
รวบคำตอบ! โรคเกาต์เกิดจากอะไร มีอะไรที่ห้ามกินบ้าง?
เคยไหมที่ตื่นเช้ามาแล้วรู้สึกปวดข้ออย่างรุนแรง ทั้งยังมีอาการบวมแดง แสบร้อนจนแทบทนไม่ไหวตามบริเวณข้อนิ้วหัวแม่เท้า ข้อเท้า ข้อเข่า ข้อมือ และข้อศอก รู้หรือไม่? ว่าอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเตือนของ
“โรคเกาต์” ก็เป็นได้
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- โรคเกาต์คืออะไร เกิดจากอะไร?
- ระยะอาการโรคเกาต์ที่ควรรู้
- เป็นโรคเกาต์ ห้ามกินอะไร?
- การดูแลตัวเองเมื่อเป็นโรคเกาต์
- ตอบคำถามคาใจ กินไก่เป็นเกาต์ไหม?
แต่โรคเกาต์เกิดจากอะไร? ทำไมถึงเป็นโรคนี้กัน หากเข้าสู่กระบวนการรักษามีอะไรที่ห้ามกินบ้าง? และที่เขาว่ากันว่าเป็นโรคเกาต์ห้ามกินไก่จริงไหม บทความนี้มีข้อควรรู้มาตอบไว้ให้ครบ
โรคเกาต์คืออะไร เกิดจากอะไร?
โรคเกาต์เกิดจาก ภาวะกรดยูริกในเลือดสูง ซึ่งกรดยูริกเป็นสารที่ร่างกายสร้างขึ้นจากสารพิวรีน ที่พบในอาหารบางชนิด เมื่อร่างกายกำจัดกรดยูริกได้ไม่หมด กรดยูริกจะตกตะกอนกลายเป็นผลึกสะสมตามข้อ จนเกิดเป็นอาการอักเสบ ปวด บวม แดง ร้อน โดยเฉพาะที่ข้อหัวแม่เท้า ซึ่งอาการโรคเกาต์มักจะกำเริบเป็น ๆ หาย ๆ และหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจส่งผลให้ข้อต่อเสียหายอย่างถาวรได้
ระยะอาการโรคเกาต์ที่ควรรู้
โรคเกาต์มีระยะอาการที่สำคัญ 3 ระยะด้วยกัน ซึ่งการรู้ข้อมูลเบื้องต้นเอาไว้ จะช่วยให้เข้าใจอาการและดูแลตนเองได้อย่างเหมาะสม
ระยะเฉียบพลัน
เป็นระยะที่มีอาการรุนแรงและเฉียบพลัน มักจะเกิดที่บริเวณข้อส่วนล่างของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นบริเวณนิ้วหัวแม่เท้าข้างใดข้างหนึ่ง หรือที่ตำแหน่งข้อเท้า โดยอาการปวดจะรุนแรงมากในช่วงกลางคืน ข้อที่ปวดจะบวม แดง ร้อน จนอาจส่งผลต่อการนอนหลับ ซึ่งอาการปวดเฉียบพลันมักจะหายไปเองภายใน 5-7 วัน แม้ไม่ได้รับการรักษา แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้ จะกลับมาเป็นซ้ำบ่อยขึ้น
ระยะช่วงพัก
เป็นระยะที่มักเกิดขึ้นหลังอาการเฉียบพลัน ซึ่งในระหว่างนี้จะไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ ทำให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ แม้ว่าจะไม่มีอาการ แต่ก็เป็นช่วงที่สำคัญในการรักษา เพราะเป็นโอกาสในการควบคุมระดับกรดยูริกในเลือด เพื่อป้องกันไม่ให้อาการกลับมาเป็นซ้ำ ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาที่ดีอาจมีโอกาสเกิดข้ออักเสบซ้ำภายใน 1-2 ปี
ระยะเรื้อรัง
เป็นระยะที่โรคเกาต์มีความรุนแรงมากขึ้น มักเกิดขึ้นหลังจากที่ผู้ป่วยเป็นโรคเกาต์มานานหลายปี ทำให้ข้อต่อถูกทำลายอย่างต่อเนื่อง จนเกิดการผิดรูปของข้อ ข้อแข็ง จึงเคลื่อนไหวได้น้อยลง นอกจากนี้ อาจพบปุ่มก้อนโตตามข้อ ซึ่งเกิดจากการสะสมของผลึกยูริก โดยตำแหน่งที่พบได้บ่อย คือปุ่มปลายนิ้ว เอ็นร้อยหวาย ปลายหู รวมถึงในหูชั้นกลาง หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม โรคเกาต์เรื้อรังอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้ เช่น ไตวาย นิ่วในไต หรือโรคหัวใจ
เป็นโรคเกาต์ ห้ามกินอะไร?
เนื่องจากโรคเกาต์เป็นภาวะกรดยูริกในเลือดสูง โดยกรดยูริกที่ว่านี้เป็นสารที่ร่างกายสร้างขึ้นจากการย่อยสลายสารพิวรีน ซึ่งเมื่อร่างกายมีกรดยูริกมากเกินไป จะทำให้เกิดผลึกสะสมตามข้อต่อ จนเกิดการอักเสบและปวด ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารพิวรีนสูง โดยมีตัวอย่างอาหารที่ควรงดและลด ดังนี้
อาหารที่ควรงด
ผู้ป่วยโรคเกาต์ควรงดอาหารที่มีสารพิวรีนมากกว่า 150 มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม เนื่องจากอาหารเหล่านี้จะส่งผลให้ระดับกรดยูริกในเลือดสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งการงดอาหารเหล่านี้จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอาการกำเริบของโรคเกาต์ อีกทั้งยังช่วยควบคุมระดับกรดยูริกในเลือดได้ดีขึ้น ตัวอย่างอาหารที่ควรงด ได้แก่
-
เครื่องในสัตว์ เช่น ตับ ไส้ หัวใจ
-
อาหารทะเลบางชนิด เช่น กุ้ง หอย ปลาซาร์ดีน
-
อาหารหมักดอง เช่น ยีสต์ เบียร์ ไวน์
-
อาหารแปรรูป เช่น ไส้กรอก แหนม ปลาเค็ม
อาหารที่ควรจำกัดปริมาณ
นอกจากอาหารที่ควรงด ยังมีอาหารที่ผู้ป่วยโรคเกาต์สามารถกินได้ แต่ควรจำกัดปริมาณ คือ อาหารที่มีพิวรีนอยู่ในช่วง 50-150 มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม ซึ่งไม่ควรกินบ่อยเกินไป เพื่อควบคุมปริมาณสารพิวรีนที่เข้าสู่ร่างกาย ตัวอย่างอาหารที่ควรลด ได้แก่
-
เนื้อสัตว์ เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อไก่
-
ถั่วและผลิตภัณฑ์จากถั่ว เช่น เต้าหู้ ถั่วลิสง
-
ปลาบางชนิด เช่น ปลากะพง ปลาแซลมอน ปลาทูน่า
การดูแลตัวเองเมื่อเป็นโรคเกาต์
โรคเกาต์เป็นโรคที่สามารถควบคุมได้ด้วยการดูแลตนเองที่ดี ซึ่งหนึ่งในวิธีที่สำคัญที่สุดคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิตประจำวัน ดังนี้
-
ดื่มน้ำให้มาก
การดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสมจะช่วยให้ไตทำงานได้ดีขึ้น ทำให้สามารถขับกรดยูริกออกจากร่างกายได้มากขึ้น โดยควรดื่มน้ำอย่างน้อย 8 แก้วต่อวัน หรือประมาณ 2 ลิตร เพื่อช่วยลดความเข้มข้นของกรดยูริกในเลือด ลดโอกาสการเกิดผลึกกรดยูริกที่ข้อต่อ ช่วยบรรเทาอาการปวด
-
งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะไปยับยั้งการทำงานของไตในการขับกรดยูริก ทำให้ระดับกรดยูริกในเลือดสูงขึ้น กระตุ้นให้เกิดอาการปวดข้อ อีกทั้งยังทำให้เกิดอาการของโรคเกาต์กำเริบได้บ่อยและรุนแรงขึ้น
-
งดอาหารที่มีกรดยูริกสูง
ดังที่กล่าวไปว่าอาหารที่มีกรดยูริกสูงจะไปเพิ่มปริมาณกรดยูริกในร่างกาย ทำให้เกิดการสะสมของผลึกกรดยูริกที่ข้อต่อ จึงควรควบคุมและหลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารพิวรีนสูง ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการสร้างกรดยูริก
-
ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
ผู้ที่เป็นโรคอ้วนจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเกาต์สูงกว่าคนปกติ เนื่องจากไขมันส่วนเกินจะไปเพิ่มการสร้างกรดยูริก จึงควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและควบคุมปริมาณแคลอรีให้เหมาะสม
ตอบคำถามคาใจ กินไก่เป็นเกาต์ไหม?
เนื้อไก่ จัดเป็นเนื้อสัตว์ที่มี สารพิวรีน ปานกลาง ไม่จัดอยู่ในกลุ่มอาหารต้องห้าม สำหรับผู้ป่วยโรคเกาต์ การกินไก่จึงไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคเกาต์อย่างที่เข้าใจกัน เพราะโรคเกาต์เกิดจากการสะสมของกรดยูริกในข้อต่อ ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ไม่ได้เกิดจากการกินไก่เพียงอย่างเดียว แต่การกินไก่ในปริมาณมากและบ่อยครั้งอาจส่งผลต่อผู้ที่เป็นโรคเกาต์ได้ โดยควรระมัดระวังในการเลือกกินให้ดี เพราะการปรุงอาหารด้วยวิธีที่แตกต่างก็อาจส่งผลต่อปริมาณพิวรีนได้ เช่น ไก่ย่างจะมีค่าเฉลี่ยกรดยูริกอยู่ที่ 115 มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม ซึ่งเป็นอาหารพิวรีนปริมาณกลาง แต่ไก่ต้ม หรืออกไก่ติดหนัง มีค่าเฉลี่ยกรดยูริกที่มากกว่า 150 มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม ซึ่งจัดเป็นอาหารพิวรีนสูง ดังนั้น จึงควรเลือกกินในปริมาณที่พอเหมาะและเลือกวิธีการปรุงอาหารที่เหมาะสม
โรคเกาต์สามารถรักษาให้หายได้ หากเข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ทั้งยังจะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจตามมา ดังนั้น ถ้าเริ่มมีอาการปวดข้อที่ผิดปกติ ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและทำการรักษาอย่างถูกต้อง สำหรับใครที่ต้องการเสริมความมั่นใจให้กับการใช้ชีวิต และต้องการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายเมื่อเกิดโรคที่ไม่คาดคิด เลือกทำประกันสุขภาพ จากพรูเด็นเชียล ประกันชีวิต ที่พร้อมให้ความคุ้มครองด้านการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง อุ่นใจกับค่ารักษาพยาบาลแสนแพงเมื่อเกิดปัญหาสุขภาพได้อย่างไร้กังวล ไม่ต้องสำรองจ่าย เมื่อเข้ารักษาในโรงพยาบาลในเครือข่ายกว่า 600 แห่งทั่วประเทศ เลือกแผนประกันที่ตรงกับความเสี่ยงได้เลย!
ข้อมูลอ้างอิง