เลือกภาษา
close
ยิ่งโอ๋ ยิ่งแย่ จริงหรือไม่

ยิ่งโอ๋ ยิ่งแย่ จริงหรือ?
คุณกำลังสร้างนิสัยที่ไม่ดีให้ลูกอยู่ไหม

เคยเป็นไหมเวลาพาลูกไปเดินเล่น ไปเที่ยวเล่นสนามเด็กเล่น หรือที่อื่นๆ ตอนที่เด็กหกล้ม เจ็บตัวร้องไห้ พ่อแม่หรือผู้ดูแลจะรีบเดินเข้าไปปลอบเด็ก แล้วทุบโต๊ะ ตีพื้น โทษสิ่งรอบข้างว่าเป็นคนทำน้องเจ็บใช่ไหม การทำแบบนี้อาจส่งผลแย่กว่าที่คิด เพราะเด็กจะไม่รู้จักระมัดระวัง และไม่สามารถยอมรับความผิดพลาดของตัวเองได้ รวมถึงไม่เกิดการเรียนรู้ที่จะแก้ไขความผิดพลาดในอนาคต ดังนั้นผู้ปกครองต้องสอนเด็กให้รู้จักระมัดระวัง และชี้ให้เด็กเห็นถึงเหตุและผล จะสามารถทำให้เด็กเรียนรู้ที่จะแก้ไขความผิดพลาดนั้นในอนาคต

สิ่งที่ไม่ควรทำ

  • โอ๋ลูกทุกครั้งทันที จะทำให้ลูกติดนิสัยเอาแต่ใจ เพราะรู้ว่าจะมีคนคอยโอ๋อยู่ตลอด ทำให้ลูกไม่มีความอดทน
  • ขู่ ห้ามลูกให้หยุดร้อง วิธีการนี้ทำให้ลูกเงียบเสียงเร็วขึ้นจากความกลัว แต่รู้ไหมว่าสิ่งที่ทำเป็นการตัดโอกาสในการช่วยลูกทำความเข้าใจความรู้สึกตนเอง และทำให้เข้าใจว่า ความรู้สึกเป็นสิ่งผิด ซึ่งความจริงแล้วความรู้สึกเจ็บหรือความผิดพลาดนั้นเป็นเรื่องธรรมชาติ
  • โทษสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ตีพื้นทุบโต๊ะ วิธีการนี้จะทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ผิด ไม่สำรวจความรู้สึกตัวเอง เหตุผลและความถูกต้อง เป็นการปลูกฝังให้ลูกโทษคนอื่นก่อนเสมอ ไม่รู้จักความผิดพลาดของตัวเอง

ไม่ให้โอ๋ แล้วควรทำอย่างไร

  • การโอ๋สามารถทำได้เพราะทำให้เขารู้ว่าเราคอยสังเกต คอยมอง คอยใส่ใจเขาอยู่ตลอดทำให้เขารู้สึกปลอดภัย แต่ควรที่จะไม่แสดงสีหน้าตกใจจนเกินไป เขาอาจจะไม่ได้เจ็บมาก ควรถามไถ่ด้วยความห่วงใย เจ็บมากไหมจ๊ะ เกิดอะไรขึ้น ให้เขารู้จักที่จะสำรวจตัวเอง ให้ลูกลุกขึ้นเมื่อเขาไม่เจ็บมาก มีการชมเชย เก่งมากจ๊ะ” เขาก็จะเรียนรู้ที่จะอดทนต่อความเจ็บปวดได้และเข้มแข็ง
  • เปลี่ยนจากการขู่ ห้าม มาเป็นการโอบ กอด ชื่นชม ให้กำลังใจ ช่วยให้ลูกลุก หรือให้เขาลุกขึ้นเองเมื่อสังเกตแล้วว่าไม่มีบาดแผลหรือลูกไม่เป็นอะไรมาก  เป็นการแสดงออกถึงความรักและความห่วงใย ช่วยให้เด็กมีความมุ่งมั่นและมั่นใจที่จะทำสิ่งต่างๆ มากขึ้น
  • ไม่โทษของ หรือโทษใคร ไม่พูดเข้าข้างเมื่อเกิดขึ้นจากที่ลูกทำผิด เพราะจะทำให้ลูกแยกแยะระหว่างผิดชอบชั่วดีไม่เป็นเมื่อโตขึ้น และอาจจะรับไม่ได้เมื่อถูกต่อว่าหรือตำหนิในอนาคต  หากสิ่งที่เกิดขึ้นเกิดจากความประมาทของลูก ลูกเล่นแรงไป ควรสอนให้เด็กรู้จักยอมรับผิดหรือรู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากการกระทำของลูกเอง และชี้ให้เห็นว่าอะไรถูกหรือผิด หรือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอตามธรรมชาติ เพื่อให้เด็กเข้าใจและปรับปรุงตัวเองในครั้งหน้าก็จะไม่เจ็บแบบนี้อีก

ทำไปแล้วแก้ไขได้อย่างไร

ไม่สายที่จะแก้ไข เด็กเป็นวัยที่เปิดกว้างและพร้อมเปิดรับต่อการเรียนรู้เสมอ พ่อแม่หรือผู้ดูแลสามารถปรับความคิดและเริ่มสอนเขาใหม่อีกครั้งได้ โดยเริ่มที่การปรับตัวเองก่อนที่จะเป็น “พ่อแม่รังแกฉัน” ของลูก หากที่ผ่านมาเป็นความรู้ที่ผิดก็สามารถแก้ไขใหม่ โดยอธิบายเหตุผล สิ่งที่เกิดขึ้นให้ลูกได้รู้ข้อมูลที่ถูกต้อง