เช็กลิสต์ 5 สัญญาณความเครียดสะสม ที่อาจทำให้ชาวเดอะแบกเป็นซึมเศร้า
ชีวิตที่ต้องแบกทั้งความรับผิดชอบในการดูแลครอบครัว ความเครียดจากการทำงาน และความกดดันที่ต้องบริหารการเงินภายในบ้านให้พอใช้ ความเครียดสะสมก่อตัวใหญ่ขึ้นจนหนักอึ้งเกินแบกไหว ทำให้มนุษย์ gen Y หลายคนก้าวเข้าสู่การเป็น “โรคซึมเศร้า” แบบที่บางทีก็ไม่ทันรู้ตัว แล้วจุดที่เราเป็นอยู่ล่ะ? แค่เพราะเครียดมากไป หรือกำลังเข้าใกล้โรคนี้กันแน่ ถ้าชาวเดอะแบกอยากหันหลังกลับได้ทันก่อนจะเป็นโรคซึมเศร้า นี่คือสัญญาณเตือนที่ไม่ควรมองข้ามเลย
เช็กให้ชัวร์! แบกหนักจนเครียด...หรือกำลังเสี่ยง “โรคซึมเศร้า” กันแน่?
- อารมณ์แปรปรวน รู้สึกหดหู่ ร้องไห้บ่อย โกรธหรือหงุดหงิดง่าย
- ไม่มีสมาธิ ความจำเริ่มแย่ลง หลงลืมง่ายขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานที่ลดลงด้วย
- รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง เบื่อหน่ายกับทุกสิ่ง
- ส่งผลกระทบต่อร่างกาย เช่น นอนหลับยาก หลับไม่สนิท อาจมีท้องผูก ปวดหัว ปวดเมื่อยตัวร่วมด้วย
- พฤติกรรมการกินเปลี่ยนไป รู้สึกเบื่ออาหาร น้ำหนักลดรวดเร็ว
หากอาการเหล่านี้เกิดขึ้นกับเดอะแบกในระยะเวลาสั้นๆ อาจเกิดจาก “ความเครียดที่สะสม” แต่เมื่อไหร่ที่อาการเหล่านี้เกิดขึ้นเรื้อรังต่อเนื่องนาน 2 สัปดาห์ และ เมื่อทำสิ่งที่ชอบ...ก็ไม่ได้รู้สึกดีขึ้น รู้สึกว่าตนเองไร้ค่า มองชีวิตที่ผ่านมาแล้วเห็นแต่ความผิดพลาด ความล้มเหลว เริ่มนำตัวออกห่างจากสังคม เก็บตัวมากขึ้น ไม่ค่อยพูดจากับใคร และมีความคิดอยากตาย หรือเกิดทำร้ายตนเองด้วยอารมณ์ชั่ววูบ นั่นเป็นสัญญาณบอกว่า ถึงเวลาที่เดอะแบกต้องหาผู้ช่วยในการปลดล็อกสุขภาพจิตใจ อย่าง การไปปรึกษาจิตแพทย์
ถึงยิ้มแย้มปกติ แต่รู้มั้ย...ยังมี “ภาวะซึมเศร้าซ่อนเร้น” ที่ชาวเดอะแบกควรระวัง!
แน่นอนว่า “โรคซึมเศร้า” ที่เราเข้าใจ คือ ภาวะที่อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย รู้สึกตนเองไม่มีคุณค่า แต่รู้หรือไม่ว่า มนุษย์วัยทำงานที่ยังคงยิ้มแย้ม พูดคุยและเข้าสังคมได้ปกติ แต่มีอาการทางกาย เช่น ปวดหัวบ่อยๆ ชอบปวดหลัง เจ็บหน้าอก หายใจไม่อิ่ม หรือมีปัญหาการนอน รวมไปถึงมีพฤติกรรม เช่น ชอบย้ำคิดย้ำทำ ทำงานหนักแบบหามรุ่งหามค่ำ นี่ก็เป็นอีกภัยเงียบที่น่ากลัว ที่เรียกว่า “ภาวะซึมเศร้าซ่อนเร้น” แม้จะยังสามารถรับผิดชอบการงานได้ แต่ประสิทธิภาพอาจไม่เต็มร้อย และหากปล่อยเรื้อรังนานๆ ไม่ได้รับการรักษาที่ตรงจุด ก็สามารถนำไปสู่การเป็นโรคซึมเศร้า และเสี่ยงต่อการคิดทำร้ายตนเองได้เหมือนกัน
อยากตรวจซึมเศร้า...เพื่อปลดล็อกได้ทันก่อนป่วย ต้องเตรียมตัวยังไงบ้าง
วิธีการตรวจประเมินว่าชาวเดอะแบกกำลังเสี่ยงโรคซึมเศร้าหรือไม่ จะแบ่งเป็น 2 วิธีหลักๆ คือ การตรวจประเมินจากการพูดคุยโดยจิตแพทย์ และการตรวจประเมินทางห้องปฏิบัติการ เพื่อเช็กปัจจัยอื่นๆ ที่อาจเป็นสาเหตุของอาการทางกาย และอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับภาวะซึมเศร้าที่เกิดขึ้น เช่น ตรวจระดับฮอร์โมน ระดับวิตามิน หรือผลข้างเคียงจากการใช้ยา ดังนั้น การจดเตรียมข้อมูลให้ครบถ้วนก่อนเข้ารับการตรวจซึมเศร้า จึงเป็นสิ่งสำคัญ
ไม่ว่าจะเป็น...
- ลักษณะอาการทั้งทางกายและอารมณ์ที่เป็น
- พฤติกรรมบางอย่างที่ผิดปกติจากเดิม รวมถึงพฤติกรรมการนอน(หากมี)
- ประวัติอาการป่วย(ทางกาย) รวมถึงประวัติการใช้ยา ทั้งที่เคยใช้และกำลังใช้อยู่
- ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต เช่น การกิน การออกกำลังกาย หรือการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ประวัติการเป็นโรคซึมเศร้าของคนในครอบครัว หรือเคยใช้ชีวิตร่วมกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า (หากมี)
- สถานการณ์ที่กำลังเผชิญ และเป็นสาเหตุของความเครียดสะสม เช่น ปัญหาการงาน การเงิน หรือปัญหาครอบครัว
ถึงจะเครียดแค่ไหน แต่ชีวิตก็ต้องไปต่อ! ชาว gen Y จึงควรมีแฮกชีวิต ที่ช่วยให้สามารถผ่านช่วงเวลาเหล่านี้ไปได้ ไม่ว่าจะเป็น การหากิจกรรมทำร่วมกับเพื่อนหรือครอบครัว ออกกำลังกายด้วยการวิ่งหรือคาร์ดิโอ หาคอร์สเรียนหรือเวิร์คชอปกิจกรรมที่สนใจ เพื่ออัพสกิลใหม่ๆ และช่วยให้ได้พบปะผู้คนมากขึ้น ก่อนที่ความเครียดนั้นจะพาคุณจมดิ่งอยู่ในโลกที่มืดสนิท ที่เรียกว่า “โรคซึมเศร้า” จนไม่อาจดึงตัวเองขึ้นมาอยู่บนโลกใบเดิมนี้ได้