เลือกภาษา
close
ผู้หญิงกุมหน้าอก รู้สึกเจ็บที่หัวใจ
เคล็ด (ไม่) ลับ น่ารู้ - พรูเด็นเชียล ประกันชีวิต

รู้ทันโรคหัวใจ ภัยของวัยทำงาน เข้าใจสาเหตุ เลี่ยงการเกิดโรค

เนื่องจากรูปแบบการใช้ชีวิตของคนวัยทำงานในยุคปัจจุบัน ที่ต้องเร่งรีบแข่งกับเวลา หลายคนจึงเลือกที่จะรับประทานอาหารที่สะดวกและรวดเร็ว จนมองข้ามถึงความเหมาะสมทางโภชนาการไป อีกทั้งยังไม่ค่อยได้ออกกำลังกายและขาดการดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสม ทำให้เมื่อต้องเจอกับความเครียดจากการทำงาน อาจทำให้ร่างกายอ่อนแอได้ ยิ่งถ้าใครเป็นนักดื่มและสูบบุหรี่เป็นประจำ พฤติกรรมเหล่านี้ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บได้มากมาย ซึ่งหนึ่งในโรคร้ายที่ต้องรวมอยู่ด้วยก็คือ โรคหัวใจ

หลายคนอาจมองว่าโรคหัวใจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้สูงวัยเท่านั้น แต่ในความจริงแล้ว คนในวัยทำงานก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคนี้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ใช้ชีวิตอย่างที่กล่าวไปข้างต้น รวมถึงคนที่มีคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ ก็สามารถได้รับการถ่ายทอดผ่านทางกรรมพันธุ์ได้ด้วยเช่นกัน

ดังนั้น เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้ให้มากขึ้น จะขอชวนทุกคนไปรู้ถึงอาการโรคหัวใจในระยะแรกและระยะอื่น ๆ ว่าเป็นอย่างไร พร้อมแนวทางการป้องกัน เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดโรคหัวใจให้ได้รู้กัน

 

โรคหัวใจมีกี่ชนิด มีอาการต่างกันอย่างไร?

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน

สาเหตุของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันเกิดจากการที่ผนังของหลอดเลือดเสื่อมสภาพหรือหนาตัวขึ้น เนื่องจากการอุดตันของไขมัน หินปูน รวมถึงเนื้อเยื่อที่เกิดจากการอักเสบในหลอดเลือด จนไปกีดขวางการไหลเวียนของเลือดที่วิ่งไปสู่หัวใจ

อาการของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน คือ รู้สึกเหนื่อยง่าย จุก แน่น เจ็บหน้าอก หายใจไม่ทัน เหงื่อออก ใจสั่น  มักเป็นตอนที่ต้องออกแรงทำกิจกรรมต่าง ๆ หากรุนแรงอาจทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายหรือหัวใจวายได้

โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะเกิดจากการมีกระแสไฟฟ้าที่ผิดปกติบางตำแหน่งในหัวใจ หรือเกิดไฟฟ้าลัดวงจรเล็ก ๆ เนื่องจากความเสื่อมสภาพของโครงสร้างที่นำไฟฟ้าในหัวใจ หรือการเจ็บป่วยด้วยโรคบางชนิด เช่น เส้นเลือดหัวใจตีบ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน และต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ คือหัวใจเต้นช้าหรือเร็วผิดปกติ ซึ่งถ้าหากอัตราการเต้นของหัวใจช้า ต่ำกว่า 40 ครั้ง/นาที หรือเร็วเกินไปมากกว่า 120 ครั้ง/นาที จะส่งผลให้เหนื่อยง่าย มึนงง ใจหวิว วูบ ความดันโลหิตต่ำและอาจเป็นลมหมดสติได้

โรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง

โรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงก็เป็นอีกหนึ่งโรคหัวใจที่สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น กรรมพันธุ์ โรคประจำตัว และภาวะต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน ต่อมไทรอยด์ทำงานมากกว่าปกติ โรคความดันโลหิตสูง โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเสื่อม หรือเคยได้รับการติดเชื้อที่หัวใจอย่างรุนแรงมาก่อน 

เมื่อมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงจะทำให้การบีบตัวของหัวใจลดลง ส่งผลให้การขนส่งออกซิเจนไปยังส่วนต่าง ๆ น้อยลงตามไปด้วย จึงทำให้รู้สึกเหนื่อยง่าย และเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด

สำหรับโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดเป็นโรคที่สามารถถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงคือ ผู้เป็นแม่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ และมีอาการเจ็บป่วยอื่น ๆ เช่น ไข้หวัด หัดเยอรมัน รวมถึงมีการใช้ยาบางชนิด เช่น ยากันชัก ยาไอบูโปรเฟน ยารักษาสิว อีกทั้งการดื่มแอลกอฮอล์หรือใช้สารเสพติด ยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคได้อีกด้วย

โดยอาการจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค แต่ที่พบได้ส่วนมาก คืออาการเขียว มีสีม่วงคล้ำที่เล็บ ริมฝีปากและเยื่อบุภายในช่องปาก หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว หายใจลำบาก เหนื่อยง่าย เหงื่อออกมาก และอ่อนเพลีย หากเกิดกับเด็กทารก จะมีภาวะดื่มนมได้น้อย และไม่เจริญเติบโต

โรคลิ้นหัวใจ

โรคลิ้นหัวใจสามารถแบ่งได้เป็นโรคลิ้นหัวใจรั่ว และโรคลิ้นหัวใจตีบ มีสาเหตุมาจากความเสื่อมของลิ้นหัวใจตามอายุ การติดเชื้อโรครูมาติก รวมถึงการติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด และความผิดปกติของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ซึ่งความแตกต่างของโรคทั้ง 2 ชนิด มีดังนี้

โรคลิ้นหัวใจรั่ว คือลิ้นหัวใจปิดไม่สนิท มีรูรั่วหรือขาด ส่งผลให้การไหลเวียนเลือดในหัวใจลดลง จนหัวใจต้องทำงานหนักขึ้น

โรคลิ้นหัวใจตีบ คือลิ้นหัวใจเปิดและปิดได้ไม่สุด ส่งผลให้เลือดไหลเวียนเข้าออกห้องหัวใจได้ยาก เกิดความดันและปริมาณเลือดสะสมย้อนกลับไปสู่ห้องหัวใจและหลอดเลือด

ส่วนอาการที่เป็นผลจากโรค คือหายใจติดขัด เหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก นอนราบไม่ได้ ต้องลุกขึ้นหายใจช่วงกลางคืน หน้ามืด เป็นลม ใจสั่น และอาจมีความเสี่ยงที่หัวใจจะล้มเหลวหรือน้ำท่วมปอดได้

โรคติดเชื้อบริเวณหัวใจ

โรคติดเชื้อบริเวณหัวใจมักเกิดกับผู้ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจอยู่แล้ว โดยสามารถเกิดได้จาก 2 สาเหตุปัจจัย คือ การมีลิ้นหัวใจผิดปกติ เช่น ลิ้นหัวใจรั่วหรือลิ้นหัวใจตีบ และมีการติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งมีกลไกในการเกิดโรคคือเลือดต้องไหลเวียนผ่านลิ้นที่มีความผิดปกติ และเกิดการทำลายเยื่อบุลิ้น จนกลายเป็นพื้นผืนผิวที่ไม่เรียบและขรุขระ หากมีการติดเชื้อในกระแสเลือดเกิดขึ้น จะเข้าไปเกาะบริเวณที่ไม่เรียบตรงบริเวณนั้น จนก่อให้เกิดการติดเชื้อลุกลามตามมา

อาการที่พบได้หากมีการติดเชื้อบริเวณหัวใจ คือ มีไข้สูง หนาวสั่น อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อและตามข้อ อาจมีอาการเลือดกำเดาไหล หรือจุดแดงขึ้นตามตัวร่วมด้วย หากรุนแรงอาจมีภาวะหัวใจวาย อัมพาตครึ่งซีก หรือภาวะไตวายได้

 

สัญญาณเตือนโรคหัวใจเป็นอย่างไร?

สำหรับอาการโรคหัวใจในระยะแรก ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนว่าคุณมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจ คือ

  • มีอาการเจ็บหน้าอก เช่น แน่นหน้าอกเหมือนมีของหนักมากดทับ เจ็บหน้าอก ร้าวไปกราม ขากรรไกร คอ แขน ไหล่ หลัง และเจ็บหน้าอกนานกว่า 20 นาที

  • มีเหงื่อออก ตัวเย็น

  • เหนื่อยง่าย ออกกำลังกายได้ลดลง

  • ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ

  • เป็นลมหมดสติ

 

ผู้หญิงวิ่งออกกำลังกาย

 

การปรับพฤติกรรมป้องกันโรคหัวใจ

  • ควบคุมไขมันให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง

  • ควบคุมความดันและน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสหวาน หรือแป้ง น้ำตาล มากเกินไป

  • ออกกำลังกาย อย่างน้อย 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละ 40-50 นาที

  • งดบุหรี่และแอลกอฮอล์

 

ได้เข้าใจถึงอันตรายของโรคหัวใจกันไปแล้ว จะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด สำหรับใครที่อยากจะเริ่มหันมาใส่ใจสุขภาพ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ ยังสามารถเพิ่มความอุ่นใจด้วยประกันโรคร้ายแรง พรูโรคร้าย ซูเปอร์คุ้ม จาก พรูเด็นเชียล ประกันชีวิต ที่ดูแลเรื่องค่ารักษาพยาบาล หมดห่วงเรื่องเอาเงินเก็บมาจ่ายค่ารักษาพยาบาล เลือกซื้อผ่านทางออนไลน์ได้เลย

 

ข้อมูลอ้างอิง:

โรคหัวใจ โรคหัวใจมีกี่ชนิด?

5 โรคหัวใจที่คุณควรรู้ สาเหตุเกิดจากอะไร เช็กอาการเสี่ยงก่อนสาย!

โรคหัวใจ ใครเสี่ยง?

โรคหัวใจ มีกี่ชนิด