โรคซึมเศร้าเกิดจากอะไร มีอาการแบบไหน รักษาหายได้ไหม ?
ปัจจุบันโรคซึมเศร้าเป็นหนึ่งในโรคยอดฮิตของคนไทยและทั่วโลก เฉพาะในไทยเองมีผู้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่า 1.5 ล้านคน และเป็นสาเหตุที่ทำให้คนไทยฆ่าตัวตายมากถึง 4,000 คนต่อปี แต่นอกจากโรคซึมเศร้าจะส่งผลทางด้านอารมณ์และจิตใจแล้ว ยังมีอาการทางร่างกายควบคู่ไปด้วย
วันนี้เราจะพาทุกคนไปรู้จักกับโรคซึมเศร้ากันให้มากขึ้น ว่าสาเหตุที่แท้จริงเกิดจากอะไร และมีวิธีการรักษาอย่างไรบ้าง
โรคซึมเศร้าคืออะไร และเกิดจากอะไร ?
โรคซึมเศร้า คือ โรคทางจิตเวชอย่างหนึ่งที่เกิดจากความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมองอย่าง ซีโรโตนิน นอร์เอปิเนฟริน และโดปามีน ทำให้เกิดภาวะไม่สมดุล เกิดผลกระทบทั้งทางร่างกายและจิตใจ ทำให้ความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม มีอารมณ์เศร้าหมอง บางคนมีอาการรุนแรงจนคิดทำร้ายตัวเอง
ที่จริงแล้ว “อาการซึมเศร้า” นั้นสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนเมื่อมีเรื่องหรือเหตุการณ์ที่สะเทือนใจ แต่ไม่จำเป็นต้องพัฒนาเป็นโรคซึมเศร้า หากว่าเราสามารถรับมือกับความเศร้า ดูแลอารมณ์และความรู้สึกของตนเองให้ผ่านพ้นไปได้ แต่หากว่าใครมีอาการซึมเศร้าหรือหดหู่อย่างต่อเนื่องนานเกินกว่า 2 สัปดาห์ หรือกระทบต่อชีวิตประจำวัน เรียนไม่รู้เรื่อง ทำงานไม่ได้ แนะนำให้พบแพทย์เพื่อรักษาและบรรเทาอาการต่อไป
โรคซึมเศร้ามีกี่ระดับ
อาการของโรคซึมเศร้าสามารถแบ่งได้เป็น 3 ระดับ ดังนี้
-
ระดับเล็กน้อย (Mild Depression) มักใช้การทำจิตบำบัดหรือครอบครัวบำบัดในการรักษา พร้อมดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจด้วยการออกกำลังกาย นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ
-
ระดับปานกลาง (Moderate Depression) นอกจากการทำจิตบำบัดแล้ว แพทย์อาจจะใช้ยาต้านเศร้า
-
ระดับรุนแรง (Severe Depression) การรักษามักจะใช้ยาต้านเศร้าเป็นหลัก และทำจิตบำบัดประกอบด้วย
เช็กอาการ เราเป็นซึมเศร้าหรือเปล่า ?
หลายคนเป็นโรคซึมเศร้าแต่ไม่รู้ตัว ทำให้ระดับความรุนแรงของโรคเพิ่มขึ้นจนไม่ใช่แค่กระทบจิตใจ และยังมีอาการทางร่างกายควบคู่ตามไปด้วย ซึ่งโรคซึมเศร้ามีอาการเริ่มต้นทั้งทางจิตใจและร่างกายที่สามารถสังเกตเห็นได้ ดังนี้
อาการทางจิตใจ
-
อารมณ์และความคิดเปลี่ยนแปลงไป รู้สึกโกรธหรือหงุดหงิดกับเรื่องเล็กน้อย รู้สึกว่างเปล่า และเศร้าเหงาหงอย อยากร้องไห้ตลอดเวลา วิตกกังวล รู้สึกไร้ค่า โทษตัวเอง และรู้สึกว่าตัวเองล้มเหลว ไม่สามารถประสบความสำเร็จในชีวิตได้
-
สมาธิแย่ลง คิดช้า พูดช้า ขาดสมาธิ จำอะไรไม่ค่อยได้ นอกจากนี้ ยังไม่สามารถคิดหรือตัดสินใจอะไรง่าย ๆ ได้ด้วยตนเอง
-
เก็บตัวมากขึ้น ไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง เก็บตัว ไม่อยากทำกิจกรรมอะไรเลย รู้สึกไม่สนุก แม้แต่กิจกรรมที่เคยชื่นชอบก็ไม่อยากทำ ไม่อยากเจอใครแม้แต่เพื่อนสนิทหรือคนในครอบครัว
-
ทำงานได้แย่ลง ไม่ใส่ใจในงานอย่างที่เคย เกิดข้อผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ อยู่เสมอ ไม่มีอารมณ์ที่จะทำงาน
- หลงผิด และมีอาการทางจิตอย่างอื่น เช่น คิดว่าคนอื่นทำร้ายหรือว่าร้ายตนเอง แยกจินตนาการกับโลกแห่งความจริงออกจากกันไม่ได้
อาการทางร่างกาย
รู้หรือไม่ว่า 75% ของผู้ป่วยซึมเศร้ามีอาการทางร่างกายควบคู่ไปด้วย ซึ่งโดยมากแล้ว มักจะมีอาการที่สังเกตเห็นได้ชัด ดังนี้
-
อ่อนเพลีย ไม่มีแรง World Health Organization (WHO) ระบุว่า ผู้ป่วยโรคซึมเศร้านอกจากจะไม่อยากทำอะไรแล้ว ยังรู้สึกว่าร่างกายอ่อนล้า ทำให้ไม่มีแรงจะทำอะไร
-
ปวดเมื่อยตามเนื้อตามตัว หรือเจ็บปวดตามร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดหัว ปวดท้อง คอ หลัง
-
มีปัญหากับระบบย่อยอาหาร มักมีอาการคลื่นไส้ ท้องอืด ท้องผูก หรือท้องเสีย
-
นอนหลับไม่เต็มอิ่ม รู้สึกอ่อนเพลีย บางรายมีอาการนอนไม่หลับหรือนอนมากเกินไป เพราะรู้สึกว่านอนหลับไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
-
เป็นโรคความดันสูง และโรคเกี่ยวกับหัวใจ เนื่องจากการอยู่ในภาวะเครียดเรื้อรังอาจจะนำไปสู่ความเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง ภาวะหัวใจขาดเลือด และหลอดเลือดสมองได้
-
น้ำหนักตัวมีการเปลี่ยนแปลง มักกินตามอารมณ์ เครียด เหงา เศร้า หรือในทางตรงกันข้ามอาจจะสูญเสียความอยากอาหาร ทำให้น้ำหนักลดลง
หากว่าใครไม่แน่ใจสามารถทำแบบทดสอบภาวะซึมเศร้า เพื่อเช็กอาการและความรุนแรง ก่อนไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาต่อไป
การดูแลตัวเองเมื่อเป็นโรคซึมเศร้า
สำหรับผู้ป่วยที่รู้ว่าตนเองเป็นโรคซึมเศร้า นอกจากการพบแพทย์แล้ว แนะนำให้ออกกำลังกายเป็นประจำ กินอาหารสุขภาพหรืออาหารต้านเศร้า ออกไปทำกิจกรรมที่ชอบบ้าง พบปะเพื่อนสนิทหรือครอบครัว และไม่ควรตัดสินใจเรื่องสำคัญ ๆ ในช่วงนี้
ส่วนผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย แนะนำให้รับฟังและดูแลด้วยความเข้าใจ ระมัดระวังคำพูดต้องห้ามสำหรับคนเป็นโรคซึมเศร้า ไม่บีบคั้นหรือบังคับให้พูดหรือระบายออกมา ค่อย ๆ ให้ผู้ป่วยไว้ใจและพูดออกมาเอง พยายามฟังมากกว่าที่พูดแนะนำกลับไป นอกจากนี้ให้ชวนทำกิจกรรมใหม่ ๆ และไม่คาดหวังในตัวผู้ป่วยมากจนเกินไป
โรคซึมเศร้าหายได้ไหม มีวิธีการรักษาอย่างไรบ้าง ?
โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่เกิดจากหลายปัจจัย และหลากหลายสาเหตุ ซึ่งแต่ละคนมีสาเหตุการเกิดที่แตกต่างกันออกไป บางคนเจ็บป่วยเรื้อรัง ทำให้มีอาการซึมเศร้า บางคนเกิดจากฮอร์โมนที่ส่งผลต่อสารเคมีในสมอง บางคนเกิดจากการมีเหตุการณ์ที่รุนแรงกระทบต่อจิตใจ บางคนเกิดจากความเครียดเรื้อรัง ซึ่งการรักษาโรคซึมเศร้าจะต้องอาศัยความต่อเนื่องและใช้ระยะเวลาพอสมควร
ดังนั้น สำหรับคนที่สงสัยว่า โรคซึมเศร้าหายได้ไหม ? ขอตอบว่าสามารถรักษาหายได้ ขึ้นอยู่กับอาการว่าเป็นในระยะใด ประกอบกับผู้ป่วยและคนรอบข้างให้ความร่วมมือมากน้อยเพียงใด โดยมีแนวทางการรักษา ดังต่อไปนี้
การทำจิตบำบัด
การทำจิตบำบัด คือ การให้คำปรึกษาทางจิตใจ เหมือนกับที่หลายคนเห็นในภาพยนตร์หรือซีรีส์ตะวันตกบ่อย ๆ ที่จิตแพทย์หรือนักจิตบำบัดจะนั่งพูดคุยกับผู้ป่วย และให้ผู้ป่วยปรึกษาปัญหาต่าง ๆ หรือระบายสิ่งที่อยู่ในใจออกมา โดยทุกอย่างที่พูดคุยจะเป็นความลับระหว่างผู้ป่วยกับผู้บำบัดเท่านั้น ไม่เผยแพร่ออกไปสู่สาธารณชน รวมถึงคนใกล้ชิดของผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกวางใจที่จะเล่าปัญหาและความในใจเหล่านั้นออกมา
วิธีบำบัดจิตใจนั้นมีหลากหลายวิธีการ ทั้งการยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง การบำบัดความคิด การบรรยาย หรือใช้ทฤษฎีทางอารมณ์ โดยนักจิตบำบัดมักใช้หลากหลายวิธีผสมกัน เพื่อรักษาผู้ป่วย
การทำจิตบำบัด ใช้ได้ทั้งผู้ป่วยที่มีอาการเพียงเล็กน้อย หรือผู้ที่มีภาวะเครียดเรื้อรัง ไปจนถึงผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง
การรักษาด้วยยา
สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปานกลางและรุนแรง แพทย์จะพิจารณาการใช้ยาต้านเศร้า (Antidepressant) เพื่อปรับสมดุลของสารเคมีในสมองอย่างเซราโทนินและนอร์อะดรีนาลีน
ยาต้านเศร้ามีหลากหลายชนิด โดยทั่วไปจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ
-
กลุ่มที่ออกฤทธิ์ต่อสารสื่อประสาทหลายชนิด ทำให้มีอาการข้างเคียงอย่างปากแห้ง คอแห้ง ต้องจิบน้ำตลอดทั้งวัน
-
กลุ่มที่ออกฤทธิ์จำเพาะ ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทเพียงชนิดเดียว ซึ่งมีผลข้างเคียงค่อนข้างน้อย
สิ่งที่ผู้ป่วยต้องทราบอย่างหนึ่งก็คือ ยาต้านเศร้าเป็นยาที่ต้องอาศัยระยะเวลาในการออกฤทธิ์ ซึ่งมีทั้งเห็นผลเต็มที่ในระยะ 1-2 สัปดาห์ ไปจนถึง 1 เดือน จึงไม่เหมือนกับยารักษาโรคทั่วไป ที่เมื่อกินยาเข้าไปแล้วจะเห็นผลในระยะเวลารวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแพทย์จะให้ผู้ป่วยกินยาต้านเศร้า แต่ในบางกรณีการทำจิตบำบัดก็ยังมีความจำเป็นอยู่ เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น
โรคซึมเศร้า ค่ารักษาแพงไหม ?
หลายคนอาจจะมีความวิตกกังวลเรื่องค่ารักษาพยาบาลโรคซึมเศร้าว่ามีราคาแพงไหม และมีค่าใช้จ่ายเท่าไร ?
ปัจจุบันค่าปรึกษาจิตแพทย์ของโรงพยาบาลรัฐจะอยู่ที่ครั้งละ 500 - 1,000 บาท ส่วนเอกชนจะอยู่ที่ประมาณ 1,000 - 3,000 บาท แต่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายได้ในส่วนของบัตรทอง ประกันสังคม ประกันข้าราชการ
ทำอย่างไรเมื่อต้องอยู่กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
หลายคนอาจจะทำตัวไม่ถูกเมื่อต้องอยู่กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า เพราะเกรงว่าจะยิ่งทำให้ผู้ป่วยรู้สึกกระทบกระเทือนจิตใจมากยิ่งขึ้น
เคล็ดลับง่าย ๆ ในการพูดคุยกับผู้ป่วยก็คือ การรับฟังด้วยความเข้าใจ และให้ความมั่นใจว่าเราจะอยู่เคียงข้าง หรือหากว่าไม่แน่ใจว่าควรจะพูดอะไรดี การโอบกอด หรือนั่งอยู่ข้าง ๆ ก็เป็นกำลังใจที่ดีเช่นเดียวกัน
ส่วนคำพูดที่ไม่ควรพูด หรืออาจจะกระทบต่อจิตใจ มักเป็นคำพูดที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าตนเองเป็นภาระ เป็นคนที่ไม่เข้มแข็ง หรือตัดสินว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่ควรใส่ใจ
โรคซึมเศร้า ไม่ใช่โรคร้าย แต่ต้องการการดูแลและรักษาอย่างเหมาะสม เพื่อช่วยบรรเทาอาการและสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข และอย่าลืมเช็กสัญญาณความเครียด หนึ่งในจุดเริ่มต้นของโรคซึมเศร้าเป็นประจำ เพื่อที่จะได้ต้องป่วยใจแล้วพากายป่วยตามไปด้วย
ข้อมูลอ้างอิง
-
รับมือความเศร้า ป้องกันโรคซึมเศร้า วิธีสังเกต และเรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้ป่วย
-
“จิตบำบัด” เยียวยาปัญหาจิตใจ ปรึกษาไว แก้ได้ โดยไม่ต้องพึ่งยา