
ห้ามมองข้าม! อาการผื่นคันตามตัวที่เป็นสัญญาณจากร่างกาย
หลายคนคงเคยประสบกับปัญหาผื่นคันตามตัว ซึ่งมักเกิดจากสาเหตุทั่วไปอย่าง แพ้อากาศ แมลงกัดต่อย หรือผิวแห้ง จนคิดว่าเป็นเรื่องปกติทำให้เกิดการละเลยเมื่อมีอาการ แต่รู้หรือไม่ ? ว่าบางครั้งผื่นคันเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเตือนที่แฝงไปด้วยอันตรายแอบซ่อนอยู่ บทความนี้จะพาไปรู้จักกับผื่นคันที่ต้องเฝ้าระวัง เพื่อให้รู้เท่าทันและสามารถป้องกันได้อย่างทันท่วงที !
รู้จักก่อน ! อาการผื่นคัน พร้อมตุ่มเล็ก ๆ เกิดจากอะไร ?
ผื่นคัน เป็นผื่นแพ้ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของผิวหนัง ทำให้เกิดอาการคันและอาจมีลักษณะเป็นตุ่มแดง รอยนูนเล็ก แผลพุพอง ไปจนถึงผิวหนังลอก ซึ่งบริเวณที่เกิดผื่นคันอาจมีอยู่แค่บางส่วน หรือทั่วทั้งร่างกาย ซึ่งสาเหตุของการเกิดผื่นคันมีอยู่หลายปัจจัย แต่จะสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ได้ ดังนี้
-
สาเหตุจากปัจจัยภายนอก อาจเกิดจากการสัมผัส หรือได้รับสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย ทำให้ร่างกายเกิดการต่อต้าน จนนำไปสู่การแพ้ ระคายเคือง ไปจนถึงการติดเชื้อ
-
สาเหตุจากภายใน มักเกิดจาก ฮอร์โมน หรือระบบภูมิคุ้มกันมีความบกพร่อง ทำให้ร่างกายไวต่อสารบางชนิดเป็นพิเศษ จึงเข้าไปกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ได้ง่ายขึ้น โดยมักเกิดกับผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคภูมิแพ้ โรคผิวหนัง
สัญญาณเตือน ! อาการผื่นคันตามตัวที่ไม่ควรมองข้าม
1. ผื่นลมพิษ (Urticaria)
ผื่นลมพิษ (Urticaria) มีลักษณะเป็นผื่นนูนแดง หรือเป็นรอยปื้น โดยมีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ร่วมกับอาการคัน ซึ่งสามารถลุกลามกระจายเป็นผื่นคันตามตัวทั่วร่างกายได้อย่างรวดเร็ว มักจะปรากฏอยู่ไม่นานและหายได้เองภายใน 24 ชั่วโมง แต่มักเกิดขึ้นซ้ำได้บ่อย โดยเฉพาะในช่วงวัย 20 - 40 ปี ซึ่งหากพบอาการหายใจไม่ออก ปวดท้อง แน่นจมูก ร่วมด้วย ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยสาเหตุและหาแนวทางการรักษา
2. ผื่นแดงคัน (Morbilliform)
ผื่นแดงคัน (Morbilliform) เป็นผื่นคันตามตัวที่พบได้บ่อยทั่วร่างกาย โดยผิวจะมีลักษณะแดงและเกิดตุ่มใส อาจก่อให้เกิดการตกสะเก็ดตามมา สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นจากโรคผิวหนัง การติดเชื้อ แมลงสัตว์กัดต่อย การแพ้ฝุ่น แพ้ยา หรือการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้หรือสารระคายเคือง เช่น น้ำยาทำความสะอาด เครื่องสำอาง ตลอดจนปัญหาจากการพักผ่อนไม่เพียงพอและภาวะเครียด ซึ่งจะไปกระตุ้นให้เกิดผื่นแดงคันมากยิ่งขึ้นได้ สามารถบรรเทาอาการเบื้องต้นได้ด้วยการใช้ยาทา หรือยาทานแก้แพ้ แต่หากไม่ดีขึ้นควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุต่อไป
3. ผื่นตุ่มน้ำใส (Dyshidrotic Eczema)
ผื่นตุ่มน้ำใส (Dyshidrotic Eczema) เป็นหนึ่งในอาการของโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังที่เป็น ๆ หาย ๆ และสามารถกลับมาเกิดซ้ำได้ มักพบได้บ่อยในกลุ่มคนที่มีอายุไม่เกิน 40 ปี ลักษณะผื่นที่เกิดขึ้นจะเป็นตุ่มใสและแข็งที่ฝ่ามือฝ่าเท้า รวมถึงบริเวณด้านข้างนิ้วมือ นิ้วเท้า พร้อมกับมีอาการคัน ซึ่งตุ่มน้ำใสนี้อาจแตกออกมาได้ รวมถึงอาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้ตุ่มกลายเป็นหนอง โดยสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การสัมผัสสารเคมีบางชนิด รวมถึงความเครียดและโรคภูมิแพ้
4. ผื่นแดงที่มีลักษณะเป็นเส้นใย (Livedo Reticularis)
ผื่นแดงที่มีลักษณะเป็นเส้นใย (Livedo Reticularis) เป็นผื่นผิวหนังที่พบได้ไม่บ่อย มักเกิดจากโรคหลอดเลือดอักเสบ ซึ่งจะทำให้ระบบไหลเวียนเลือดทำงานผิดปกติ ส่งผลให้เกิดผื่นลักษณะแดงนูน ดูเหมือนเส้นใยเล็ก ๆ ลายร่างแห ที่มีจ้ำเลือดกระจายอยู่ตามขา ใบหน้า มือ เท้า ร่วมกับอาการคัน เมื่อกดแล้วอาจมีอาการเจ็บใต้ผิวหนัง หากไม่ได้รับการรักษาอาจกลายเป็นแผลเรื้อรังจากเนื้อเยื่อที่เสื่อมสภาพได้ จึงควรรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง
5. ผื่นแบบมีจุดเลือด (Vasculitis)
ผื่นแบบมีจุดเลือด (Vasculitis) เป็นผื่นที่เกิดจากเส้นเลือดฝอยอักเสบ สามารถเกิดอาการได้หลากหลายลักษณะ เช่น ตุ่มแดงนูน ตุ่มแดงนูนที่กดแล้วไม่จาง ตุ่มพองมีเลือดแตกเป็นแผล ผื่นสีม่วงแดง ไปจนถึงผื่นเป็นร่างแห คล้ายตาข่ายเส้นเลือดใต้ผิวหนัง โดยมักพบบ่อยบริเวณขา สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ นอกจากนี้ กลุ่มโรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง (Autoimmune Disease) เช่น โรคเอสแอลอี วัณโรค เชื้อแบคทีเรียบางประเภท และเชื้อไวรัสตับอักเสบ ก็ล้วนเป็นสาเหตุของการเกิดผื่นแบบมีจุดเลือดเช่นกัน โดยผื่นแบบมีจุดเลือดเป็นผื่นชนิดรุนแรงที่หากเกิดขึ้นแล้วควรรีบพบแพทย์ทันที
6. ผื่นพองตุ่มใส มีน้ำด้านใน (Vesiculobullous Eruption)
ผื่นพองตุ่มใส มีน้ำด้านใน (Vesiculobullous Eruption) เป็นผื่นคัน ที่มีตุ่มเล็ก ๆ สีใส เหมือนมีน้ำด้านใน โดยเกิดจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการที่ภูมิคุ้มกันในร่างกายต่อต้านตนเอง พันธุกรรม การติดเชื้อ เช่น โรคเริมและโรคอีสุกอีใส การสัมผัสสารระคายเคือง รวมถึงภาวะผิดปกติจากโรคบางชนิด เช่น เบาหวาน โรคอะไมลอยด์โดสิส (Amyloidosis) และโรคพอร์ไฟเรีย (Porphyria) ซึ่งมักจะกระจายไปทั่วร่างกาย และหากปล่อยทิ้งไว้ ตุ่มอาจแตกจนเกิดเป็นแผลได้
วิธีป้องกันไม่ให้ผื่นคันตามตัวลุกลาม
-
แต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี
เนื่องจากการสวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ไม่ดี จะทำให้เหงื่ออับชื้นซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของเชื้อโรคและแบคทีเรียสะสมบนผิวหนัง นำไปสู่การเกิดผื่นคันได้ จึงควรเลือกสวมใส่เสื้อผ้าที่ผลิตจากผ้าเนื้อบางเบา ระบายอากาศได้ดี หลีกเลี่ยงเสื้อผ้ารัดรูป หรือเนื้อผ้าหนาจนเกินไป
-
รักษาความสะอาด
การรักษาความสะอาดเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันผื่นคันที่สามารถลดการสะสมของเชื้อโรคและแบคทีเรียได้ จึงควรอาบน้ำอย่างสม่ำเสมอ โดยการเลือกใช้สบู่อ่อนโยนต่อผิว ล้างหน้า ทาครีมกันแดดเป็นประจำ แต่ควรหลีกเลี่ยงน้ำยาทำความสะอาดที่มีฤทธิ์รุนแรง ซึ่งอาจก่อให้เกิดการแพ้
-
บำรุงผิวให้ชุ่มชื้น
ผิวที่แห้งกร้านขาดความชุ่มชื้นจะเกิดการระคายเคือง และนำไปสู่ผื่นคันตามตัวได้ง่าย จึงควรหมั่นทาครีมบำรุงผิวเป็นประจำ หลังอาบน้ำ หรือเมื่อรู้สึกว่าผิวแห้ง
-
หลีกเลี่ยงการเกา
การเกาเป็นหนึ่งสาเหตุที่อาจทำให้ผื่นคันลุกลามจนเกิดรอยแผล ติดเชื้อแบคทีเรีย หากเกิดอาการคันให้ลองใช้น้ำแข็งประคบเย็น หรือทายาแก้คันก็จะช่วยให้อาการคันทุเลาลงได้
ผื่นคันบางชนิดอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคที่แฝงอยู่ การสังเกตสัญญาณเตือนและรีบไปพบแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติ จะช่วยให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที สำหรับใครที่อยากป้องกันการเกิดโรคลุกลาม สามารถเลือกแผนประกันสุขภาพที่เหมาะกับความต้องการจากพรูเด็นเชียล ประกันชีวิตได้เลย
ศึกษารายละเอียด เงื่อนไข พร้อมเปรียบเทียบแผนประกันที่ใช่ทางเว็บไซต์ของเราได้เลย
ข้อมูลอ้างอิง