
ร่วงที่ผม แต่ปวดที่ใจ
ผมร่วง แก้ยังไงให้เอาอยู่
เชื่อหรือไม่ว่า จากสถิติ คนเรามีปัญหาผมร่วงมากยิ่งกว่าการเป็นสิวเสียอีก! โดยเฉพาะในผู้ชายมีสถิติผมร่วงถึง 2 ใน 3 คน ก่อนอายุ 35 ปี และผู้หญิงมีสถิติผมร่วง 1 ใน 2 คน ก่อนอายุ 50 ปี ซึ่งสาเหตุของอาการผมร่วง ส่วนใหญ่เกิดจาก ภาวะผมบางที่ส่งต่อจากพันธุกรรม และฮอร์โมน Androgenic Alopecia ซึ่งพบอยู่ประมาน 1 ใน 3 ของผู้ชาย และ 1 ใน 4 ของผู้หญิง ทำให้ผมบาง ผมร่วงหนัก ถึงขั้นหัวล้าน และเกิดความไม่มั่นใจในการใช้ชีวิต
แต่ก็มีอีกหลายสาเหตุที่มักเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเราเองด้วยเหมือนกัน เช่น
-
การอดอาหาร ดื่มน้ำน้อย เพราะเส้นผมของคนเรา 95% คือโปรตีน ดังนั้นเมื่อเราอดอาหารแบบหักดิบ ร่างกายจึงขาดโปรตีน และแร่ธาตุต่าง ๆ ไป
-
การทำสีผม ย้อมผม เมื่อเส้นผมได้รับความร้อนและสารเคมีในปริมาณมาก อาจทำให้หนังศรีษะแห้ง ผมไม่แข็งแรง อีกทั้งเมื่อผมยิ่งยาว น้ำหนักผมยิ่งเยอะ การทำสีผมบ่อย ๆ จะยิ่งเสี่ยงให้เกิดอาการผมร่วงมากกว่าปกติ
-
การตั้งครรภ์ เมื่ออุ้มท้อง คุณแม่จะต้องส่งต่อสารอาหารอย่างโปรตีนไปยังบุตร ก็ส่งผลให้ร่างกายคุณแม่ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ทำให้เกิดภาวะผมร่วงได้
-
ความเครียด นับว่าเป็นสาเหตุหลักยอดฮิตสำหรับวัยทำงาน เพราะเมื่อเราเกิดภาวะเครียด จะส่งผลให้ฮอร์โมนคอติซอล (ฮอร์โมนที่ก่อให้เกิดความเครียด) สูงขึ้น และทำให้ฮอร์โมน DHEA (ฮอร์โมนต่อต้านความเครียด) ลดลง เมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงนี้ ทำให้เราหลับพักผ่อนได้ไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้โกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) หรือฮอร์โมนชะลอความแก่ และฮอร์โมนซ่อมแซมร่างกาย (Repairing Hormone) หลั่งออกมาน้อยกว่าปกติ ส่งผลเสียต่อร่างกายหลายอย่าง เช่น เกิดรอยเหี่ยวย่นตามร่างกาย ผิวพรรณไม่ดี เส้นผมบาง ขาดหลุดร่วงง่าย ลามไปถึงหัวล้านเลยทีเดียว
-
โรค Metabolic Syndrome หรือภาวะอ้วนลงพุง ส่งผลให้เกิดโรคเบาหวาน ความดัน ไขมัน หรือโรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นอีกสาเหตุที่ส่งผลให้ฮอร์โมนในร่างกายทำงานผิดปกติ และทำให้ผมร่วงได้
ซึ่งนอกจากสาเหตุที่กล่าวมา ยังมีปัจจัยอื่น ๆ เช่น พฤติกรรมที่เป็นคนชอบดึงผม สระผมบ่อยเกินไป หวีผมขณะผมเปียก มัดผมแน่น หรือทำงานในสภาพแวดล้อมที่ต้องอยู่กับสารเคมี สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสาเหตุได้ทั้งสิ้น ซึ่งลักษณะของอาการผมร่วงนั้นจะแบ่งออกเป็น 2 แบบหลัก ๆ คือ
-
ร่วงจากเส้น สังเกตได้จากอาการผมแห้ง แตก หัก เพราะเส้นผมเปราะจากการทำสีผมบ่อย
-
ร่วงจากราก เกิดจากภาวะภายในร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น เกิดความเครียด และใช้ร่างกายหนัก ไม่ว่าจะเป็นการนอนน้อย การพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือออกกำลังกายแบบหักโหม
เมื่อรู้สาเหตุที่แท้จริงแล้ว เราจึงจะแก้ปัญหาผมร่วง ป้องกันหัวล้านในอนาคตให้ถูกจุดและได้ผล ไม่ว่าจะเป็นการปรับพฤติกรรมตัวเองในการใช้ชีวิตประจำวัน การเลือกรับประทานอาหาร หรือแก้ปัญหาด้วยวิธีการรักษาทางการแพทย์
1. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หรืออาหารเสริมที่มีวิตามินแร่ธาตุบำรุงเส้นผม
-
ไบโอติน ช่วยสร้างเซล์เนื้อเยื่อเส้นผมและเล็บ มีมากในธัญพืชและถั่วเมล็ดแห้ง เช่น ถั่วเหลือง อัลมอนด์ เมล็ดเชียร์ เห็ด กล้วยน้ำว้า บรอคโคลี
-
สังกะสี ช่วยเรื่องเอนไซม์และระบบช่วยย่อย เช่น ผักโขม เมล็ดทานตะวัน หอยนางรม
-
วิตามินซี เพื่อสร้างสารต้านอนุมูลอิสระ อย่างผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ส้ม มะขามป้อม มะนาว
-
ธาตุเหล็ก เพื่อให้เม็ดเลือดแดงไปหล่อเลี้ยงตามร่างกาย ที่มีอยู่ในผักคะน้า เต้าหู้ และถั่วต่าง ๆ
-
โฟลิก (วิตามินบี 9) ช่วยสร้างเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น หน่อไม้ฝรั่ง ผักโขม ส้ม มะนาว มะละกอ
2. ดูแลเอาใจใส่เส้นผม และหนังศีรษะเป็นพิเศษ
-
สระผมให้ถูกวิธี
วิธีสระผมที่ถูกต้อง คือ ไม่ควรสระผมด้วยน้ำที่ร้อนหรือเย็นจนเกินไป ควรสระผมสัปดาห์ละ 3 – 4 ครั้ง ไม่เกาศีรษะ ขณะสระผม เพื่อลดผมร่วง และลดการเกิดรังแค -
เลือกแชมพูและครีมนวดผม หรือทรีทเมนต์ที่ไม่มีสารเคมีอันตราย โดยการหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารกันเสีย ซัลเฟต และซิลิโคน เป็นต้น
-
หวีผมให้ถูกวิธี ใช้หวีที่มีปุ่มนวดผม หวีให้ถึงหนังศีรษะวันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 1 นาที ไม่กระชากผมขณะหวี และไม่หวีผมขณะที่ผมเปียก
-
หลีกเลี่ยงการใช้ความร้อนและสารเคมีกับเส้นผม เพราะความร้อนกับสารเคมี ทั้งจากการหนีบผม ไดร์ผม น้ำยายืดผม ดัดผม ย้อมผม เจลหรือสเปรย์เซ็ตผมชนิดต่างๆ ทำให้ผมเสีย เปราะ ขาด ทำให้ผมร่วงมาก และยังเกิดรังแค ทางที่ดีควรหลีกเลี่ยง หรือหากจำเป็นต้องใช้ความร้อนเพื่อจัดแต่งทรงผม ควรใช้สเปรย์ หรือเซรั่มกันความร้อนกับเส้นผมก่อน เพื่อป้องกันผมในระดับหนึ่ง
3. รักษาด้วยยา และวิธีการทางการแพทย์
-
การใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์แก้ผมร่วง ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางก่อน เพราะควรได้รับการวินิจฉัยว่าสาเหตุของผมร่วงนั้น แท้จริงแล้วเกิดจากอะไร เช่น ยาที่ช่วยกระตุ้นการเกิดใหม่ของเซลล์รากผม ช่วยขยายหลอดเลือดให้เข้าถึงรากผม และกระตุ้นให้ผมงอกขึ้นใหม่อย่างแข็งแรง กับยาที่ช่วยลดสาเหตุผมร่วงจากกรรมพันธุ์ ก็มีข้อบ่งใช้ และอาการข้างเคียงที่แตกต่างกันอีกด้วย
-
การปลูกผม (Hair transplant surgery) ในผู้ที่อาการผมร่วง ผมบาง หัวล้านแบบถาวร หรือผมบางกลางศีรษะจากกรรมพันธุ์ การปลูกผมถือเป็นวิธีการรักษาที่ให้ผลที่ดี คุ้มค่า และให้ผลลัพธ์ที่ยั่งยืน โดยแพทย์จะทำการผ่าตัดบริเวณที่มีเส้นผมหนาแน่น เช่น ท้ายทอย หรือด้านข้างศีรษะ มาปลูกลงบนบริเวณผมบาง หรือบริเวณที่หัวล้าน เพื่อให้เส้นผมใหม่งอกจนเต็มหนังศีรษะอีกครั้ง
-
การทำเลเซอร์กระตุ้นรากผม (Fractional laser) เป็นการกระตุ้นการเกิดใหม่ของเส้นผมด้วยการใช้เลเซอร์พลังงานต่ำ กระตุ้นลงบนเซลล์รากผม เพื่อสร้างเส้นผมใหม่ที่แข็งแรง งอกเร็ว และดกหนาในระยะยาว
-
การฉีดสเต็มเซลล์ผม (Regenera Activa) เป็นการนำเซลล์ต้นกำเนิดที่ได้จากรากผมของผู้รับการรักษามาฉีดลงบนหนังศีรษะ เพื่อกระตุ้นให้เซลล์รากผมแข็งแรง กระตุ้นการสร้างเส้นผมใหม่ที่ดกหนา แก้ปัญหาผมร่วง ผมบาง ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อาการผมร่วงเป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นอายุที่มากขึ้น ทำให้เซลล์รากผมไม่แข็งแรงเท่าแต่ก่อน กรรมพันธุ์ รวมถึงสาเหตุอื่น ๆ อีกมากมาย แต่สามารถป้องกัน และแก้ไขอาการผมร่วงได้ โดยเปลี่ยนพฤติกรรม และเสริมด้วยสารอาหารที่ช่วยบำรุงเซลล์รากผมให้มีสุขภาพดี การเพิ่มความแข็งแรงของเส้นผมด้วยสารอาหารต่าง ๆ จะช่วยทำให้สุขภาพของผมดีขึ้น ลดอาการหลุดร่วงของเส้นผมที่เคยเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญคือ การดูแลสุขภาพให้ดีจากภายใน พักผ่อนให้เพียงพอ บริหารจัดการชีวิตให้ไม่เครียดจนเกินไป คือสิ่งที่ยั่งยืนที่สุด
ไม่พลาดสาระความรู้เพื่อการมีเฮลท์ตี้ไลฟ์สไตล์ ให้คุณใช้ชีวิตในทุกวันได้ดีกว่าเดิม และไม่ตกเทรนด์ที่ PRUEmpower U จากพรูเด็นเชียล เพราะชีวิตมีกัน…ทุกวันดีกว่า