เช็คลิสต์ค่าลดหย่อนภาษี ที่คุณควรรู้!
การเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เป็นหน้าที่ที่ผู้มีรายได้ทุกคนต้องทำเป็นประจำทุกปี ซึ่งกฎหมายได้กำหนดเกณฑ์การเสียภาษีเอาไว้อย่างชัดเจนตามรายได้สุทธิ แต่สำหรับผู้ที่ไม่อยากเสียภาษีเยอะ หรือต้องการรับเงินภาษีที่ถูกหักจากรายได้คืน ก็สามารถทำได้ด้วยการขอลดหย่อนภาษีด้วยวิธีต่าง ๆ ยิ่งถ้ามีการวางแผนภาษีอย่างเข้าใจตั้งแต่เนิ่น ๆ คุณก็จะมีโอกาสเสียภาษีน้อยลงตามไปด้วย
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มีรายได้ ไม่ว่าจะจากงานประจำ ฟรีแลนซ์ หรือช่องทางใด ๆ ก็ตาม และต้องการวางแผนลดหย่อนภาษี เรามีข้อควรรู้ ที่สามารถนำไปปรับใช้ได้ครบจบทุกประเด็น รับรองว่า ช่วยวางแผนภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างแน่นอน
วิธีคำนวณเงินได้สุทธิและอัตราการเสียภาษีของประเทศไทย
สำหรับวิธีการคำนวณภาษีของประเทศไทยนั้น จะเป็นแบบขั้นบันได กล่าวคือยิ่งมีรายได้มาก ก็ยิ่งต้องเสียภาษีมาก โดยสูตรในการคำนวณเงินได้สุทธิ จะเป็นการนำเงินได้ทั้งหมด มาหักลบกับค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนภาษีที่มีอยู่ แล้วจึงออกมาเป็นเงินได้สุทธิที่นำไปใช้ในการคำนวณภาษีตามอัตราที่กฎหมายกำหนด โดยมีสูตรการคำนวณเงินได้สุทธิ ดังนี้
ตารางคำนวณอัตราภาษีของประเทศไทย
ในส่วนของวิธีการคำนวณเงินภาษีที่ต้องจ่ายนั้น สามารถคำนวณได้โดยใช้สูตร [(เงินได้สุทธิ - เงินได้สุทธิของลำดับขั้นก่อนหน้า) x อัตราภาษีแบบ %] + ภาษีสะสมสูงสุดของลำดับขั้นก่อนหน้า
ตัวอย่างเช่น คุณ A มีเงินได้ 1,000,000 บาท มีค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนรวม 100,000 บาท ก็สามารถคำนวณเงินได้สุทธิของคุณ A ได้ว่า 1,000,000 - 100,000 = 900,000 บาท จากนั้นจึงนำมาคำนวณภาษีโดยใช้สูตรข้างต้น ได้เป็น
[(900,000 - 750,000) x 20%] + 65,000 = 95,000
ดังนั้น คุณ A จึงต้องเสียภาษีเป็นจำนวนเงิน 95,000 บาทนั่นเอง
ค่าลดหย่อนภาษีมีอะไรบ้าง?
รู้ข้อดีของการลดหย่อนกันแล้ว เชื่อว่าผู้มีรายได้ทุกคน คงอยากเริ่มต้นวางแผนเพื่อจะลดหย่อนภาษีในปีนี้กันแล้วอย่างแน่นอน โดยกรมสรรพากรกำหนดให้เราสามารถลดหย่อนได้ผ่าน 4 กลุ่มค่าใช้จ่ายด้วยกัน ได้แก่ กลุ่มส่วนตัวและครอบครัว กลุ่มประกัน เงินออม และการลงทุน กลุ่มเงินบริจาค และกลุ่มโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ ซึ่งแต่ละกลุ่มก็มีรายละเอียดที่แตกต่างกันไป ดังนี้
ค่าใช้จ่ายกลุ่มส่วนตัวและครอบครัว
พูดง่าย ๆ ก็คือค่าใช้จ่ายส่วนตัวและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในครอบครัว ได้แก่
-
ค่าใช้จ่ายส่วนตัว จำนวน 60,000 บาท
-
ค่าลดหย่อนคู่สมรส กรณีแต่งงานแล้วและคู่สมรสไม่มีรายได้ จำนวน 60,000 บาท
-
ค่าลดหย่อนบุตรอายุไม่เกิน 20 ปี หรือไม่เกิน 25 ปี กรณีที่ยังศึกษาอยู่ จำนวน 30,000 บาทต่อคน หากมีบุตรคนที่ 2 เป็นต้นไป และเกิดตั้งแต่ปีพ.ศ. 2561 ลดหย่อนได้ 60,000 บาทต่อคน
-
ค่าใช้จ่ายในการฝากครรภ์และคลอดบุตร คำนวณตามจริง แต่ต้องไม่เกิน 60,000 บาท
-
ค่าเลี้ยงดูบิดามารดาของตนเองและคู่สมรส และมีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป คนละ 30,000 บาท
-
ค่าลดหย่อนกรณีอุปการะผู้พิการหรือทุพพลภาพ คนละ 60,000 บาท
ค่าใช้จ่ายกลุ่มประกัน เงินออม และการลงทุน
เป็นอีกหนึ่งค่าใช้จ่ายที่ได้รับความนิยมในหมู่ผู้ที่ต้องการลดหย่อน เพราะนอกจากจะได้เงินภาษีคืนแล้ว ยังได้รับผลประโยชน์ในการคุ้มครองชีวิตและสุขภาพ รวมถึงได้ออมเงินผ่านการลงทุนในกองทุนต่าง ๆ ด้วย ดังนี้
-
เบี้ยประกันสุขภาพ ลดหย่อนได้สูงสุด 25,000 บาท
-
เบี้ยประกันชีวิตและประกันสะสมทรัพย์ ลดหย่อนได้สูงสุด 100,000 บาท
แต่เมื่อนำเบี้ยประกันชีวิต ประกันสะสมทรัพย์ และประกันสุขภาพมารวมกันแล้ว ต้องไม่เกิน 100,000 บาท
นอกจากประกันชีวิตและประกันสุขภาพของตนเองแล้ว เรายังสามารถนำรายจ่ายที่เกิดจากการลงทุนด้านอื่น ๆ มาลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมได้อีกด้วย โดยในหมวดหมู่นี้ สามารถลดหย่อนรวมกันได้ทั้งหมดไม่เกิน 500,000 บาท ได้แก่
-
เบี้ยประกันสังคม ลดหย่อนได้สูงสุด 9,000 บาท
-
เบี้ยประกันสุขภาพของบิดามารดา ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุด 15,000 บาทต่อคน
-
การลงทุนในกองทุน Thai ESG ลดหย่อนได้สูงสุด 300,000 บาท แต่ต้องไม่เกิน 30% ของเงินได้
-
การลงทุนในธุรกิจ Social Enterprise ลดหย่อนได้สูงสุด 100,000 บาท
-
การลงทุนในกองทุน RMF ลดหย่อนได้สูงสุด 500,000 บาท แต่ต้องไม่เกิน 30% ของเงินได้
-
การลงทุนในกองทุน SSF ลดหย่อนได้สูงสุด 200,000 บาท แต่ต้องไม่เกิน 30% ของเงินได้
-
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน ลดหย่อนได้สูงสุด 500,000 บาท แต่ต้องไม่เกิน 15% ของเงินได้
-
กองทุนบำเหน็จข้าราชการ ลดหย่อนได้สูงสุด 500,000 บาท แต่ต้องไม่เกิน 30% ของเงินได้
-
เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ลดหย่อนได้สูงสุด 200,000 บาท แต่ต้องไม่เกิน 15% ของเงินได้
-
กองทุนการออมแห่งชาติ ลดหย่อนได้สูงสุด 30,000 บาท
ค่าใช้จ่ายกลุ่มโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ
ค่าใช้จ่ายกลุ่มโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ อาจมีความเปลี่ยนแปลงไปตามนโยบายในแต่ละปี เช่น
- โครงการช้อปดีมีคืน หรือ โครงการ Easy e-Receipt ลดหย่อนได้สูงสุด 50,000 บาท
- ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อบ้านหรือที่อยู่อาศัย ลดหย่อนได้สูงสุด 100,000 บาท
- ค่าลดหย่อนเที่ยวเมืองรอง 2567 ลดหย่อนได้สูงสุด 15,000 บาท
ค่าใช้จ่ายกลุ่มเงินบริจาค
เงินบริจาคในที่นี้ หมายถึงการบริจาคเงินให้กับองค์กรและหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลของรัฐ วัด หรือหน่วยงานอื่น ๆ ประกอบด้วย 3 หมวดด้วยกัน
-
เงินบริจาคทั่วไป ลดหย่อนได้เท่าที่จ่ายตามจริง สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อนแล้ว
-
เงินบริจาคเพื่อการศึกษา การกีฬา การพัฒนาสังคม สถานพยาบาลของรัฐ และประโยชน์สาธารณะ ลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินบริจาคจริง สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อนแล้ว
-
เงินบริจาคให้พรรคการเมือง ลดหย่อนได้สูงสุด 10,000 บาท
เอกสารลดหย่อนภาษีที่ต้องเตรียม
สุดท้าย หากต้องการลดหย่อนภาษี สิ่งที่คุณต้องมีก็คือเอกสารสำคัญต่าง ๆ โดยเอกสารที่จำเป็นในการลดหย่อน ได้แก่
-
หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือ 50 ทวิ
-
เอกสารที่เกี่ยวข้อง เช่น ใบกำกับภาษี หนังสือรับรองการจ่ายเบี้ยประกันชีวิตและประกันสุขภาพ หนังสือรับรองการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน RMF หนังสือรับรองดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัย
เตรียมเอกสารครบแล้ว ก็สามารถยื่นภาษีผ่านช่องทางออนไลน์ หรือนำเอกสารไปยื่นที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ได้เลย เพียงเท่านี้ คุณก็จะได้รับเงินภาษีคืนมาเพื่อต่อยอดการลงทุนหรือใช้จ่ายในเรื่องจำเป็นแล้ว
หากคุณกำลังวางแผนภาษีในปีนี้ แล้วต้องการซื้อประกันสุขภาพและประกันชีวิตเพื่อลดหย่อนภาษี ที่พรูเด็นเชียล ประกันชีวิต เรามีผลิตภัณฑ์ประกันที่ครอบคลุมทุกความต้องการ เลือกซื้อประกันและอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของเรา สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เบอร์ 1621
ข้อมูลอ้างอิง:
-
สรุปวิธีคำนวณภาษี ปี 2566: จับมือสอนตั้งแต่เริ่มต้น ครบจบทุกขั้นตอน. สืบค้นเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2568 จาก https://www.finnomena.com/z-admin/tax-computation/
-
ค่าลดหย่อน (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา). สืบค้นเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2568 จาก https://www.itax.in.th/pedia/ค่าลดหย่อน/