เลือกภาษา
close
หาคำตอบ ตรวจสุขภาพประกันสังคม ตรวจอะไรบ้าง ?
เคล็ด (ไม่) ลับ น่ารู้ - พรูเด็นเชียล ประกันชีวิต

ตรวจสุขภาพประจำปี ประกันสังคม พร้อมสิทธิ์ตรวจฟรี 14 รายการ

การดูแลสุขภาพเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม การตรวจสุขภาพจึงเป็นหนึ่งในวิธีที่ช่วยป้องกันโรคและดูแลร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจกังวลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการตรวจสุขภาพที่มักมีราคาสูง แต่รู้หรือไม่ว่า สำหรับผู้ประกันตนที่อยู่ภายใต้ระบบประกันสังคม สามารถไปใช้สิทธิ์ตรวจสุขภาพของประกันสังคมได้ฟรีตามเงื่อนไขที่กำหนด โดยสามารถไปใช้บริการได้ที่โรงพยาบาลของรัฐทุกแห่งและโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมกับสำนักงานประกันสังคม 

 

สิทธิประโยชน์ที่ควรรู้ ! ตรวจสุขภาพประกันสังคม ตรวจอะไรบ้าง ?

สิทธิ์ประกันสังคมในการตรวจร่างกายถือเป็นสิทธิพื้นฐานที่ผู้ประกันตนควรใช้ให้ครบทุกปี เพื่อป้องกันและวินิจฉัยโรคตั้งแต่ระยะแรก ทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงจากโรคร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งปัจจุบันเราสามารถใช้สิทธิ์ตรวจสุขภาพประจำปีผ่านประกันสังคมที่ครอบคลุมถึง 14 รายการ ได้แก่ 

1. การทดสอบการได้ยิน Finger Rub Test

การตรวจการได้ยิน เป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ที่ต้องการประเมินความสามารถในการได้ยินเสียงที่อาจลดลงเนื่องจากอายุที่เพิ่มขึ้น หรือปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การทำงานในที่เสียงดังต่อเนื่อง โดยควรตรวจอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อเฝ้าระวังปัญหาการได้ยินที่อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต

2. การตรวจเต้านมโดยแพทย์ หรือบุคลากรสาธารณสุข

มะเร็งเต้านม เป็นหนึ่งในโรคที่พบได้บ่อยในผู้หญิง การตรวจเต้านมจะช่วยค้นหาความผิดปกติตั้งแต่ระยะเริ่มต้น โดยเฉพาะผู้หญิงอายุ 30-39 ปี ซึ่งควรตรวจทุก 2 ปี และผู้ที่อายุ 40 ปีขึ้นไป ที่ควรได้รับการตรวจปีละครั้ง เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาและลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนในระยะยาว 

3. การตรวจตา

ปัญหาสายตาและโรคตา เช่น ต้อหินและต้อกระจก มักพบในกลุ่มผู้สูงอายุ โดยผู้ที่มีอายุ 40-54 ปี ควรตรวจทุก 2 ปี และอายุ 55 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจปีละครั้ง เพื่อช่วยป้องกันโรคที่อาจทำให้เกิดการสูญเสียการมองเห็นถาวรหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ซึ่งจะสามารถป้องกันได้ด้วยการตรวจภายใต้การดูแลของจักษุแพทย์

4. การตรวจปัสสาวะ Urine Analysis

การตรวจปัสสาวะช่วยคัดกรองโรคเกี่ยวกับไต ระบบทางเดินปัสสาวะ รวมถึงโรคเบาหวานที่อาจไม่แสดงอาการในระยะแรก โดยผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไปควรตรวจปีละครั้ง เพื่อให้สามารถเฝ้าระวังและป้องกันโรคที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

5. การตรวจการทำงานของไต Creatinine และ eGFR

การตรวจนี้จะช่วยวินิจฉัยโรคไตในระยะเริ่มต้น ซึ่งอาจเกิดจากโรคเบาหวานหรือความดันโลหิตสูง ผู้ที่อายุ 35 ปีขึ้นไปควรตรวจปีละครั้ง เพื่อตรวจสอบการทำงานของไตและวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสมหากพบปัญหา 

6. การถ่ายภาพรังสีทรวงอก (Chest X-ray)

เหมาะสำหรับการคัดกรองโรคเกี่ยวกับปอดและระบบทางเดินหายใจ เช่น วัณโรค หรือโรคมะเร็งปอด โดยผู้ที่อายุ 15 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจทุก 3 ปี เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจตั้งแต่เนิ่น ๆ 

7. การตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง FIT test

มะเร็งลำไส้เป็นโรคที่สามารถรักษาได้หากตรวจพบในระยะแรก ซึ่งการตรวจหาเลือดในอุจจาระจะช่วยค้นพบความผิดปกติของลำไส้ได้ตั้งแต่เริ่มต้น จึงช่วยลดความเสี่ยงจากโรคร้ายแรงประเภทนี้ โดยผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปควรตรวจปีละครั้ง 

8. การตรวจน้ำตาลในเลือด Fasting Blood Sugar

โรคเบาหวานมักเกิดจากการบริโภคน้ำตาล หรืออาหารที่มีไขมันสูง ผู้ที่อายุ 35 ปีขึ้นไป ควรตรวจปีละครั้ง เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันการเกิดโรคเบาหวาน รวมถึงภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด 

9. การตรวจดูความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด CBC

การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดช่วยวินิจฉัยโรคโลหิตจาง การติดเชื้อ หรือปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน โดยแนะนำให้เพศหญิงอายุ 13-34 ปี และเพศชายอายุ 15-34 ปี ทำการตรวจ และผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ควรตรวจปีละครั้ง 

10. การตรวจไขมันในเลือดชนิด Total Cholesterol & HDL

การตรวจนี้เหมาะสำหรับผู้ที่อายุ 20-34 ปี ซึ่งควรทำการตรวจทุก 5 ปี และผู้ที่อายุ 35 ปีขึ้นไป ควรตรวจปีละครั้ง เพื่อคัดกรองความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด ทำให้สามารถวางแผนดูแลสุขภาพในระยะยาวได้ดียิ่งขึ้น 

11. การตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบ HBsAg

ไวรัสตับอักเสบบีเป็นสาเหตุของโรคตับแข็งและมะเร็งตับ โดยผู้ที่มีอายุมากกว่า 34 ปี ควรตรวจปีละครั้ง เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากโรคไวรัสตับอักเสบบี 

รายการที่ 12-14 การตรวจหามะเร็งปากมดลูก

หญิงอายุ 30 ปีขึ้นไป ควรตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง เพื่อช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสการรักษามะเร็งปากมดลูกให้ได้ผลดี ได้แก่ 

  • HPV DNA Test : ควรตรวจทุก 5 ปี เพื่อค้นหาเชื้อไวรัส HPV ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของมะเร็งปากมดลูก 

  • Pap Smear : ควรตรวจทุก 3 ปี เพื่อตรวจหาเซลล์ผิดปกติในระยะเริ่มต้น 

  • VIA (Visual Inspection with Acetic Acid) : ควรตรวจทุก 5 ปี สำหรับผู้ที่อายุ 30-54 ปี 

 

ผู้หญิงกำลังตรวจสุขภาพประจําปี ด้วยสิทธิ์ประกันสังคม

 

ทำไมการตรวจสุขภาพประจำปีจึงสำคัญ ?

การตรวจสุขภาพเป็นเครื่องมือสำคัญในการค้นพบปัญหาสุขภาพตั้งแต่เนิ่น ๆ เนื่องจากหลายโรคอาจไม่มีอาการชัดเจนในระยะแรก เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือโรคมะเร็ง ดังนั้น การตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้เราสามารถรับการรักษาได้ทันที และลดความเสี่ยงจากโรคร้ายที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งการใช้สิทธิ์ในการตรวจสุขภาพประกันสังคมจะช่วยให้สามารถเข้าถึงการดูแลสุขภาพได้อย่างครอบคลุมโดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย 

 

ได้ทราบข้อมูลกันไปอย่างครบถ้วนแล้วว่า ประกันสังคมตรวจสุขภาพได้ไหม ครอบคลุมอะไรบ้าง ? ซึ่งนอกจากสิทธิประกันสังคมแล้ว การมีประกันสุขภาพส่วนตัว ก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ช่วยเติมเต็มความคุ้มครองด้านสุขภาพ เพื่อช่วยให้มั่นใจว่า จะได้รับการดูแลที่ครอบคลุมหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้น เลือกประกันสุขภาพ ไม่ต้องสำรองจ่าย* (ตามเงื่อนไขที่กำหนดกับโรงพยาบาลคู่สัญญา) กับพรูเด็นเชียล ประกันชีวิต เพื่อเสริมสร้างความมั่นคง ตรงกับความต้องการของคุณอย่างครบถ้วน พร้อมคุ้มครองให้สามารถต่อสู้กับโรคภัยได้อย่างไร้กังวล สนใจประกันสุขภาพ ไม่ต้องสำรองจ่าย คลิกเลย!

 

ข้อมูลอ้างอิง 

  1. รายการบริการตรวจสุขภาพประจำปีสำหรับผู้ประกันตน 14 รายการ