เลือกภาษา
close
ปวดหัวจากความดันสูงต้องรีบเช็กอาการ

ทำความรู้จัก พร้อมสำรวจอาการความดันสูงว่าเป็นอย่างไร ?

ปวดหัวบ่อย รู้สึกเหมือนมีอะไรบีบศีรษะ อาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเตือนของ “โรคความดันโลหิตสูง” ภัยร้ายที่ควรระวัง โดยบทความนี้จะพาไปรู้จักกับโรคความดันโลหิตสูงให้มากขึ้น พร้อมหาคำตอบว่าหากปวดหัวจากปัญหาความดันสูงจะมีวิธีแก้อย่างไร ?

 

โรคความดันโลหิตสูงมีกี่ชนิด ?

ความดันโลหิตสูง หรือไฮเปอร์เทนชัน (Hypertension) เป็นภาวะที่ความดันของเลือดที่ไหลผ่านผนังหลอดเลือดแดงสูงผิดปกติ แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ดังนี้

  • ความดันโลหิตสูงชนิดปฐมภูมิ (Primary หรือ Essential hypertension)
    เป็นชนิดที่พบได้ทั่วไปและพบได้บ่อยที่สุด คิดเป็น 90-95% ของผู้ป่วยความดันโลหิตสูงทั้งหมด ซึ่งมักพบในกลุ่มที่มีอายุ 40 ถึง 50 ปี โดยไม่มีสาเหตุที่ชัดเจน แต่ความเสี่ยงของโรคนี้จะเพิ่มสูงขึ้นตามอายุ พันธุกรรม รวมถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิต

  • ความดันโลหิตสูงชนิดทุติยภูมิ (Secondary hypertension)
    เป็นภาวะความดันโลหิตสูง ที่เกิดจากสาเหตุของโรคที่ส่งผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคไต โรคเบาหวาน โรคต่อมไทรอยด์ โดยมักเกิดในกลุ่มคนในช่วงอายุก่อน 30 ปี หรือหลัง 50 ปีเป็นต้นไป

 

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง

เมื่ออายุมากขึ้น เส้นเลือดจะเสื่อมตามวัยและอาจส่งผลให้เกิดความดันโลหิตสูง ซึ่งพบได้บ่อยถึง 1 ใน 5 ของคนไทย ด้วยปัจจัย ดังนี้

  • ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้

    • พันธุกรรม หากมีบุคคลในครอบครัวเป็นโรคความดันโลหิตสูง มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มากกว่าคนทั่วไป

    • เพศ เพศชายมีโอกาสเป็นโรคความดันโลหิตสูงมากกว่าเพศหญิง โดยเฉพาะหลังอายุ 45 ปี

    • อายุ ความเสี่ยงในการเป็นโรคความดันโลหิตสูงจะเพิ่มสูงขึ้นตามอายุ

  • ปัจจัยที่ควบคุมได้

    • น้ำหนักตัว ผู้ที่มีภาวะน้ำหนักตัวเกินหรืออ้วน มีความเสี่ยงต่อการเป็นความดันโลหิตสูง

    • การกิน เช่น การกินอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว เกลือ โซเดียมสูง หรือการได้รับผักและผลไม้ไม่เพียงพอ

    • การสูบบุหรี่ เนื่องจากสารเคมีในบุหรี่จะส่งผลเสียต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด

    • พฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ความเครียด รวมถึงการพักผ่อนไม่เพียงพอ ล้วนส่งผลต่อการเกิดความดันโลหิตสูงทั้งสิ้น

 

สัญญาณเตือนอาการความดันสูง เป็นอย่างไร ?

  • ปวดหัวตุ้บ อาการปวดหัวจากความดันสูงเป็นอาการที่พบได้บ่อย ซึ่งมักเกิดขึ้นบริเวณขมับ หรือท้ายทอย และอาจร้าวไปถึงใบหน้า ลำคอ หลัง

  • เลือดกำเดาไหล เนื่องจากความดันโลหิตสูงอาจทำให้เส้นเลือดฝอยในจมูกแตก จนเกิดเลือดกำเดาไหล

  • คลื่นไส้ อาเจียน ภาวะความดันโลหิตสูง อาจส่งผลต่อระบบประสาท กระตุ้นให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน

  • เหนื่อยหอบ โรคความดันโลหิตสูง อาจทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น ส่งผลให้เกิดอาการเหนื่อยหอบได้มากกว่าปกติ

 

 

เช็กด่วน ! ความดันแค่ไหนถึงปกติ ?

หากพบว่ามีอาการปวดหัว และกลัวว่าจะเป็นโรคความดันสูง รวมถึงมีภาวะของอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ให้ลองตรวจเช็กค่าความดันโลหิต โดยค่าความดันโลหิตจะสามารถบ่งบอกถึงความดันของเลือดที่ไหลผ่านผนังหลอดเลือดแดง ซึ่งสามารถใช้เครื่องวัดความดันโลหิตในการตรวจเช็กด้วยตนเอง โดยพิจารณาจากหน้าจอที่จะแสดงตัวเลข 2 ค่า ดังนี้

  • ค่าความดันโลหิตตัวบน (Systolic blood pressure) เป็นค่าความดันสูงสุดที่เกิดขึ้นเมื่อหัวใจบีบตัว

  • ค่าความดันโลหิตตัวล่าง (Diastolic blood pressure) เป็นค่าความดันต่ำสุดที่เกิดขึ้นเมื่อหัวใจคลายตัว

  • โดยทั่วไป ค่าความดันโลหิตปกติของผู้ที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป จะมีค่าความดันโลหิตตัวบนอยู่ที่ 120 - 129 มม.ปรอท และมีค่าความดันโลหิตตัวล่างอยู่ที่ 80 - 84 มม.ปรอท ซึ่งสามารถเช็กค่าความดันโลหิตเพิ่มเติมได้จากตารางนี้

 

ระดับความดันโลหิต

ค่าความดันโลหิตตัวบน

(มม.ปรอท)

ค่าความดันโลหิตตัวล่าง

(มม.ปรอท)

ความดันโลหิตที่ดี

น้อยกว่า 120

น้อยกว่า 80

ความดันโลหิตปกติ

120 - 129

80-84

ความดันโลหิตค่อนข้างสูง

130 - 139

85 - 89

ความดันโลหิตสูงเล็กน้อย

140 - 159

90 - 99

ความดันโลหิตสูงปานกลาง

160 - 179

100 - 109

ความดันโลหิตสูงมาก

สูงกว่า 180

สูงกว่า 110

 

โดยค่าความดันโลหิตที่วัดได้อาจสูงกว่าปกติเล็กน้อยในบางกรณี เช่น หลังออกกำลังกาย หลังทานอาหาร ซึ่งหากวัดแล้วได้ระดับความดันโลหิตที่ค่อนข้างสูงอย่างต่อเนื่อง หรือค่าตัวบนอยู่ที่ 130 - 139 และค่าด้านล่างอยู่ที่ 85 - 89 มม.ปรอท ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย เพื่อให้รู้ว่าผู้ป่วยมีความดันโลหิตสูงหรือไม่ โดยพิจารณาจากค่าความดันโลหิตโดยรวม อาการ ปัจจัยเสี่ยง รวมถึงโรคประจำตัว

 

ผลกระทบและโรคแทรกซ้อนจากการมีความดันโลหิตสูง

หากเกิดอาการปวดหัวจากความดันสูงแล้วไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกายได้ ดังนี้

  • ระบบหัวใจและหลอดเลือด เนื่องจากกล้ามเนื้อหัวใจต้องทำงานหนักมากขึ้นเพื่อสูบฉีดเลือดต้านแรงดันที่สูง ซึ่งส่งผลเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวและการเต้นของหัวใจ

  • ระบบไต เนื่องจากไตต้องทำงานหนักเกินไปเพื่อกรองของเสีย จนอาจสูญเสียหน้าที่การทำงาน กลายเป็นโรคไตเรื้อรัง

  • ระบบตา อาจส่งผลให้หลอดเลือดฝอยที่จอประสาทตาเสื่อม จนทำให้มองเห็นภาพไม่ชัด ตาพร่ามัว อีกทั้งยังเสี่ยงต่อโรคจอประสาทตาเสื่อม

  • ระบบอื่น ๆ เช่น หลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ ส่งผลต่อการไหลเวียนเลือดไปยังแขน ขา รวมถึงการเกิดภาวะสมองเสื่อม

 

วิธีบรรเทาอาการปวดหัว ลดความดัน

อาการปวดหัวเนื่องจากความดันโลหิตสูง เป็นปัญหาสุขภาพที่พบบ่อย ซึ่งสามารถสร้างความรำคาญและส่งผลต่อคุณภาพชีวิต การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมจะสามารถบรรเทาอาการได้ โดยมีวิธีบรรเทาอาการปวดหัว ลดความดัน ดังนี้

  • ปรับพฤติกรรมการกิน เน้นการลดเกลือ เนื่องจากเกลือมีโซเดียมที่ส่งผลโดยตรงต่อโรคความดันโลหิตสูง ควรลดการบริโภคเกลือให้น้อยกว่า 6 กรัมต่อวัน และเลือกกินอาหารที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น กล้วย มันฝรั่ง ผักใบเขียว เพื่อช่วยขับโซเดียมออกจากร่างกาย

  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 30 นาที โดยทำประจำ 3 - 5 วันต่อสัปดาห์ เพื่อเสริมสร้างสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด ช่วยลดความดันโลหิต

  • จัดการความเครียด เนื่องจากความเครียดส่งผลต่อความดันโลหิตโดยตรง จึงควรหาวิธีผ่อนคลาย เช่น ฝึกสมาธิ โยคะ ฟังเพลง หรือออกไปเที่ยวเล่น

  • พักผ่อนให้เพียงพอ โดยควรนอนหลับพักผ่อนอย่างน้อย 7-8 ชั่วโมงต่อวัน

  • หมั่นตรวจวัดความดัน เนื่องจากการตรวจวัดความดันโลหิตเป็นประจำ จะช่วยให้รู้ระดับความดันโลหิต ติดตามผลการรักษา รวมถึงสามารถป้องกันภาวะแทรกซ้อนได้ทันท่วงที โดยควรตรวจวัดความดันโลหิตอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง หรือตามคำแนะนำของแพทย์

 

การดูแลร่างกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้สามารถป้องกันและหาวิธีรักษาได้อย่างทันท่วงที แต่ในบางครั้งความเจ็บป่วยก็เกิดขึ้นได้โดยไม่คาดฝัน หากต้องการเพิ่มความมั่นใจให้สามารถต่อสู้กับโรคภัยได้อย่างไร้กังวล การเลือกซื้อประกันสุขภาพเอาไว้แต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้สามารถรับมือกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องเงิน ด้วยความคุ้มครองที่หลากหลาย ครอบคลุมทั้งค่าห้อง ค่ายา หรือค่ารักษาพยาบาล ไม่ว่าการเจ็บป่วยแบบไหน ก็พร้อมดูแลคุณอย่างดีที่สุด เลือกแผนประกันที่เหมาะกับความต้องการของคุณจากพรูเด็นเชียล ประกันชีวิตเลย หรือกรอกข้อมูลในแบบฟอร์มบนเว็บไซต์เพื่อให้ตัวแทนของเราติดต่อกลับไปได้เลย 

 

ข้อมูลอ้างอิง

  1. ความดันโลหิตสูงอย่าปล่อยไว้ อันตรายกว่าที่คิด

  2. ความดันโลหิตสูง (Hypertension)

  3. คุณเป็นความดันโลหิตสูงรึเปล่า?

  4. การวัดความดันโลหิตที่ถูกต้อง มีความสำคัญต่อการวินิจฉัย