เลือกภาษา
close
โฟกัสพี่คนโตอย่างไร เมื่อมีน้องใหม่เพิ่งเกิด

โฟกัสพี่คนโตอย่างไร เมื่อมีน้องใหม่เพิ่งเกิด

การมีสมาชิกใหม่เข้ามาในครอบครัวถือเป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นและเต็มไปด้วยความสุข แต่สำหรับลูกคนโตแล้ว อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายในการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ ทำให้พ่อแม่ต้องเผชิญกับความท้าทายในการจัดการกับความรู้สึกของลูกคนโต สำหรับเด็กบางคน ความคิดที่ว่าพ่อแม่จะต้องแบ่งความรักไปให้น้อง อาจทำให้เกิดความรู้สึกไม่มั่นคงหรือความกลัวว่าจะสูญเสียความรักที่เคยได้รับ การที่พ่อแม่ให้ความสำคัญและดูแลลูกคนโตในช่วงนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะช่วยให้ลูกคนโตปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงในครอบครัวได้อย่างราบรื่น และรู้สึกว่าเขายังเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของครอบครัวอยู่

 

เมื่อรู้ตัวว่ากำลังจะมีน้อง…เตรียมพร้อมบอกลูกอย่างไร

  • อธิบายสถานการณ์และสร้างความเข้าใจ เริ่มต้นด้วยการพูดคุยกับลูกคนโตเกี่ยวกับการมาถึงของสมาชิกใหม่ในครอบครัว ให้ลูกคนโตรับรู้และอธิบายข้อดีของการมีน้อง ถึงแม้ครอบครัวของเราจะมีน้องเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ พ่อและแม่ก็ยังรักและเป็นห่วงลูกเหมือนเดิม

  • สร้างความตื่นเต้นและมีส่วนร่วม พ่อแม่ควรชวนลูกคนโตให้มีส่วนร่วมในการเตรียมตัวรับน้อง เช่น จัดห้องใหม่ให้น้อง เปิดโอกาสให้ได้ใกล้ชิดกับน้องในท้อง หรือพ่อแม่ชวนไปเลือกซื้อของใช้สำหรับน้อง เพื่อให้ลูกคนโตรู้สึกว่าตนเองมีบทบาทสำคัญและได้รับการยอมรับในฐานะพี่ใหญ่

  • ไม่บังคับให้พี่เสียสละ แต่สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการแบ่งปัน เช่น ของเล่น เสื้อผ้า คอยสอนลูกคนโตถึงความสำคัญของการแบ่งปัน และควรให้ลูกคนโตตัดสินใจการให้เอง

  • เปิดโอกาสให้ลูกคนโตได้มีส่วนร่วมในการเลี้ยงน้อง เช่น ช่วยหยิบขวดนม เตรียมผ้าอ้อม เลือกเสื้อผ้า ให้ลูกคนโตได้มีส่วนในการแสดงความรักกับน้อง เช่น กอด หอม อ่านนิทาน กล่อมน้องนอน เป็นต้น

  • ให้ความสำคัญกับลูกคนโต ให้เขารับรู้ว่ายังเป็นที่รัก พ่อแม่ควรให้ความสำคัญกับลูกคนโตอย่างสม่ำเสมอ เช่น มีเวลาพิเศษในการทำกิจกรรมร่วมกัน หรือพูดคุยกับลูกคนโตอย่างใกล้ชิด เขาจะได้ไม่รู้สึกถูกมองข้าม และยังคงเป็นที่รักของทุกคนในครอบครัว

 

 

สัญญาณนี้...ที่พี่กำลังอิจฉาน้อง

จากลูกคนโตที่เคยได้รับความรักเต็ม ๆ ก็ถูกสมาชิกใหม่ในครอบครัวดึงความสนใจไป ความรัก ความสนใจ ที่เคยมีให้แค่พี่คนเดียว ก็ถูกแบ่งปัน พี่อาจรู้สึกว่าความรักหรือความสนใจจากพ่อแม่ลดลง อาจจะเกิดความสับสน วิตกกังวล ทำให้แสดงออกทางพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความอิจฉาน้องนั่นเอง

  • พฤติกรรมถอยหลังกลับ เช่น อยากดูดนมจากขวด ขอกลับไปใส่ผ้าอ้อม ปัสสาวะรดที่นอนหลังจากที่เคยควบคุมการปัสสาวะได้แล้ว หรือต้องการให้พ่อแม่ช่วยเหลือในเรื่องที่เคยทำได้เองแล้ว พฤติกรรมเหล่านี้ มักเป็นการเรียกร้องความสนใจจากพ่อแม่

  • แสดงอารมณ์โกรธและหงุดหงิดง่าย เด็กที่รู้สึกอิจฉาอาจแสดงออกด้วยการมีอารมณ์โกรธ หรือหงุดหงิดง่ายกับพ่อแม่หรือน้อง เขาอาจแสดงความไม่พอใจด้วยการร้องไห้ โวยวาย หรือทะเลาะกับพ่อแม่มากกว่าปกติ

  • แสดงความเป็นเจ้าของหรือปกป้องพ่อแม่เกินเหตุ บางครั้งลูกคนโตอาจพยายามแสดงความเป็นเจ้าของพ่อแม่มากขึ้น เช่น ตัวติดกับพ่อแม่ไม่ยอมห่าง เรียกร้องให้อุ้มตลอดเวลา ไม่ยอมนั่งใกล้น้อง นี่เป็นการแสดงออกถึงความรู้สึกว่าตนเองกำลังสูญเสียความสำคัญที่เคยมี

  • เปรียบเทียบตนเองกับน้อง ลูกคนโตอาจเริ่มเปรียบเทียบตัวเองกับน้อง เช่น พูดว่า "ทำไมแม่ไม่รักหนูเหมือนที่รักน้อง" หรือ "ทำไมน้องได้รับของเล่นมากกว่าหนู" การพูดเช่นนี้แสดงให้เห็นถึงความรู้สึกไม่มั่นคงในความรักและความสนใจจากพ่อแม่

 

 

สิ่งที่ลูกคนโตต้องการคือเวลาและการสนับสนุนจากครอบครัวในการปรับตัวกับสถานการณ์ใหม่นี้ ซึ่งอาจใช้เวลาพอสมควรในการที่จะเข้าใจว่า ความรักของพ่อแม่ไม่ได้แบ่งออกเป็นสองส่วน แต่กลับเพิ่มขึ้นในแบบที่ไม่สามารถนับได้ ลูกคนโตจะเรียนรู้ว่าการมีน้องไม่ได้หมายความว่าเขาจะสูญเสียอะไร แต่เป็นการเพิ่มความรักและความสัมพันธ์ที่มากขึ้นในครอบครัว เมื่อสามารถปรับตัวและยอมรับน้องใหม่ในครอบครัวได้ ความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องมักจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งและมีความหมาย พ่อแม่ต้องอดทนและให้ความรักอย่างสม่ำเสมอกับลูกทุกคน เพื่อให้ทุกคนรู้สึกว่าพวกเขาได้รับการยอมรับและรักอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่ต้องกังวลว่าจะสูญเสียสิ่งใดไป

 

ข้อมูลอ้างอิง

  1. วิธีรับมือ เมื่อพี่อิจฉาน้อง ที่เพิ่งเกิดใหม่

  2. รับมือ “พี่อิจฉาน้อง”...ปัญหาหนักอกของคุณแม่ตั้งครรภ์

  3. เตรียมพี่คนโตอย่างไร ไม่อิจฉาน้อง (ในท้อง)

  4. ปัญหาพี่อิจฉาน้อง..แก้ได้