เลือกภาษา
close
อยากเป็นเพื่อนกับลูกไปทั้งชีวิต

อยากเป็นเพื่อนกับลูกไป
ทั้งชีวิต เริ่มได้ตั้งแต่วัยนี้เลย

การเลี้ยงลูกให้ไว้ใจพ่อแม่และสามารถแชร์เรื่องราวต่าง ๆ ได้อย่างอิสระนั้น เป็นเป้าหมายสำคัญของหลาย ๆ ครอบครัว การสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแรงและเป็นที่พึ่งพิงได้ตั้งแต่เด็ก จะเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้ลูกเติบโตมาเป็นคนที่เข้าใจ ไว้ใจและรักพ่อแม่เสมือนเพื่อนที่ดีที่สุดของเขา การเป็นเพื่อนกับลูกนั้นไม่ใช่เรื่องยาก หากพ่อแม่เริ่มต้นตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อที่ในอนาคตลูก ๆ จะสามารถมองพ่อแม่เป็นเพื่อนและเป็นที่พึ่ง อีกทั้งจะช่วยปิดโอกาสที่ลูกจะพลาดพลั้งในอนาคตได้

 

เคล็ดไม่ลับสร้างความไว้ใจ เมื่อลูกมีอะไรก็อยากเล่าให้พ่อแม่ฟัง

ตั้งใจฟังเมื่อลูกพูด

เมื่อลูกมีความรู้สึกว่าพ่อแม่สนใจ และใส่ใจในสิ่งที่เขาพูด พวกเขาจะรู้สึกปลอดภัยและไว้วางใจที่จะพูดคุยเรื่องต่างๆ พ่อแม่ต้องแสดงพฤติกรรมว่ากำลังใส่ใจรับฟังลูกอย่างตั้งใจ หยุดกิจกรรมทุกอย่างที่กำลังทำ สบตา พยักหน้า แสดงภาษากายที่บ่งบอกว่าพ่อแม่อยากฟังลูกเล่าจริง ๆ หลีกเลี่ยงการตัดสินหรือวิจารณ์

เป็นแบบอย่างที่ดีในการเคารพให้เกียรติกัน

เคารพในตัวตน ความคิดเห็น ความชอบ ความฝัน และความเป็นส่วนตัวของลูก เด็กที่เติบโตในบรรยากาศครอบครัวที่มีการเคารพให้เกียรติกัน จะไว้วางใจพ่อแม่ ตรงกันข้าม หากพ่อแม่ไปละลาบละล้วงพื้นที่ส่วนตัวของลูกก็จะทำให้ลูกรู้สึกไม่ปลอดภัยและไม่ไว้ใจพ่อแม่ 

สร้างความทรงจำที่ดี

การสร้างความทรงจำที่ดีร่วมกัน จะช่วยให้เด็กรู้สึกว่าพ่อแม่เป็นเพื่อนที่ดีที่สุด ทำได้ด้วยการสร้างโมเม้นต์คุณภาพ ทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น พูดคุยถามไถ่ก่อนนอน, คุยเรื่องความชอบ ความฝัน เรื่องเพื่อน ๆ ของลูก การเล่นเกมด้วยกัน หรือการพูดคุยกันแบบเปิดใจ สิ่งเหล่านี้จะสร้างความทรงจำที่ดีและความสัมพันธ์ที่แข็งแรง

ความลับของลูกคือความลับของเรา

หากลูกกล้าที่จะเล่าความลับหรือปัญหาของตนเองให้พ่อแม่ฟัง คือโอกาสที่พ่อแม่จะสร้างความเชื่อใจได้ดีที่สุด เราต้องทำให้ลูกรู้ว่าไม่ว่ามีความลับอะไร ลูกบอกพ่อแม่ได้เสมอ และไว้วางใจได้ตลอดชีวิต

 

 

4 เหตุผล ทำไมลูกไม่เปิดใจ อะไรที่ทำให้ลูกไม่อยากเล่า ไม่อยากแชร์

  • ประสบการณ์ที่ผ่านมา: ถ้าลูกเคยถูกตำหนิ ไม่ไว้ใจ ไม่เชื่อใจ หรือโดนลงโทษมากเกินไปอาจทำให้ลูกไม่กล้าเปิดใจเพราะไม่อยากพบเจอกับสถานการณ์แบบเดิม

  • การสื่อสารที่ไม่ดี: ถ้าพ่อแม่ไม่พยายามเข้าใจความรู้สึกและมุมมองของลูก ไม่รับฟังลูกอย่างเข้าใจ พูดจาใส่อารมณ์รุนแรง ลูกอาจรู้สึกว่าไม่มีใครเข้าใจ ไม่อยากเปิดใจและไม่อยากเล่าเรื่องต่างๆ ให้ฟัง

  • ชอบวิจารณ์ และจ้องแต่สั่งสอน: ถ้าพ่อแม่มักเอาแต่วิจารณ์หรือแสดงความคิดเห็นในแง่ลบต่อสิ่งที่ลูกเล่า อดไม่ได้ที่จะตักเตือน จ้องแต่จะสอนตลอดเวลา ก็ไม่แปลกที่ลูกจะไม่อยากเล่าเรื่องใดๆ ให้พ่อแม่ฟัง

  • พ่อแม่ไม่มีความเป็นกันเอง: ควบคุมไม่ให้ลูกมีอิสระในการตัดสินใจ ลูกอาจรู้สึกว่าที่บ้านบรรยากาศตึงเครียด ลูกไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ หรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องของตัวเอง ลูกรู้สึกไม่มีพื้นที่ส่วนตัว

 

 

ผิดหวังได้ เสียใจเป็น วัคซีนภูมิคุ้มกันทางใจที่ดีที่สุดของลูก

การสอนให้ลูกจัดการกับความผิดหวังและความเสียใจไม่เพียงแต่จะช่วยให้เขามีภูมิคุ้มกันทางใจที่ดี แต่ยังช่วยให้เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีจิตใจแข็งแกร่ง ไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรค กล้าเผชิญกับความผิดหวังที่จะเข้ามาในชีวิตของเขาอีกมากมายในอนาคต

  • พ่อแม่ควรเป็นตัวอย่างในการเผชิญหน้ากับปัญหาและอุปสรรค แสดงให้เห็นถึงการจัดการกับความผิดหวัง การล้มแล้วลุกขึ้นใหม่ และการมีทัศนคติเชิงบวก

  • ให้โอกาสลูกทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง ได้ลองผิดลองถูก ลูกได้รับประสบการณ์จริงจากการกระทำของตนเอง รวมถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีในการเรียนรู้และพัฒนา แก้ไขและป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต

  • สอนให้ลูกเข้าใจว่าความผิดหวังเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ ความผิดหวังเล็ก ๆ ในวัยเด็ก ทำให้ลูกได้เรียนรู้ว่า ไม่ใช่ทุกครั้งที่จะได้อย่างที่ตนหวัง และไม่ใช่ทุกครั้งที่เขาจะผิดหวัง

  • สอนให้ลูกมองหาข้อดีและโอกาสในทุกสถานการณ์ รวมถึงการหาวิธีแก้ไขปัญหาแทนที่จะยอมแพ้ เช่น ครั้งนี้แข่งกีฬาแพ้ ก็มาช่วยกันหาจุดบกพร่องที่ทำให้พ่ายแพ้ ได้หมั่นฝึกฝนเยอะขึ้น ได้ใช้ความพยายามเพิ่มขึ้น

  • สอนทักษะจัดการกับความเศร้า ความเครียด จากความผิดหวัง ให้ลูกยอมรับความรู้สึกของตัวเอง เศร้าได้ เสียใจได้ แต่อย่าจมกับความรู้สึกเสียใจนานเกินไป ชวนลูกไปทำกิจกรรมดึงความสนใจ เล่นดนตรี ชวนกันไปร้านหนังสือเพื่อหาหนังสือเล่มใหม่ๆ สักเล่ม หรือเล่นกีฬาที่ชื่นชอบ

 

ข้อมูลอ้างอิง

  1. พ่อแม่แบบไหนที่ลูกไม่อยากเล่าอะไรให้ฟัง

  2. พ่อแม่ต้องทำอย่างไร เมื่ออยากให้ลูกไว้ใจ

  3. What you need to know about parent-child attachment