ภาวะช่องคลอดหดเกร็งคืออะไร?
คุณเคยรู้สึกเจ็บ เกร็ง หรือรู้สึกเหมือนว่าช่องคลอดของคุณ “ปิดตัว” ระหว่างที่เกิดการสอดใส่ขณะมีเพศสัมพันธ์หรือไม่? ถ้าคุณเคยรู้สึกแบบนั้น คุณอาจเป็นโรคที่เรียกว่า ภาวะช่องคลอดหดเกร็ง หรือเรียกทางการแพทย์ได้ว่า Vaginismus!
ถาม: ภาวะช่องคลอดหดเกร็งคืออะไร?
ตอบ: ภาวะช่องคลอดหดเกร็งเกิดขึ้นเมื่อกล้ามเนื้อบริเวณปากช่องคลอดเกิดอาการหดเกร็ง ในเวลาที่จะเกิดการสอดใส่ ไม่ว่าจะจาก การมีเพศสัมพันธ์ นิ้วมือ ผ้าอนามัยแบบสอด อุปกรณ์ทางการแพทย์ระหว่างการตรวจภายใน ฯลฯ ที่เกิดขึ้นเองร่างกายไม่สามารถควบคุมได้ [1]
ผู้หญิงที่มีภาวะช่องคลอดหดเกร็งจะไม่สามารถควบคุมการเกร็งกล้ามเนื้อของตัวเองได้ หรืออาจไม่รู้ตัวว่ามีอาการเกร็งเกิดขึ้นเลยก็เป็นไปได้ บางคนอาจมีอาการเจ็บหรือแสบระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ แต่ในบางรายการสอดใส่เป็นเรื่องที่ไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย เหมือนกับมีกำแพงปิดอยู่เลยทีเดียว [2]
โชคร้ายที่ผู้หญิงมากมายจะต้องพบเจอกับภาวะนี้ โดยเฉพาะผู้หญิงที่อายุประมาณ 20-30 ปี จำนวนมากเคยมีประสบการณ์ภาวะช่องคลอดหดเกร็งมาแล้วอย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิตพวกเขา แม้ว่าจะเคยมีเพศสัมพันธ์ได้อย่างปกติก็ตาม [1]
ถาม: ภาวะช่องคลอดหดเกร็งเกิดจากอะไร?
ตอบ: ยังไม่มีเหตุผลที่แน่ชัดว่าทำไมอาการนี้ถึงเกิดขึ้น สันนิษฐานว่าผู้หญิงอย่างน้อย 2 ใน 1,000 คน จะต้องเคยประสบกับภาวะนี้มาแล้ว แต่ตัวเลขที่แท้จริงน่าจะสูงกว่านี้มากเพราะผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่กล้าพูดเรื่องส่วนตัว หรือขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับเรื่องนี้กันมากนัก บวกกับส่วนหนึ่งอาจได้รับการวินิจฉัยที่ผิดไป และคิดว่าตัวเองไม่สามารถมีเพศสัมพันธ์ที่ปกติได้อีกเลย [2]
ในบางกรณี ภาวะช่องคลอดหดเกร็งอาจเกิดจากเหตุการณ์รุนแรงในอดีตที่อาจมีผลกระทบต่อจิตใจ เช่น การคลอดบุตรที่ยากกว่าปกติ หรือเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศ จิตใจของพวกเขาอาจเชื่อมโยงความเจ็บปวดเข้ากับการมีเพศสัมพันธ์ [1] ผู้หญิงอีกจำนวนหนึ่งคิดว่าขนาดปากช่องคลอดของตัวเองผิดปกติ หรือมีขนาดเล็กเกินไป ในความเป็นจริงคือมีแค่ส่วนน้อยมากเท่านั้นที่จะเกิดภาวะนี้จากเหตุผลข้างต้น [2]
ภาวะช่องคลอดหดเกร็งแบ่งได้ออกเป็น 2 ประเภท [1,2]:
-
Primary vaginismus คือกรณีที่ผู้หญิงไม่เคยสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้เพราะภาวะช่องคลอดหดเกร็ง
-
Secondary vaginismus คือกรณีที่ผู้หญิงเคยมีเพศสัมพันธ์ได้อย่างปกติและไม่เจ็บปวดมาก่อน แต่ตอนนี้ไม่สามารถมีได้เลยหรือมีได้ยาก ภาวะอื่นๆ ทางการแพทย์อย่าง การติดเชื้อรา มะเร็ง หรือภาวะผนังช่องคลอดบางในวัยหมดประจำเดือน สามารถทำให้เกิดภาวะช่องคลอดหดเกร็งได้
ถาม: ถ้ารู้สึกว่าตัวเองมีภาวะช่องคลอดหดเกร็ง ควรจะได้รับการตรวจและการรักษาอย่างไรบ้าง?
ตอบ: การตรวจหรือทดสอบทางการแพทย์สำหรับภาวะนี้อาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก แต่ก็สามารถทำได้โดยการไปพบแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญหลายๆ ครั้ง โดยผู้ป่วยจะได้รับการตรวจสอบผ่านการสอบถามประวัติ และคำอธิบายปัญหาและอาการเจ็บปวดต่าง ๆ รวมถึงการตรวจภายในเพื่อดูการเกร็งของกล้ามเนื้อปากช่องคลอด รวมถึงตรวจหาภาวะและการติดเชื้ออื่น ๆ [2]
ข่าวดีก็คือภาวะช่องคลอดหดเกร็งสามารถรักษาให้หายสนิทได้ ตามสถิติของผู้ป่วยในภาวะนี้สามารถรักษาให้หายได้เกือบ 100% และสามารถกลับไปมีเพศสัมพันธ์ตามปกติได้ด้วย [2]
การรักษาจะมุ่งไปที่การลดการตอบสนองของกล้ามเนื้อ และจัดการกับความกลัว หรือความวิตกกังวลใด ๆ ในจิตใจที่ผู้ป่วยมีต่อการสอดใส่ [3]:
-
การรักษาเฉพาะที่: ยาลิโดเคน หรือครีมอื่น ๆ อาจช่วยอาการเจ็บได้
-
การกายภาพบำบัดอุ้งเชิงกราน: นักกายภาพจะสามารถช่วยให้ผู้ป่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานได้
-
การขยายช่องคลอด: เป็นการใช้อุปกรณ์ที่มีหลายขนาดในการช่วยขยายปากช่องคลอดให้เกิดความรู้สึกปลอดภัยหรือคุ้นชินเมื่อมีการสอดใส่
-
การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม: สามารถช่วยได้ในรายที่มีความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า หรือมีอาการผิดปกติทางจิตใจหลังจากประสบสถานการณ์รุนแรง (PTSD) การรักษาจะช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจว่าความคิดของพวกเขาจะส่งผลกระทบกับความรู้สึกและพฤติกรรมของตัวเองได้อย่างไรบ้าง
-
การบำบัดทางเพศ: นักบำบัดทางเพศสามารถช่วยให้ผู้ป่วยกลับมามีความสุขกับเพศสัมพันธ์ของพวกเขาได้
ถ้าคุณคิดว่าคุณมีอาการคล้ายภาวะช่องคลอดหดเกร็ง คุณจะต้องไม่ลังเลที่จะปรึกษาแพทย์และดูแลตัวเอง จนกว่าจะได้รับวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง เนื่องจากภาวะช่องคลอดหดเกร็งมักได้รับการวินิจฉัยที่ไม่ถูกต้อง หรือไม่ได้รับการดูแล [2]
References:
1. Vaginismus [Internet]. Health Service Executive (HSE). 2011 [cited 1 February 2021]. Available from: https://www.hse.ie/eng/health/az/v/vaginismus/treating-vaginismus.html
2. Frequently Asked Questions [Internet]. Vaginismus.com. 2021 [cited 1 February 2021]. Available from: https://www.vaginismus.com/faq
3. Vaginismus: Diagnosis and Tests [Internet]. Cleveland Clinic. 2021 [cited 1 February 2021]. Available from: https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/15723-vaginismus/diagnosis-and-tests