เผยวิธีซื้อประกันเพื่อลดหย่อนภาษี พร้อมวิธีการคำนวณภาษีฉบับปี 2566
เมื่อใดก็ตามที่เรามีรายได้ ไม่ว่าการคำนวณภาษีออกมาแล้วนั้นเข้าข่ายที่จะต้องเสียภาษีหรือไม่ก็ตาม การยื่นภาษีเป็นสิ่งที่ทุกคนควรทำ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การเสียภาษีเงินได้ อาจทำให้ใครหลายคนรู้สึกใจหายเล็กๆ กับเงินก้อนที่หามา แต่รู้กันหรือไม่ว่า การซื้อประกัน ก็เป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยในการลดหย่อนภาษีได้ โดยไม่ต้องไปหาวิธีเลี่ยงแบบอื่นที่ไม่ถูกต้อง สำหรับใครที่ยังไม่รู้ว่าการซื้อประกันแบบไหนช่วยลดหย่อนได้บ้าง วันนี้เรามีมาบอกพร้อมวิธีคำนวณภาษีแบบครบจบ
ประกันแบบไหนบ้างที่สามารถช่วยลดหย่อนภาษีได้
ประกันชีวิตที่ช่วยลดหย่อนภาษีได้ แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ ประกันชีวิตแบบทั่วไป ประกันชีวิตแบบบำนาญ ประกันสุขภาพส่วนบุคคล และประกันสุขภาพของพ่อแม่ ซึ่งแต่ละประเภท จะมีรายละเอียดแยกย่อยลงไปตามรูปแบบกรมธรรม์ที่แตกต่างกัน แต่อ่านแล้วอย่าเพิ่งถอดใจไป เพราะเราจะมาอธิบายแบบง่ายๆ ให้อ่านจบแล้วสมัครประกันเพื่อลดหย่อนภาษีได้ทันที
1.ประกันชีวิตแบบทั่วไป
อย่างที่ทราบกันดี ประกันชีวิตคือการคุ้มครองผู้ทำประกันจากการเสียชีวิต โดยจะมีการจ่ายค่าเบี้ยประกันตามรายละเอียดของกรมธรรม์ที่แตกต่างกันไป ซึ่งทั้งหมดสามารถนำมาช่วยในการลดหย่อนภาษีได้ ส่วนข้อแตกต่างของประกันประเภทนี้มีอะไรบ้าง มาเปรียบเทียบกันดูดีกว่า
-
ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ (Whole Life) - เป็นประกันที่คุ้มครองตลอดชีวิต โดยต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันตามระยะเวลาที่กำหนด มีข้อดีคือ ค่าเบี้ยประกันถูก
-
ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา (Term Insurance) - เป็นประกันคุ้มครองในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ไม่มีเงินคืนระหว่างทาง และหากครบกำหนดระยะเวลาคุ้มครอง แต่ผู้ทำประกันยังมีชีวิตอยู่ ก็จะไม่ได้รับทุนประกันคืน
-
ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (Endowment) - เป็นประกันแบบออมเงิน ที่จะได้รับผลตอบแทนมากกว่าค่าเบี้ยที่จ่ายไป และยังครอบคลุมไปถึงการคุ้มครองชีวิต
ประกันชีวิตประเภทนี้ จะสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 100,000 บาท ตามจำนวนค่าเบี้ยประกันภัยที่ได้จ่ายจริง โดยจะมีเงื่อนไขว่ากรมธรรม์ประกันชีวิตต้องมีกำหนดเวลาตั้งแต่ 10 ปี ขึ้นไป และต้องทำประกันชีวิตไว้กับผู้รับประกันภัยที่ประกอบกิจการประกันชีวิตในไทย ตามหลักเกณฑ์เท่านั้น ในกรณีที่มีการจ่ายเงินคืนทุกปี จำนวนเงินต้องไม่เกิน 20% ของเบี้ยรายปี หรือหากเป็นการจ่ายคืนตามช่วงเวลา จำนวนเงินสะสมก็ต้องไม่เกิน 20% ของเบี้ยประกันชีวิตสะสมของแต่ละช่วงระยะเวลาที่ผู้รับประกันภัยกำหนดให้มีการจ่ายเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืน
หรือจะมีเพียงประกันชีวิตแบบควบคุมการลงทุนเท่านั้น ที่จะมีเงื่อนไขแตกต่างจากอีก 3 ประเภท โดยมีการแบ่งเบี้ยประกันออกเป็น 3 ส่วน คือ 1. ส่วนค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายของบริษัทประกัน 2. ส่วนความคุ้มครอง และ 3. ส่วนที่นำไปลงทุน ซึ่งจะมีเพียงส่วนเดียว คือ ส่วนความคุ้มครองที่จะถูกนำมาใช้ในการคำนวณภาษีเพื่อลดหย่อนได้
2.ประกันชีวิตแบบบำนาญ
คือประกันชีวิตที่จะการันตีรายได้หลังเกษียณ (อายุ 55 ปีขึ้นไป) โดยการจ่ายค่าเบี้ยประกันอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะครบอายุที่กำหนดในการรับเงินบำนาญ จึงจะได้รับการแบ่งจ่ายเป็นงวดรายปีจนครบสัญญา สามารถนำไปลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกิน 15% ของรายได้ หรือ 200,000 บาท และเมื่อนำไปรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่นๆ จะลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท (กองทุน RMF กองทุน SSF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ)
ในส่วนของเงื่อนไขประกันแบบบำนาญ จะคล้ายกันกับประกันชีวิตแบบทั่วไป คือ ระยะเวลาของการคุ้มครองของประกันต้องเกิน 10 ปีขึ้นไป และต้องทำกับบริษัทประกันในประเทศไทยเท่านั้น
3.ประกันสุขภาพส่วนบุคคล
ประกันสุขภาพก็สามารถนำมาช่วยลดหย่อนภาษีได้เหมือนกับประกันชีวิต แต่จะเป็นประกันสุขภาพประเภทที่คุ้มครองอะไรบ้างถึงจะเข้าข่ายในการนำมาลดหย่อนได้ มีเกณฑ์จำแนกได้ดังนี้
-
ประกันสุขภาพทั่วไป - เป็นประกันที่คุ้มครองการเจ็บป่วย บาดเจ็บ ต้องได้รับการรักษา และชดเชยเมื่อเกิดการสูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพ
-
ประกันอุบัติเหตุ - ประกันที่ชดเชยในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุหนัก คุ้มครองทั้งด้านการรักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายในการช่วยเหลือต่างๆ อย่างกรณีบาดเจ็บจนกระดูกหัก หรือถึงขั้นสูญเสียอวัยวะ
-
ประกันโรคร้ายแรง - เป็นการคุ้มครองในกรณีที่เกิดโรคร้ายแรง คุ้มครองในด้านค่าใช้จ่ายในการรักษา และดูแลที่ยาวนานกว่าโรคชนิดอื่น อย่างเช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง และโรคระบบประสาทอื่นๆ
-
ประกันการดูแลระยะยาว - เป็นประกันที่คุ้มครองบุคคลทุพพลภาพ ที่มีข้อจำกัดในการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งส่วนมากจะเป็นผู้สูงอายุที่ทำประกันประเภทนี้
เงื่อนไขของประกันสุขภาพที่นำมาคำนวณภาษีเพื่อการลดหย่อนนั้น สามารถลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบทั่วไปจะสามารถลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
4.ประกันสุขภาพของพ่อแม่
มีความเหมือนกับประกันสุขภาพที่เราทำให้ตัวเองทุกอย่าง เพียงแต่มีการกำหนดเงื่อนไขบางอย่างที่ไม่เหมือนกัน เช่น รายได้ของพ่อและแม่รวมกันต้องไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี ตัวผู้ทำประกันต้องเป็นลูกแท้ๆ ตามกฎหมาย ต้องมีเราหรือพ่อแม่คนใดคนหนึ่งอยู่ในไทยเกิน 180 วัน สามารถใช้ลดหย่อนสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท
วิธีการคำนวณภาษี
หากใครที่ยังไม่รู้ว่าจะคำนวณภาษีเงินได้อย่างไร เพื่อใช้ในการเลือกทำประกันในการลดหย่อนภาษี ใช้สูตรการคิดแบบนี้ได้เลย
การคำนวณภาษีแบบขั้นบันได
ในการคำนวณภาษีแบบขั้นบันไดนั้นต้องอิงตาม 8 ขั้นบันไดดังนี้
-
เงินได้สุทธิ 0-150,000 บาท : ได้รับการยกเว้นภาษี : ภาษีสะสมสูงสุดของขั้น 0 บาท
-
เงินได้สุทธิ 150,000-300,000 บาท : อัตราภาษี 5% : ภาษีสะสมสูงสุดของขั้น 0 บาท
-
เงินได้สุทธิ 300,001-500,000 บาท : อัตราภาษี 10% : ภาษีสะสมสูงสุดของขั้น 7,500 บาท
-
เงินได้สุทธิ 500,001-750,000 บาท : อัตราภาษี 15% : ภาษีสะสมสูงสุดของขั้น 27,500 บาท
-
เงินได้สุทธิ 750,001-1,000,000 บาท : อัตราภาษี 20% : ภาษีสะสมสูงสุดของขั้น 65,000 บาท
-
เงินได้สุทธิ 1,000,001-2,000,000 บาท : อัตราภาษี 25% : ภาษีสะสมสูงสุดของขั้น 115,000 บาท
-
เงินได้สุทธิ 2,000,001-5,000,000 บาท : อัตราภาษี 30% : ภาษีสะสมสูงสุดของขั้น 365,000 บาท
-
เงินได้สุทธิมากกว่า 5,000,000 บาท : อัตราภาษี 35% : ภาษีสะสมสูงสุดของขั้น 1,265,000 บาท
สูตรคำนวณ คือ เงินได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิ จากนั้นนำ เงินได้สุทธิ x อัตราภาษีตามขั้นบันได = เงินภาษีที่ต้องจ่าย
การคำนวณภาษีแบบเหมา หรือรายได้นอกจากเงินเดือน
หากมีรายได้หลายช่องทางเช่นการทำงานออนไลน์ การขายสินค้าออนไลน์หรือการทำงานแบบอิสระ
สูตรคำนวณ คือ (รายได้ทั้งหมด - เงินเดือนประจำ) x 0.5% = ภาษีที่ต้องจ่ายนั่นเอง
สรุปสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับแบบประกันแต่ละประเภท
หลังจากทราบความแตกต่างของประกันชีวิต และประกันสุขภาพแต่ละประเภทไปแล้ว เราจะมาสรุปสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้เข้าใจง่ายๆ ตามนี้
-
ประกันชีวิตแบบทั่วไป - ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 100,000 บาท ตามจำนวนที่จ่ายจริงกรมธรรม์ประกันชีวิตต้องมีกำหนดเวลาตั้งแต่ 10 ปี ขึ้นไป สัญญาต้องมีระยะเวลาคุ้มครองเกิน 10 ขึ้นไป หากมีการจ่ายเงินคืนทุกปี จำนวนเงินต้องไม่เกิน 20% ของเบี้ยรายปี หรือหากเป็นการจ่ายคืนตามช่วงเวลา ร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตสะสมของแต่ละช่วงระยะเวลาที่ผู้รับประกันภัยกำหนดให้มีการจ่ายเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนและต้องทำประกันชีวิตไว้กับผู้รับประกันภัยที่ประกอบกิจการประกันชีวิตในไทย ตามหลักเกณฑ์กรมสรรพากรกำหนด
-
ประกันชีวิตแบบบำนาญ - ลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกิน 15% ของรายได้ หรือ 200,000 บาท และเมื่อนำไปรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่นๆ จะลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท (กองทุน RMF กองทุน SSF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ)
-
ประกันสุขภาพส่วนบุคคล - ลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 25,000 บาท และต้องมีค่าเบี้ยประกันและเงินฝากรวมกับประกันชีวิตไม่เกิน 100,000 บาท
-
ประกันสุขภาพของพ่อแม่ - ลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท รายได้ของพ่อและแม่รวมกันต้องไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี ผู้เอาประกันภัยต้องเป็นบุตรสืบสายโลหิตจากบิดามารดาโดยตรงตามกฎหมาย ต้องมีตัวผู้เอาประกันภัย หรือบิดามารดาบุคคลใดบุคคลหนึ่งต้องอยู่ในประเทศไทยเกิน 180 วัน
อย่างไรก็ดี สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี เป็นเพียงผลประโยชน์รองที่ได้รับจากการทำประกันชีวิต และประกันสุขภาพเพียงเท่านั้น จึงควรให้ความสำคัญกับความคุ้มครองหลักที่ได้รับจากประกันภัยมากกว่า