เลือกภาษา
close
ผู้ชายที่กำลังรู้สึกแสบร้อนกลางอกจากกรดไหลย้อน
เคล็ด (ไม่) ลับ น่ารู้ - พรูเด็นเชียล ประกันชีวิต

รู้ทันสาเหตุกรดไหลย้อน อาการ แนวทางการรักษา และวิธีป้องกัน

รู้ไหมว่าโรคภัยไข้เจ็บที่เราต้องเผชิญนั้น มีสาเหตุสำคัญมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตอย่างไม่เหมาะสม โรคกรดไหลย้อน คือหนึ่งในตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เพราะเป็นโรคใกล้ตัวที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน โดยเฉพาะกับคนวัยทำงาน เพื่อให้ตระหนักถึงอันตรายของโรคนี้กันมากขึ้น เราจะพาไปรู้ถึงสาเหตุของโรค อาการ รวมถึงวิธีแก้อาการกรดไหลย้อนเบื้องต้น และการรักษาในระยะยาวให้ได้รู้กัน

 

รู้จักโรคกรดไหลย้อน

กรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease: GERD) คือภาวะที่กรดหรือน้ำย่อยที่อยู่ภายในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมายังบริเวณหลอดอาหาร เนื่องจากหูรูดส่วนปลายบริเวณหลอดอาหารทำงานผิดปกติ โดยมักเกิดขึ้นบ่อยและเป็นเรื้อรัง ส่งผลให้เกิดการระคายเคืองบริเวณหลอดอาหาร หากไม่รีบทำการรักษาจะนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นหลอดอาหารอักเสบ หลอดอาหารตีบ และภาวะหลอดอาหารบาร์เรตต์

 

โรคกรดไหลย้อนเกิดจากอะไร?

โรคกรดไหลย้อนเกิดจากหลายปัจจัย โดยส่วนใหญ่ล้วนเป็นผลมาจากพฤติกรรมการชีวิตประจำวัน ซึ่งกระตุ้นให้หลอดอาหารทำงานผิดปกติ หรือทำให้กระเพาะอาหารหลั่งกรดในปริมาณมากขึ้น ดังต่อไปนี้

  • รับประทานอาหารแล้วนอนทันที

  • รับประทานอาหารที่มีรสจัดมากเกินไป

  • รับประทานอาหารมัน ๆ และรับประทานในปริมาณที่มากเกินไป

  • มีความเครียดสะสม

  • ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่

  • ดื่มชา กาแฟ

นอกจากนี้ การตั้งครรภ์ รวมถึงการมีโรคประจำตัวต่าง ๆ เช่น โรคอ้วน จะส่งผลให้เกิดแรงกดต่อกระเพาะอาหาร จนทำให้เกิดอาการของโรคกรดไหลย้อนได้

 

โรคกรดไหลย้อนอาการเป็นอย่างไร?

หลายคนอาจยังไม่แน่ใจว่าอาการที่ตนเป็นอยู่ คือโรคกรดไหลย้อนหรือไม่ ต้องบอกว่าโรคกรดไหลย้อนอาการสำคัญที่สามารถสังเกตได้อย่างชัดเจนจะมีอยู่หลายลักษณะ ดังนี้

  • รู้สึกแสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ขึ้นมาที่หน้าอกและคอ โดยมักจะเป็นหลังจากการรับประทานอาหารมื้อหนัก หรือการโน้มตัวไปข้างหน้า การยกของหนัก รวมถึงการนอนหงาย

  • เรอมีกลิ่นเปรี้ยว สัมผัสได้ถึงน้ำรสเปรี้ยวหรือว่ารสขมไหลย้อนขึ้นมาในปาก

  • ท้องอืด แน่น คลื่นไส้ อาเจียนหลังรับประทานอาหาร

  • เจ็บหน้าอก จุกเหมือนมีอะไรติดขวางอยู่ที่บริเวณลำคอ

  • หากมีภาวะกรดไหลย้อนเรื้อรัง และกรดไหลขึ้นมาบริเวณกล่องเสียง จะทำให้เกิดอาการไอแห้ง ๆ เจ็บคอ กระแอมบ่อย หรือว่าหอบหืดได้

 

ผู้หญิงที่กำลังกินยาลดกรดแก้อาการกรดไหลย้อน

 

วิธีแก้กรดไหลย้อนเร่งด่วน

หากเกิดอาการของโรคขึ้น เช่น รู้สึกแน่นหน้าอก ท้องอืด อาเจียน สามารถใช้วิธีแก้อาการแน่นอก ที่เกิดจากโรคกรดไหลย้อนเบื้องต้นได้ ดังต่อไปนี้

รับประทานยาลดกรด

สำหรับวิธีแก้กรดไหลย้อนเร่งด่วนที่ทำได้ง่ายและรวดเร็วที่สุด คือการรับประทานยาลดกรด ซึ่งสามารถหาซื้อได้จากร้านขายยาทั่วไป แต่มีข้อควรระวังสำหรับผู้ป่วยโรคไต ที่ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาลดกรดที่มีส่วนผสมของแมกนีเซียม เพื่อป้องกันการเกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ อีกทั้งผู้ที่ต้องรับประทานยาต้านชัก ยาละลายลิ่มเลือด และยารักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยาลดกรดด้วย

ดื่มนม ดื่มน้ำ

หากมีอาการกรดไหลย้อน สามารถใช้วิธีการดื่มนมที่ไม่มีไขมัน เพื่อช่วยบรรเทาอาการกรดไหลย้อน หรือถ้าหากไม่มีนม ก็ใช้วิธีการดื่มน้ำแทนได้ เนื่องจากการดื่มน้ำเย็นจะช่วยบรรเทาอาการแสบร้อนกลางหน้าอก และลดกรดในกระเพาะอาหารได้

รับประทานอาหารที่เป็นด่าง

อีกหนึ่งวิธีแก้กรดไหลย้อนเร่งด่วนคือการรับประทานอาหารที่มีความเป็นด่างสูง เช่น กล้วย ถั่วชนิดต่าง ๆ และเมลอน ซึ่งมีคุณสมบัติในการช่วยลดกรดในกระเพาะอาหารได้

ปรับท่านอนให้ศีรษะอยู่สูง

ในส่วนของผู้ที่มักมีอาการกรดไหลย้อนในตอนกลางคืน หรือก่อนนอน สิ่งที่จะช่วยบรรเทาอาการกรดไหลย้อนได้ คือการปรับท่านอนให้ศีรษะอยู่สูงขึ้นมาจากเตียงประมาณ 12 นิ้ว โดยการใช้หมอนหนุน หรือหมอนที่ออกแบบมาเพื่อบรรเทาอาการกรดไหลย้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

แนวทางการรักษาโรคกรดไหลย้อน

การรักษาโรคกรดไหลย้อนนอกจากการรับประทานยาลดกรดหรือยาเคลือบกระเพาะแล้วนั้น ยังควรปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตควบคู่ไปด้วย เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีสิ่งที่ควรปฏิบัติดังต่อไปนี้

  1. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ไม่ปล่อยให้อ้วนจนเกินไป เพราะเสี่ยงที่จะเกิดความดันในช่องท้อง ที่นำไปสู่การเกิดกรดไหลย้อนได้ง่าย

  2. หลีกเลี่ยงการรับประทานช็อกโกแลต ดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

  3. รับประทานอาหารให้อิ่มพอดี ไม่จุกแน่นจนเกินไป

  4. ไม่ควรนอนหลังจากรับประทานอาหารอิ่มทันที โดยควรเดินขยับร่างกาย หรือนั่งพักประมาณ 3 ชั่วโมง ให้อาหารย่อยก่อนจึงค่อยเข้านอน

 

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคกรดไหลย้อน

ทำไมกรดไหลย้อน มีอาการตอนกลางคืน?

โรคกรดไหลย้อนอาการมักแสดงออกให้เห็นตอนกลางคืน เนื่องจากเวลานอนหูรูดส่วนปลายบริเวณหลอดอาหารจะทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ จึงทำให้น้ำย่อยสามารถไหลย้อนกลับได้ ยิ่งหากรับประทานอาหารอิ่มเกินไป หรืออิ่มแล้วนอนทันที ยิ่งทำให้เกิดอาการของโรคกรดไหลย้อนได้ง่ายยิ่งขึ้น

กรดไหลย้อนขึ้นคอ หายเองได้ไหม?

กรดไหลย้อนขึ้นคอ สามารถรักษาให้หายเองได้ หากทำอย่างถูกวิธี ที่สำคัญควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคกรดไหลย้อน เช่น การรับประทานอาหารอิ่มจนเกินไป รับประทานอาหารเสร็จแล้วนอนทันที รวมถึงการดื่มกาแฟ ชา และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

กรดไหลย้อนแบบไหนควรไปหาหมอ

หากพบอาการของกรดไหลย้อนต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

  • น้ำหนักลดโดยไม่ตั้งใจ

  • อาเจียนบ่อย ๆ

  • อาเจียนมีเลือดปน

  • มีอาการกรดไหลย้อนบ่อยและรุนแรง

  • เบื่ออาหาร

  • เวลากลืนรู้สึกเจ็บ กลืนติด กลืนลำบาก

  • ถ่ายเป็นเลือด

ทั้งหมดนี้คงทำให้ทุกคนเข้าใจถึงสาเหตุของโรคกรดไหลย้อน อาการ การป้องกัน แนวทางการรักษากันมากขึ้น ซึ่งถ้าใครพบว่าตัวเองมีอาการเข้าข่ายโรคกรดไหลย้อน ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ทันที แต่ทั้งนี้ โรคกรดไหลย้อนเป็นเพียงหนึ่งในโรคภัยที่สามารถเกิดขึ้นได้จากปัจจัยการใช้ชีวิตในปัจจุบัน ดังนั้นการทำประกันสุขภาพเอาไว้ จะช่วยเพิ่มความอุ่นใจ ว่าถ้าเจ็บป่วยจะสามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างรวดเร็ว โดยคุณสามารถมาลือกซื้อประกันและอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของเรา สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เบอร์ 1621

 

 

ข้อมูลอ้างอิง:

  1. 8 วิธีแก้กรดไหลย้อนเร่งด่วนที่ทุกคนสามารถทำได้. สืบค้นเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 จาก https://www.pobpad.com/8-วิธีแก้กรดไหลย้อนเร่งด

  2. กรดไหลย้อน. สืบค้นเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 จาก https://www.pobpad.com/กรดไหลย้อน

  3. กรดไหลย้อน อันตรายหลังการทานอาหาร. สืบค้นเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 จาก https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/กรดไหลย้อน-อันตรายหลังก/

  4. อาการเสี่ยง กรดไหลย้อน ! ที่ต้องรู้. สืบค้นเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 จาก https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/อาการเสี่ยง-กรดไหลย้อน/

  5. โรคกรดไหลย้อน. สืบค้นเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 จาก https://www.med.cmu.ac.th/web/news-event/news/hilight-news/2966/