
6 วิธีลดเค็ม
"ลดเค็มลดโรค" เคล็ดลับการกินอาหารแล้วลดเค็มทั้ง 6 วิธีนี้จะช่วยให้เราลดอัตราการเสี่ยงเกิดโรคไต
โรคสมองและหลอดเลือด หรือโรคอื่นๆ อีกมากมายที่จะตามมาได้ เพียงแค่เราปรับพฤติกรรมการกินเพียงเล็กน้อยนี้
1.ควรชิมก่อนปรุงทุกครั้งว่ารสชาตินั้นพอเหมาะแล้วหรือไม่ หากเพียงพอแล้วก็ไม่ควรเติมเพิ่ม เพราะอาหารส่วนใหญ่ที่ปรุงมานั้นก็มีรสชาติความเค็มหรือมีโซเดียมสูงอยู่แล้ว พอไม่ชิมแล้วปรุงเพิ่มเข้าไปก็ยิ่งทำให้ได้รับโซเดียมเพิ่มมากขึ้น
2.ลดการบริโภคอาหารแปรรูป หันมาทำอาหารรับประทานเองวันละมื้อ เน้นซื้อของสดมาทำกับข้าวเองก็จะช่วยลดปริมาณโซเดียมลงไปได้ ที่สำคัญคือ ต้องปรุงด้วยรสชาติที่อ่อนกำลังดีด้วย
3.ลดการใช้น้ำจิ้ม เพราะน้ำจิ้มถือเป็นปัจจัยหลักอย่างหนึ่งที่ทำให้คนไทยได้รับโซเดียมสูง และอีกหนึ่งนิสัยเสียของคนไทยคือ ชอบราดน้ำจิ้มเยอะๆ หรือจิ้มน้ำจิ้มมาก ๆ ซึ่งตัวอาหารบางอย่างก็มีโซเดียมอยู่แล้ว
4.ลดการกินน้ำซุป เน้นรับประทานเฉพาะเส้นและเครื่องเคียง สามารถช่วยลดปริมาณโซเดียมที่จะได้รับในแต่ละวันลงไปได้ ซึ่งน้ำซุปมีการเติมซอสปรุงรส หรือผงปรุงรสลงไป ซึ่งถือว่ามีโซเดียมปริมาณสูงมาก
5.ลดการกินน้ำปรุง ก็จะช่วยลดโซเดียมลงได้เช่นกัน โดยเฉพาะอาหารประเภทยำ ส้มตำ ถือเป็นอาหารจานโปรดของคนไทยจำนวนมาก ซึ่งน้ำยำหรือน้ำส้มตำมีการเติมผงปรุงรสที่มีโซเดียมสูง
6.ลดความถี่ในการกินอาหารที่มีส่วนประกอบของไตปลา ปลาร้า พริกแกง และกะปิ อันเป็นเครื่องปรุงที่คนไทยชอบกิน ซึ่งวิธีในการทำอาหารทั้ง 4 อย่าง ทำให้มีโซเดียมผสมอยู่แล้ว และหากมีการปรุงรสเพิ่มเข้าไปอีก ก็ยิ่งได้โซเดียมจากสารปรุงรสเข้าไป
การลดเค็มเพื่อสุขภาพเป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ เช่น สหราชอาณาจักร เป็นประเทศให้ความสำคัญและดำเนินการอย่างเข้มข้น เช่น ติดตามควบคุมกำกับการรณรงค์ การสร้างความร่วมมือกับอุตสาหกรรมในการปรับลดสูตรอาหาร ส่งผลให้ค่าเฉลี่ยการบริโภคโซเดียมของประชากรลดลงกว่า 15% ขณะเดียวกันประเทศไทยได้มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องโดยล่าสุด สสส. ได้จัดแคมเปญ Less Spoon : ช้อน ปรุง ลด ร่วมกับทาง CJ WORX จัดทำสื่อนำเสนอเพื่อให้คนไทยตระหนักในการปรุงโซเดียม ทั้งเกลือ และน้ำปลา โดยจัดทำเป็นช้อนที่มีรูตรงกลาง แต่จะตักได้แค่เฉพาะปลายช้อน ซึ่งตรงตามปริมาณที่ควรบริโภค ทำให้เกิดภาพจำของปริมาณโซเดียมในช้อนของผู้บริโภค และเป็นแคมเปญที่ได้รับความสนใจอย่างมาก
