
คนจะงาม ต้องงามที่ไส้!
ทำไมลำไส้ถึงบงการทั้งบอดี้
เคยสังเกตไหมว่า เมื่อรู้สึกเครียด กังวล มักมีอาการปวดท้อง หรือเมื่อลำไส้มีปัญหา อารมณ์ ความรู้สึกก็ดูจะแย่ลงไปด้วย หรือบางครั้งการเห็นอาหารที่ชอบ จะตื่นเต้น และสมองจะกระตุ้นให้มีการหลั่งฮอร์โมนเกรลิน (Ghrelin hormone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำให้อยากอาหารมากขึ้น และเมื่อได้กินเข้าไปแล้ว สารอาหารจะส่งผลโดยตรงต่อจุลินทรีย์ในลำไส้ ทั้งหมดเกี่ยวข้องกัน นั่นเป็นเพราะลำไส้ สมอง และอารมณ์ มีการเชื่อมโยงสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้ง และในทางกลับกันจุลินทรีย์สามารถส่งผลต่ออารมณ์ ภูมิคุ้มกัน และการทำงานของสมองได้ เพราะลำไส้และสมองจะสื่อสารกันผ่านเส้นประสาท สารเคมี และสัญญาณฮอร์โมน นั่นเอง
ลำไส้คือสมองที่ 2 “รู้สึกได้ และคิดเป็น”
เนื่องจากลำไส้ของเรามีเซลล์ประสาทหลายล้านเซลล์ ระบบลำไส้จึงต่างไปจากอวัยวะอื่นในร่างกาย ตรงที่สามารถทำงานได้ด้วยตัวมันเอง ตัดสินใจเองโดยอัตโนมัติ และไม่ต้องให้สมองสั่งการว่าจะทำอะไร การทำงานอิสระของลำไส้นี้ เรียกว่า "ระบบประสาทลำไส้" หรือ Enteric Nervous System (ENS) ซึ่งมีจำนวนเซลล์ประสาทมากกว่ากระดูกสันหลัง ระบบนี้จะควบคุมการทำงานของระบบย่อยอาหาร เช่น การบีบตัวของลำไส้ การหลั่งน้ำย่อย และการดูดซึมสารอาหาร ลำไส้จึงถูกขนานนามว่าเป็น “สมองที่สอง”
ลำไส้ไม่เพียงควบคุมการย่อยและดูดซึมสารอาหารให้ร่างกายนำไปใช้เท่านั้น แต่ยังเป็นกลไกสำคัญของชีวิตด้วย เพราะในลำไส้มีจุลินทรีย์ธรรมชาติที่นอกจากทำหน้าที่ย่อยอาหารแล้ว ยังมีการหลั่งของสารสื่อประสาทหลายชนิด เช่น เซโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งเกี่ยวข้องกับจิตประสาท อารมณ์ การนอน และความรู้สึกต่าง ๆ คอยปลดปล่อยฮอร์โมนต่าง ๆ ที่มีผลต่ออวัยวะทั้งหมดของร่างกาย รวมถึงสมองด้วย ซึ่งประสาทเหล่านี้มีความสัมพันธ์กัน สามารถเชื่อมกัน ส่งต่อถึงกันและกันได้ เรียกได้ว่า ลำไส้มีความรู้สึก รู้จักคิด และแสดงอารมณ์ได้ไม่ต่างจากสมองเลยทีเดียว
Gut Microbiome จุลินทรีย์ในลำไส้ ที่ควบคุมทั้งกาย ใจ และความสวยหล่อ
Gut Microbiome หรือจุลินทรีย์ในลำไส้ มีมากกว่า 5,000 ชนิด เกือบ 100 สายพันธ์ เช่น แบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา และปรสิต ทั้งหมดอยู่แบบพึ่งพาอาศัยกัน บางชนิดมีส่วนช่วยป้องกันโรค กระตุ้นกระบวนการเผาผลาญ การย่อยอาหาร เสริมระบบภูมิคุ้มกัน หรือมีส่วนช่วยในการขับถ่ายให้เป็นปกติ จุลินทรีย์บางชนิดช่วยสร้างสารที่จำเป็นต่อร่างกาย ให้ร่างกายสามารถดูดซึมเอาไปใช้ประโยชน์ได้
เมื่อมีจุลินทรีย์อยู่เต็มไปหมด แน่นอนว่าจะต้องมีทั้ง “จุลินทรีย์ตัวดี และจุลินทรีย์ตัวร้าย”
จุลินทรีย์ตัวดี มีหน้าที่อะไร?
จุลินทรีย์ตัวดี เช่น แลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus) หรือ ยูแบคทีเรีย (Eubacteria) และบิฟิโดแบคทีเรียม (Bifidobacteria) โดยอาหารหลักของจุลินทรีย์ตัวดี คือ ไฟเบอร์ พืช ผัก ผลไม้ ถั่ว ธัญพืชต่าง ๆ จุลินทรีย์ตัวดี จะช่วยในเรื่องการขับถ่าย ช่วยย่อยอาหาร ช่วยตรวจสอบสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกาย และทำงานร่วมกับระบบภูมิคุ้มกัน เพื่อจัดการสิ่งแปลกปลอมนั้น ยับยั้ง และป้องกันไม่ให้แบคทีเรียก่อโรคเจริญเติบโต ช่วยสังเคราะห์สารอาหารที่ร่างกายต้องการ เป็นเกราะป้องกันเชื้อโรค กระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และช่วยในการย่อยอาหาร หรือการดูดซึมสารอาหาร และยังช่วยควบคุมอารมณ์ให้รู้สึกมีความสุข สุขภาพจิตดี มีส่วนสร้างเซโรโทนิน (Serotonin) หรือฮอร์โมนแห่งความสุข ยิ่งมีเซโรโทนินมากเท่าไหร่ก็จะสามารถต่อกรกับความเครียดได้ดีนั่นเอง
จุลินทรีย์ตัวร้าย มีหน้าที่อะไร?
จุลินทรีย์บางชนิดสามารถสร้างสารพิษ และทำให้ร่างกายเกิดโรคต่าง ๆ ยิ่งหากชื่นชอบรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลสูง ไขมันสูง ซึ่งอาหารประเภทนี้เป็นของโปรดของเจ้าจุลินทรีย์ตัวร้าย ก็จะทำให้ยิ่งเพิ่มจุลินทรีย์ตัวร้ายในร่างกายมากขึ้นไปด้วย และที่มักพบเจอในลำไส้บ่อย ๆ ก็คือ เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter pylori) จุลินทรีย์ตัวนี้หากมีในลำไส้มากเกินไป ก็ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคแผลกระเพาะอาหาร รวมถึงเพิ่มโอกาสเป็นเนื้องอก หรือมะเร็งในกระเพาะอาหาร ทั้งยังเปลี่ยนโปรตีนให้เป็นสารก่อมะเร็งได้ และยังโจมตีจุลินทรีย์ตัวดี ทำลายภูมิคุ้มกัน ทำให้เกิดการอักเสบต่าง ๆ ได้ง่าย
จุลินทรีย์ตัวดีถ้ามีมาก ช่วยสร้างสมดุลในลำไส้ให้สุขภาพดีได้
ถ้าหากยังทานไม่ดี นอนไม่ดี ขาดการออกกำลังกาย ก็จะทำให้ลำไส้มีจุลินทรีย์ตัวร้ายมากเกินไป ส่งผลให้จุลินทรีย์ในลำไส้ (Gut Microbiome) ไม่สมดุล มีผลเสียมากมายต่อร่างกาย ทั้งด้านอารมณ์ เช่น อารมณ์แปรปรวน วิตกกังวล และภาวะซึมเศร้า รวมไปถึงผลกระทบต่อร่างกายอย่างภาวะโรคอ้วน และกลุ่มอาการผิดปกติในระบบเผาผลาญ โรคผิวหนังชนิดต่างๆ ตลอดจนนำไปสู่โรคร้ายที่กระทบต่อสุขภาพ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง และโรคลำไส้แปรปรวน ลำไส้อักเสบ ลำไส้รั่ว เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะช่วยให้ลำไส้กลับมาสมดุล Gut Microbiome อยู่ในสภาพที่ดีนั่นคือการเติม จุลินทรีย์ที่ดี เข้าไปในร่างกาย โดยการกิน “โพรไบโอติกส์” และ “พรีไบโอติกส์” แล้วทั้งสองอย่างที่กล่าวมานี้มันคืออะไร จะหาได้จากไหน มาดูกัน
“โพรไบโอติกส์” (Probiotic) คือจุลินทรีย์ตัวดีที่มีชีวิต กินเข้าไปก็ช่วยให้ร่างกาย ลำไส้ มีสมดุลมากขึ้น เช่น แลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus) ซึ่งหาได้จากอาหารหมักดอง เช่น โยเกิร์ต นมเปรี้ยว กิมจิ ผักกาดดอง ถั่วนัตโตะ ซุปมิโสะ นั่นเอง
“พรีไบโอติกส์” (Prebiotic) คืออาหารของโพรไบโอติกหรือจุลินทรีย์ตัวดีนั่นเอง เพื่อให้จุลินทรีย์ตัวดีเจริญเติบโต เพิ่มจำนวนได้เร็วขึ้นและมีมากขึ้น ซึ่งพรีไบโอติกส์หาได้จากพืชผักใบเขียว ผลไม้ กระเทียม หัวหอม อะโวคาโด กล้วย ถั่ว ธัญพืชต่าง ๆ เป็นต้น
เลี่ยงได้เลี่ยง พฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้สูญเสียจุลินทรีย์ตัวดี
จุลินทรีย์ตัวดีมีความเปราะบางมาก นอกจากเราต้องคอยเติมสารอาหาร และรักษาจุลินทรีย์พวกนี้ไว้ในลำไส้แล้ว ยังมีหลายปัจจัยที่ทำให้สูญเสียจุลินทรีย์ตัวดีได้ง่าย ๆ ซึ่งล้วนมาจากพฤติกรรมทั้งสิ้น เช่น
-
กินน้ำตาล อาหารรสจัด อาทิ น้ำตาล ไขมัน และกรดในอาหารรสจัด จะไปทำลายจุลินทรีย์ตัวดีในลำไส้
-
สูบบุหรี่ ถ้าสูบบุหรี่เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง จุลินทรีย์ตัวดีในร่างกายจะไม่เหลือเลย แต่หากหยุดสูบบุหรี่ จุลินทรีย์ตัวดีก็จะเริ่มกลับมา
-
ดื่มแอลกอฮอล์ จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science Direct ในปี 2010 พบว่า การดื่มแอลกอฮอล์ 100 มล. ทำให้จุลินทรีย์ตัวดี ลดลงถึง 25%
-
พักผ่อนไม่เพียงพอ หากวันไหนที่นอนดึก จะพบว่าในวันถัดไป จุลินทรีย์ตัวดีจะลดลงถึง 50% แสดงให้เห็นว่าการนอนให้เพียงพอนั้น เป็นปัจจัยสำคัญมากทีเดียว
-
มีความเครียด เครียดสะสม เป็นอีกหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้จุลินทรีย์ตัวดีลดลงได้เช่นกัน
ดูแลรักษาสมดุลลำไส้ ช่วยให้สุขภาพดีทั้งระบบ
เทรนด์ดูแลสุขภาพดีจากภายในสู่ภายนอก กำลังเป็นที่นิยม คนยุคใหม่หันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น ให้ความสำคัญกับอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อลดการเจ็บป่วย และลดการรักษาด้วยยา ลำไส้ที่ดีจึงเป็นตัวแปรสำคัญที่จะช่วยรักษาสมดุล ให้ร่างกาย จิตใจ แข็งแรง สุขภาพดี แล้วลำไส้ที่ดีที่สมดุล ต้องทำอย่างไร? ทำไมการมีลำไส้ดี ๆ เราถึงสร้างได้ด้วยตัวเอง
-
เน้นทานผัก ผลไม้ ปลาที่ผ่านการปรุงแต่งน้อย เลือกทานโปรตีนจากพืชที่ดี เช่น เต้าหู้ ถั่ว เห็ด สาหร่าย และทานอาหารที่หลากหลาย เพื่อเพิ่มความหลากหลายของกลุ่มจุลินทรีย์ในลำไส้
-
ทานโพรไบโอติกส์ (จุลินทรีย์ที่ดี) พร้อมกับพรีไบโอติกส์ (อาหารของจุลินทรีย์ที่ดี) เพื่อช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และปรับสมดุลการทำงานของลำไส้
-
นอนหลับให้เพียงพอ ระบบร่างกายจะได้พักผ่อน และลดความเครียด ช่วยให้สภาพแวดล้อมในลำไส้มีสุขภาพดี
-
ออกกำลังกายเป็นประจำ ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของลำไส้ ลดการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่เป็นอันตราย และยังช่วยเพิ่มความหลากหลายของจุลินทรีย์ในลำไส้
ลำไส้ไม่ได้เป็นเพียงอวัยวะย่อยอาหารเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทสำคัญต่อร่างกายโดยรวม ซึ่งการดูแลลำไส้ให้ดี สร้างสมดุลจุลินทรีย์ในลำไส้ จะส่งผลให้สุขภาพร่างกาย สุขภาพสมอง และสุขภาพใจ ดีตามไปด้วยนั่นเอง
แต่ถ้าเราดูแลลำไส้ไม่ดี ผลที่ตามมาในระยะยาวอาจเป็นได้ตั้งแต่อาการน่ารำคาญเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างการนอนไม่หลับ วิตกกังวล ผิวผื่นภูมิแพ้เรื้อรัง โรคอ้วน ไปจนถึงโรคทางลำไส้โดยตรง อย่างลำไส้แปรปรวน ลำไส้อักเสบ หรืออาจรุนแรงถึงขั้นเป็นโรคมะเร็งลำไส้ หากปล่อยไว้เรื้อรัง
นี่อาจจะถึงเวลาแล้วที่เราต้องหันมาใส่ใจลำไส้กันให้มากขึ้น เพิ่มความอุ่นใจ เมื่อต้องเผชิญกับการเจ็บป่วยแบบไม่คาดคิด ให้ประกันชีวิตและสุขภาพ PRUe-Healthcare Plus จากพรูเด็นเชียล ช่วยดูแลคุณ เหมาจ่ายตามจริง ไม่ต้องตรวจสุขภาพ (เพียงแค่ตอบคำถามสุขภาพ) คลิกเลย! https://link.prudential.co.th/7hgtV
อ้างอิง
- https://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/gut-microbiome
- https://www.youtube.com/watch?v=Ew7Rbwga0Yk&t=486s
- https://www.youtube.com/watch?v=CPhSIOiCrKQ&list=PL4B6ca-ACe0czF_ArJnbzxgm-4-yUbhQH
- https://www.youtube.com/watch?v=OrLFQqctT8M
- https://www.youtube.com/watch?v=26qmX-eJBg4
- https://www.interpharma.co.th/articles/%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%81-%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%99-%E0%B8%AE%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B9%82%E0%B8%A1%E0%B8%99?locale=th