยจะต้องเสนอแผนธุรกิจและผลสำเร็จของแผน อีกทั้ง ต้องรับผิดชอบต่อการปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายการกำกับดูแลของบริษัทฯ และข้อบังคับต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง การดูแลเพื่อควบคุมภายในและการบริหารความเสี่ยงให้แก่ธุรกิจ คณะผู้บริหารจะจัดประชุมอย่างน้อยทุกเดือน โดยสามารถจัดประชุมนอกเหนือจากนี้เป็นครั้งคราวได้หากมีเรื่องอื่นๆ เพื่อดำเนินการพิจารณา
คณะผู้บริหารประกอบด้วยสมาชิก 7 ท่าน ได้แก่
ชื่อ |
ตำแหน่ง |
1. นายบัณฑิต เจียมอนุกูลกิจ |
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ |
2. นายเคลิก หว่อง |
ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารงบประมาณ |
3. นายมาร์ติน สตีเว่น แบร์รี่ |
ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารความเสี่ยง |
4. นางสาวเปสลารี ธีระสาสน์ |
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานลูกค้าและเทคโนโลยี |
5. นายอิฎฐ์ อภิรักษ์ติวงศ์ |
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานพัฒนาองค์กร |
6. นายดอน จรรย์ศุภรินทร์ |
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการพาณิชย์ |
7. นางสาวสุดาวรรณ อริยะทรัพย์ |
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานทรัพยากรบุคคล |
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับคณะผู้บริหาร สามารถดูรายละเอียดได้ที่ https://www.prudential.co.th/corp/prudential-th/th/about-prudential-thailand/management-team/
คณะกรรมการของบริษัทฯ แต่งตั้ง คณะกรรมการภายใต้คณะกรรมการบริษัทเพื่อช่วยสนับสนุนการบริหารของบริษัทฯ และมอบอำนาจให้
1. คณะกรรมการตรวจสอบ
2. คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง
- คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
3. คณะกรรมการบริหารสินทรัพย์และหนีสิ้น
4. คณะกรรมการลงทุน
5. คณะกรรมการบริหารลูกค้าสัมพันธ์
6. คณะกรรมการผลิตภัณฑ์
7. คณะกรรมการกำกับดูแลและบริหารจัดการการปฏิบัติงานด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีสารสนเทศ
1. คณะกรรมการตรวจสอบ
คณะกรรมการบริษัทฯ มอบอำนาจให้คณะกรรมการตรวจสอบ ทำหน้าที่ในการสอบทานรายงานทางการเงิน กรอบนโยบายบริหารความเสี่ยงและกำกับดูแลกิจการ และระบบการควบคุมภายในต่างๆ เพื่อให้เป็นไปตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และมาตรฐานของกลุ่มบริษัทฯ นอกจากนี้ คณะกรรมการตรวจสอบมีหน้าที่กำกับดูแลงานด้านการให้ความเชื่อมั่น (assurance work) ของหน่วยงานตรวจสอบภายในของกลุ่มบริษัทฯ และของผู้สอบบัญชีภายนอก การสอบทานประสิทธิภาพของระบบการควบคุมภายในจะทำโดยหน่วยงานตรวจสอบภายในของกลุ่มบริษัทฯ ซึ่งผลของการสอบทานและข้อเสนอแนะจะได้รับการนำเสนอต่อคณะกรรมการตรวจสอบ โดยคณะกรรมการตรวจสอบมีหน้าที่ในการติดตามผลการแก้ไขและพัฒนากระบวนการทำงานตามข้อเสนอแนะของหน่วยงานตรวจสอบภายในของกลุ่มบริษัทฯ ให้เป็นตามข้อกำหนด คณะกรรมการตรวจสอบจะจัดประชุมทุกไตรมาส โดยสามารถจัดประชุมนอกเหนือจากนี้เป็นครั้งคราวได้หากมีเรื่องอื่นๆ เพื่อดำเนินการพิจารณา
คณะกรรมการตรวจสอบ ประกอบด้วยสมาชิก 4 ท่าน โดยมีตัวแทนที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการบริษัทฯ ดังนี้
ชื่อ |
ตำแหน่ง |
1. นายสุภัค ศิวะรักษ์ |
กรรมการอิสระและประธานคณะกรรมการ |
2. นายศุภพงษ์ อัศวินวิจิตร |
กรรมการอิสระ |
3. นายธัชพล โปษยานนท์ |
กรรมการอิสระ |
4. นายเบนจามิน เจมส์ บุลเมอร์ |
กรรมการ |
2. คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง
คณะกรรมการบริษัทฯ มอบอำนาจให้คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง ทำหน้าที่ในการช่วยคณะกรรมการบริษัทฯ ในการกำหนดแนวทางและกำกับดูแลระดับความเสี่ยงที่ยอมรับโดยรวม ระดับเบี่ยงเบนที่ยอมรับได้ และกลยุทธ์ของบริษัทฯ รวมถึงกำกับดูแลและให้คำแนะนำคณะกรรมการบริษัทฯ สำหรับความเสี่ยงในปัจจุบันและที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต (รวมถึงความเสี่ยงด้านการปฏิบัติตามข้อกำหนด) สอบทานและอนุมัติกรอบการบริหารความเสี่ยง และติดตามดูแลความมีประสิทธิผล และการปฏิบัติตามนโยบายด้านความเสี่ยงต่างๆ คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงควรมีการจัดการประชุมไม่ต่ำกว่า 4 ครั้งต่อปี โดยประธานฯ หรือสมาชิกอาจเรียกให้มีการประชุมเพิ่มเติมเมื่อใดก็ได้ หากเห็นว่ามีประเด็นที่อยู่ในการดูแลของคณะกรรมการฯ
คณะกรรมการฯ ควรประกอบด้วยสมาชิกขั้นต่ำ 5 ท่าน โดยอย่างน้อย 2 ท่านต้องประกอบด้วยกรรมการอิสระที่ไม่ได้เป็นผู้บริหาร ซึ่งในที่นี้รวมถึงประธานกรรมการด้วย ดังนี้
ชื่อ |
ตำแหน่ง |
1. ดร.ธัชพล โปษยานนท์ |
ประธานที่ประชุม - กรรมการอิสระที่ไม่ใช่ผู้บริหาร |
2. ดร.สุภัค ศิวะรักษ์ |
สมาชิก - กรรมการอิสระที่ไม่ใช่ผู้บริหาร |
3. นายกวินธร อัตถากร |
สมาชิก - กรรมการอิสระที่ไม่ใช่ผู้บริหาร |
4. นายเดนนิส เธียน อูน แทน |
สมาชิก - กรรมการ |
5. นายบัณฑิต เจียมอนุกูลกิจ |
สมาชิก - กรรมการบริหาร |
- คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
คณะกรรมการบริษัทฯ มอบอำนาจให้คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information & Technology Risk Management Committee) ทำหน้าที่ในการกำกับดูแลให้มีการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล รวมถึงการใช้บริการจากผู้ให้บริการภายนอกด้านเทคโนโลยีสารสนเทศให้สอดคล้องกับนโยบายของบริษัทฯ และข้อกำหนดตามกฎหมาย
คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศประกอบด้วยสมาชิก 4 ท่าน ดังนี้
ชื่อ |
ตำแหน่ง |
1. นายมาร์ติน สตีเว่น แบร์รี่ |
ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารความเสี่ยง (ประธาน) |
2. นายบัณฑิต เจียมอนุกูลกิจ |
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ |
3. นางสาวเปสลารี ธีระสาสน์ |
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานลูกค้าและเทคโนโลยี |
4. นางสายพิณ โชคนำกิจ |
ที่ปรึกษาอาวุโส |
3. คณะกรรมการบริหารสินทรัพย์และหนี้สิน
คณะกรรมการบริษัทฯ มอบอำนาจให้คณะกรรมการบริหารสินทรัพย์และหนี้สิน มีหน้าที่กำหนดทิศทางการบริหารสินทรัพย์และหนี้สิน รวมถึงการบริหารการลงทุน บริหารเงินกองทุนของบริษัทฯ และการบริหารสภาพคล่อง การประกันภัยต่อ และการบริหารผลิตภัณฑ์ที่มีผลบังคับ คณะกรรมการบริหารสินทรัพย์และหนี้สินจะจัดประชุมอย่างน้อย 4 ครั้งต่อปี โดยสามารถจัดประชุมนอกเหนือจากนี้เป็นครั้งคราวได้หากมีเรื่องอื่นๆ เพื่อดำเนินการพิจารณา
คณะกรรมการบริหารสินทรัพย์และหนี้สิน ประกอบไปด้วยสมาชิกอย่างน้อย 3 ท่าน ดังนี้
ชื่อ |
ตำแหน่ง |
1. นายเคลิค หว่อง |
ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารงบประมาณ (ประธาน) |
2. นายบัณฑิต เจียมอนุกูลกิจ |
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ |
3. นายเหยาตั๊ก ชุง โทนี่ |
หัวหน้าฝ่ายบริหารเงินทุนและลงทุน |
4. นายมาร์ติน สตีเว่น แบร์รี่ |
ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารความเสี่ยง |
5. นายดันแคน วิเวียน มอร์ริส |
ผู้อำนวยการฝ่ายคณิตศาสตร์ประกันภัยประจำบริษัทฯ |
4. คณะกรรมการการลงทุน
คณะกรรมการบริษัทฯ มอบอำนาจให้คณะกรรมการลงทุน (Investment Committee) ซึ่งรายงานตรงต่อคณะกรรมการบริษัทฯ ทำหน้าที่กำหนดและให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับนโยบายกลยุทธ์การลงทุนโดยรวมและแนวทางการลงทุนของบริษัทฯ และนำเสนอขออนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทฯ รวมทั้งคณะกรรมการลงทุนยังมีหน้าที่พิจารณาอนุมัติแผนการลงทุนและการบริหารความเสี่ยงจากการลงทุน กำกับดูแลและสอบทานการลงทุนให้เป็นไปตามนโยบายการลงทุน นโยบายการบริหารความเสี่ยง ระเบียบวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการลงทุนและข้อกำหนดทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ คณะกรรมการลงทุนยังมีหน้าที่กำกับดูแลเรื่องธรรมาภิบาล ความโปร่งใสและการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมการลงทุน กำกับดูแล ระบบงาน บุคลากรและข้อมูลที่ใช้ประกอบการลงทุนให้มีความเพียงพอต่อการดำเนินการ บริหารเงินลงทุนตามนโยบายการลงทุน ทั้งนี้ คณะกรรมการลงทุนรายงานผลการลงทุนให้คณะกรรมการบริษัทฯ รับทราบอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
คณะกรรมการลงทุนจะจัดประชุมอย่างน้อยทุกไตรมาส โดยสามารถจัดประชุมนอกเหนือจากนี้เป็นครั้งคราวได้หากมีเรื่องอื่นๆ เพื่อดำเนินการพิจารณา
คณะกรรมการลงทุนประกอบไปด้วยสมาชิก 5 ท่าน ดังนี้
ชื่อ |
ตำแหน่ง |
1. นายเคลิค หว่อง |
ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารงบประมาณ (ประธาน) |
2. นายบัณฑิต เจียมอนุกูลกิจ |
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ |
3. นายมาร์ติน สตีเว่น แบร์รี่ |
ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารความเสี่ยง |
4. นายเหยาตั๊ก ซุง โทนี่ |
หัวหน้าฝ่ายบริหารเงินทุนและลงทุน |
5. นายดอน โก่ว |
ผู้อำนวยการฝ่ายลงทุน, ตัวแทนจาก Prudential Group |
5. คณะกรรมการบริหารลูกค้าสัมพันธ์
คณะกรรมการบริษัทฯ มอบอำนาจให้คณะกรรมการบริหารลูกค้าสัมพันธ์ทำหน้าที่ในการวางทิศทางเชิงกลยุทธ์ และดูแลจัดการเพื่อยกระดับประสบการณ์การใช้บริการของลูกค้า รวมถึงการสร้างวัฒนธรรมการปฏิบัติต่อลูกค้าอย่างเป็นธรรมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจ และผลักดันให้ลูกค้าเป็นศูนย์กลางในการดำเนินงานของบริษัทฯ อันจะนำไปสู่การเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน
คณะกรรมการบริหารลูกค้าสัมพันธ์ประกอบด้วยสมาชิก 7 ท่าน ดังนี้
ชื่อ |
ตำแหน่ง |
1. นายบัณฑิต เจียมอนุกูลกิจ |
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ (ประธาน) |
2. นายมาร์ติน สตีเว่น แบร์รี่ |
ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารความเสี่ยง |
3. นายเคลิค หว่อง |
ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารงบประมาณ |
4. นางสาวเปสลารี ธีระสาสน์ |
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานลูกค้าและเทคโนโลยี |
5. นายดอน จรรย์ศุภรินทร์ |
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการพาณิชย์ |
6. นายอิฎฐ์ อภิรักษ์ติวงศ์ |
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานพัฒนาองค์กร |
7. นายเฉลิมพล ชัยประเสริฐ |
ผู้อำนวยการฝ่ายงานปฏิบัติการธุรกิจและบริการลูกค้า |
6. คณะกรรมการกำกับผลิตภัณฑ์
คณะกรรมการบริษัทฯ มอบอำนาจให้คณะกรรมการผลิตภัณฑ์ทำหน้าที่วางกลยุทธ์ ผลิตภัณฑ์ กำกับดูแล และติดตามกระบวนการออกผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ เพื่อให้มั่นใจว่ากระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการขอยื่นขอรับความเห็นชอบจากสำนักงาน คปภ. ได้ปฏิบัติตามนโยบาย และแนวปฏิบัติที่กำหนด
คณะกรรมการผลิตภัณฑ์ประกอบด้วยสมาชิก 8 ท่าน ดังนี้
ชื่อ |
ตำแหน่ง |
1. นายบัณฑิต เจียมอนุกูลกิจ |
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ (ประธาน) |
2. นายมาร์ติน สตีเว่น แบร์รี่ |
ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารความเสี่ยง |
3. นายเคลิค หว่อง |
ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารงบประมาณ |
4. นางสาวเปสลารี ธีระสาสน์ |
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานลูกค้าและเทคโนโลยี |
5. นายดอน จรรย์ศุภรินทร์ |
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการพาณิชย์ |
6. นายอิฎฐ์ อภิรักษ์ติวงศ์ |
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานพัฒนาองค์กร |
7. นายโทโด ทาโนโตะ |
รองประธานอาวุโส สายงานผลิตภัณฑ์ |
8. นายดันแคน วิเวียน มอร์ริส |
ผู้อำนวยการฝ่ายคณิตศาสตร์ประกันภัยประจำบริษัทฯ |
7. คณะกรรมการกำกับดูแลและบริหารจัดการการปฏิบัติงานด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีสารสนเทศ
คณะกรรมการบริษัทฯ มอบอำนาจให้คณะกรรมการกำกับดูแลและบริหารจัดการการปฏิบัติงานด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีสารสนเทศมีหน้าที่ความรับผิดชอบในการกำกับดูแลการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศให้สอดรับกับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจให้มีความยืดหยุ่นเพียงพอที่จะรองรับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงการดำเนินธุรกิจในอนาคต รวมทั้งความพร้อมในการรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์
คณะกรรมการกำกับดูแลและบริหารจัดการการปฏิบัติงานด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีสารสนเทศประกอบด้วยสมาชิก 6 ท่าน ดังนี้
ชื่อ |
ตำแหน่ง |
1. นางสาวเปสลารี ธีระสาสน์ |
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานลูกค้าและเทคโนโลยี (ประธาน) |
2. นายบัณฑิต เจียมอนุกูลกิจ |
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ |
3. นายเคลิค หว่อง |
ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารงบประมาณ |
4. นายดอน จรรย์ศุภรินทร์ |
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการพาณิชย์ |
5. นายมาร์ติน สตีเว่น แบร์รี่ |
ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารความเสี่ยง |
6. นายอิฎฐ์ อภิรักษ์ติวงศ์ |
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานพัฒนาองค์กร |
นโยบายการจ่ายค่าตอบแทน
ค่าตอบแทนของกรรมการ กรรมการอิสระ
บริษัทฯ มีกระบวนการในการกำหนดค่าตอบแทนของกรรมการอย่างชัดเจน โดยในแต่ละปีจะมีการสอบทานความเหมาะสมของค่าตอบแทนกรรมการ โดยจะพิจารณาถึงขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบของกรรมการ เพื่อให้มั่นใจว่าค่าตอบแทนกรรมการของบริษัทฯ เทียบเคียงได้กับอัตราค่าตอบแทนกรรมการของบริษัทอื่นที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน ค่าตอบแทนกรรมการจะได้รับการนำเสนอในที่ประชุมสามัญประจำปีของผู้ถือหุ้น และเมื่อได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นจะมีผลบังคับใช้ไปจนกว่าที่ประชุมผู้ถือหุ้นจะกำหนดเป็นอย่างอื่น ค่าตอบแทนกรรมการที่ได้รับอนุมัติจะจ่ายให้เฉพาะกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหารเท่านั้น
ค่าตอบแทนของกรรมการที่เป็นพนักงานของบริษัทฯ จะได้รับการพิจารณาเป็นประจำทุกปี โดยเป็นไปตามหลักการและนโยบายค่าตอบแทนของพนักงานของบริษัทฯ ค่าตอบแทนดังกล่าวจะเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับวัตถุประสงค์ของบริษัทฯ ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนการส่งมอบตามแผนทางธุรกิจและกลยุทธ์ และเป็นไปตามข้อกำหนดหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ค่าตอบแทนของผู้บริหาร
ค่าตอบแทนทั้งหมดประกอบด้วย เงินเดือน โบนัสทั้งระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงสวัสดิการต่างๆ ซึ่งสามารถแข่งขันได้กับตลาดในประเทศ โดยค่าตอบแทนของผู้บริหารระดับสูงควรอยู่ในระดับที่เหมาะสมเมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลเงินเดือนจากตลาดภายนอก ส่วนการให้รางวัลในนโยบายค่าตอบแทนจะกำหนดให้ส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจและต้องคำนึงถึงความเสมอภาคของระดับค่าตอบแทนของพนักงานภายในองค์กร ทั้งนี้การให้รางวัลควรจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยนำการประเมินผลปฏิบัติงานประจำปีมาพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างเป้าหมายและผลการดำเนินงานภายในรอบระยะเวลารายงานทางการเงินที่ผ่านมา